CONTENT

“ชาติพันธุ์และป่าไม้” สิทธิที่ถูกละเลยของคนชายขอบ

เขามองคนม้งเป็นคนไม่ค่อยดี” หัวหน้าครอบครัวชาวม้งให้สัมภาษณ์ เล่าถึงคดีอาญาข้อหาความผิดต่อกฎหมายป่าไม้ของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ที่ครอบครัวได้ประสบมา

“การปลูกพืชผักทำกินในแบบของเรานั้น คุณพ่อเขาทำมาแต่ก่อนแล้ว เราจะปลูกข้าวกินทั้งปี หากมีโอกาสจะปลูกข้าวโพด เพื่อนำมาขายตามตลาด หาเงินมาเลี้ยงครอบครัว พอที่ทำกินมีไม่พอ เราจึงต้องไปขอเช่าบ้าง จนเกิดคดีความขึ้น” หัวหน้าครอบครัวชาวม้งกล่าว

“มีคนมาถามว่า เราเป็นคนไม่มีที่ทำกินใช่ไหม ที่อื่นๆ จะให้เช่าทำกินประมาณ 10,000 บาทต่อปี ส่วนตรงนี้เขาบอกว่าจะให้เราทำกินฟรี แต่ต้องแลกกับการดูแลให้เรียบร้อย เราจึงเข้าไปดายหญ้า แล้วปลูกข้าวเพื่อทำกินใน ก่อนที่จะถูกจับกุม” ภรรยาครอบครัวชาวม้งกล่าวเสริม

ระบบกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาสมัยใหม่ ต่างยอมรับในหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ซึ่งมีหลักการทั่วไปที่ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายและผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ซึ่งให้ความเป็นธรรมด้วยการสร้างระบบที่เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะหลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย ที่ระบบกฎหมายรับรองว่าทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ปราศจากการเลือกปฏิบัติซึ่งมีเหตุมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์

การพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมนั้น ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าทุกคนจะได้รับความเป็นธรรม

“เช้าวันหนึ่ง เราเข้าไปทำมาหากินตามปกติ ไปดายหญ้า จนถึงเวลาประมาณ 11 โมง เราได้เจอกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้หลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบและเข้าจับกุม ตอนนั้นเขาถามว่าเราตัดไม้หรือเปล่า เราปฏิเสธเพราะเราไม่ได้ตัด และอธิบายให้เจ้าหน้าที่ฟังว่าเราขอเขาเข้ามาทำกินเฉยๆ จากนั้นเขาพาไปตรวจสอบรังวัดพื้นที่ทำกิน” หัวหน้าครอบครัวเล่าถึงช่วงที่ถูกจับกุมพร้อมครอบครัว

ที่จริงวัดหมดแล้วมี 3 ไร่ แต่เขาพิมพ์เอกสารออกมาระบุ 9 ไร่

หัวหน้าครอบครัวชาวม้งกล่าว ก่อนจะเสริมว่า “เขาให้เรารับเพื่อที่หนักจะได้เป็นเบา เรื่องเอกสารเราเองก็ไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด ในท้ายที่สุดพวกเราก็ต้องเซ็นรับ และมีคำสั่งศาลตัดสินให้จำคุก

ศาลตัดสินให้ครอบครัวชาวม้งทั้ง 3 คน ต้องโทษจำคุก 1 ปี

ความไม่เป็นธรรมนี้ ผลักดันให้นักวิจัยและทนายความอิสระ เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล พยายามศึกษาคำอธิบายในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และหวังลึกๆ ว่างานที่ตนเองกำลังศึกษานั้น อาจเป็นส่วนหนึ่งให้สังคมได้เข้าใจต่อกลุ่มคนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงที่ต้องโทษในคดีป่าไม้ เพื่อให้เห็นปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิทางกฎหมาย  ตลอดไปจนถึงการอธิบายในสิ่งที่สังคมไทยมักเข้าใจว่า ชาวเขาเป็นต้นเหตุของการตัดไม้ทำลายป่า

“การที่เราจะตั้งหลักต่อสู้กับคดีบุกรุกพื้นที่ป่าไม้แบบนี้ แม้ว่าเราจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า เราไม่ได้มีเจตนาจะบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ในคำพิพากษา ก็จะพิพากษาไว้ว่ามีความผิดอยู่ดี หากจะพูดถึงภาพรวมของสิ่งที่ได้คนพบจากงานวิจัยนี้แล้วจะพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ซึ่งมี 9-10 เผ่าอาศัยและทำมาหากินอยู่บนนั้น จะเผชิญปัญหาลักษณะเดียวกัน คล้ายกับเคสของครอบครัวตัวอย่างที่เราสัมภาษณ์นี้” นักวิจัยและทนายความอิสระ เลาฟั้ง บัณฑิตสเทอดสกุล กล่าว

“ภาพรวมของสิ่งที่ได้คนพบจากงานวิจัยนี้แล้วจะพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ซึ่งมี 9-10 เผ่าอาศัยและทำมาหากินอยู่บนนั้น จะเผชิญปัญหาลักษณะเดียวกัน คล้ายกับเคสของครอบครัวตัวอย่างที่เราสัมภาษณ์นี้” นักวิจัยและทนายความอิสระ เลาฟั้ง บัณฑิตสเทอดสกุล กล่าว

งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาโดยใช้แนวทางการวิเคราะห์ของทฤษฎีชาติพันธุ์แนววิพากษ์ มาปรับใช้เพื่อวิพากษ์ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ที่ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อกฎหมายป่าไม้ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะปัญหาการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง

ทฤษฎีชาติพันธุ์แนววิพากษ์ เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน

ความไม่เป็นธรรมต่อคนผิวสี เป็นแนวความคิดที่เกิดจากการที่นักวิชาการพยายามค้นหาว่า ทำไมในเมื่อระบบกฎหมายของอเมริกาบัญญัติรับรองและคุ้มครองให้คนผิวดำมีสิทธิ เสรีภาพและสถานะเท่าเทียมกับคนผิวขาวแล้ว แต่คนผิวดำยังคงถูกเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานความแตกต่างทางสีผิวอยู่อีก โดยนักวิชาการได้ทาการศึกษาและวิพากษ์ลงลึกถึงพื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการที่กฎหมายใช้สร้างความรู้เกี่ยวกับเชื้อชาติและสีผิว

“หลักการใหญ่ๆ ของทฤษฎีชาติพันธุ์แนววิพากษ์ก็คือ คนผิวสีในอเมริกาถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่ากับคนผิวขาว ได้มีการอธิบายหลักการใหญ่ๆ เอาไว้ว่า ผิวสีหรือว่าความเป็นชาติพันธุ์นี้ไม่ได้มีความแตกต่างกันโดยชีววิทยา ความแตกต่างนี้ได้ถูกใส่เข้ามาภายหลัง ซึ่งเราเรียกว่าการประกอบสร้าง” นักวิจัยกล่าว

“สิ่งที่ประกอบสร้าง ใส่เข้าไปมักจะเป็นภาพลบ ในการที่เรานำทฤษฎีนี้มาใช้ในการอธิบายต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในงานวิจัยที่เราได้ทำนั้น เราจะอธิบายในประเด็นหลักๆ เช่น ความไม่รู้ภาษาของคนชาติพันธุ์ และการเข้าไม่ถึงสิทธิทางกฎหมายของคนชาติพันธุ์” เลาฟั้ง กล่าว

แม้ว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญา เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ในขณะเดียวกันก็เป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกกล่าวหา ดังนั้น กระบวนพิจารณาคดีต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ระบบกฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาคดีและวิธีการค้นหาความจริงมาสู่ศาล จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่มีความเป็นธรรม ตามหลักสากลที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยอมรับ คือ “หลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม”

กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นการกระทำที่บังคับต่อสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงทรัพย์สินของผู้ที่ถูกกล่าวหา ถึงแม้ว่ายังไม่มีคำพิพากษาศาลว่าเป็นผู้กระทำความผิดก็ตาม เช่น เมื่อผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกฎหมายอาญา อาจถูกจับกุม คุมขัง อายัดทรัพย์ ถูกสอบสวน ซึ่งนับเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลานานจนกว่าศาลจะมีคาพิพากษา

ซึ่งในทางข้อเท็จจริงมีบ่อยครั้งที่ศาลมีคาพิพากษายกฟ้องและปล่อยตัวจำเลยไป ในกรณีเช่นนี้จะทำให้ผู้ที่บริสุทธิ์หรือกระทาความผิดเล็กน้อยแต่ถูกกล่าวหา ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างมาก มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหาจึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อรักษาความเป็นธรรมตามหลักสากล และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลในฐานะที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย

คนชาติพันธุ์ที่ถูกดำเนินคดีป่าไม้ เข้าถึงสิทธิทางกฎหมายได้ยากลำบาก

เขาไม่รู้ภาษา หรือต่อให้รู้ภาษาไทย เขาก็ไม่เข้าใจภาษากฎหมายอยู่ดี

“เขาไม่รู้ภาษา หรือต่อให้รู้ภาษาไทย เขาก็ไม่เข้าใจภาษากฎหมายอยู่ดี การประกันตัวเองก็เป็นปัญหาต่อกลุ่มชาติพันธุ์เช่นกัน ส่วนใหญ่กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงนั้น มาตรฐานทั่วไปเลยก็คือ หากมีคดีความลักษณะนี้จะต้องชำระค่าประกันตัวครั้งละประมาณ 200,000 บาท การที่จะหาเงินจำนวนนี้มาประกันตัวจึงเป็นเรื่องที่ยาก” เลาฟั้ง กล่าว

“การหาพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่สอบสวนนั้น เขาจะมีหน้าที่ในการค้นหาหลักฐานอยู่ 2 อย่าง ในส่วนแรกจะเป็นการสืบค้นหาพยานหลักฐานของฝ่ายรัฐ ในส่วนที่ 2 นั้นจะเป็นการหาพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลย ในกระบวนการพิจารณานั้น จะยกหลักฐานของทั้ง 2 ฝั่งมาทำการพิจารณา ก่อนที่จะลงความเห็นว่าควรสั่งฟ้องต่อไปหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เขาจะรวบรวมพยานหลักฐานเฉพาะฝั่งของรัฐ ส่วนฝั่งของฝ่ายจำเลยมักจะนำมาเฉพาะพยานหลักฐานที่เป็นโทษ” เลาฟั้ง กล่าว

จากการศึกษาพบว่า เกือบทุกคดีมีความเห็นให้สั่งฟ้องเกือบทั้งหมด

“จริงอยู่ว่า พนักงานอัยการมีหน้าที่ในการกลั่นกรองคดี ซึ่งเราเข้าใจว่าเขามีหน้าที่รับผิดชอบในมุมของเขา มีโอกาสที่เขาจะไม่ได้เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาทำการตรวจสอบเสียก่อน ทำให้การลงความเห็นส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งฟ้องเกือบทั้งหมด ในบางครั้งนั้น แม้แต่ดคีที่พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง อัยการก็สั่งฟ้อง เรื่องราวนี้มีส่วนหนึ่งที่น่าจะเป็นปัญหามาก คือ การรับสารภาพ หรือ การปฏิเสธ หากรับสารภาพจะหมายความว่าคุณได้ยอมรับผิด แต่ถ้าหากปฏิเสธนั้นจะมีกระบวนการต่อสู่ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะสิ่งที่คุณจะต้องทำต่อจากนี้ ก็คือการต่อสู้คดี” นักวิจัยกล่าว

หลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม จึงเป็นหลักการทางกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองสิทธิในการพิจารณาคดีซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายผู้เสียหายและฝ่ายผู้ที่ถูกกล่าวหา โดยเฉพาะการคุ้มครองผู้ที่ถูกกล่าวหาให้มีโอกาสได้แสดงเหตุผล และหลักฐานเพื่อใช้โต้แย้งต่อข้อกล่าวหา ส่งผลให้การพิจารณาตัดสินคดีเป็นไปอย่างเป็นธรรมที่สุด แนวคิดของหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ระบบการพิจารณาคดีได้สร้างความเป็นธรรมแก่ฝ่ายผู้เสียหาย และฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาให้มากที่สุด

สังคมไทยประกอบสร้างวาทกรรม “ชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า”

เราก็ไม่ได้ตัด สิ่งที่ยังติดในใจก็คือ ทำไมเขาถึงจับกุมเราแล้วเขาไม่ไปตรวจสอบ เราเสียใจ แล้วเรามองว่า เขามักจะมองคนม้งด้วยภาพไม่ค่อยดี ถ้าหากตอนนั้นเราไม่ได้เซ็นรับสารภาพ เราคงไม่ต้องรับโทษแบบนี้

“สังคมไทยได้ประกอบสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมา ซึ่งสะท้อนความเป็นชาวเขาที่นำไปเชื่อมโยงกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่ามาเป็นระยะเวลานาน การทำให้สังคมได้เข้าใจ สิ่งที่ชาวม้งเป็นอยู่เป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำให้สังคมเข้าใจว่าวิถีชีวิตที่เป็นอยู่นั้นไม่ได้ทำลายป่าโดยธรรมชาติ สิ่งนี้จะไม่มีวันที่ใครจะมาทำความเข้าใจ ถ้าไม่ช่วยกันทำให้มันเกิดขึ้นในสังคม สิทธิและเสรีภาพไม่ใช่ว่าจะมีใครมาประเคนให้เรา สิ่งเหล่านี้ล้วนได้มาด้วยการต่อสู้” เลาฟั้ง กล่าว

“เรื่องราวต่างๆ ที่เราได้ศึกษาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกดำเนินคดีป่าไม้ ได้สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายก็เป็นยาสารพัดนึก หากเรามีระบบกฎหมายที่ดี สังคมก็จะดี จะทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการคุ้มครองสิทธิในแบบที่เขาควรจะได้รับ” เลาฟั้ง กล่าว

สนับสนุนการเล่าเรื่องโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ในคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้
เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล นักวิจัย และนักสิทธิชาติพันธุ์ม้ง