Similan Island

“เสน่ห์สิมิลัน” บนสมดุลการท่องเที่ยว

ปริมาณขยะในทะเลสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยว คนยิ่งมาก ยิ่งแย่งชิงทรัพยากร ท้ายสุดก็ไม่มีใครได้ประสบการณ์ดีๆ กลับไป แถมทิ้งขยะไว้เป็นที่ระลึกอีก

ถึงเวลาที่งานวิจัยจะช่วยบริหารจัดการ และจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อลดการทำลายสภาพแวดล้อม ผลักดันเป็นกฏหมายบังคับใช้และเป็นโมเดลที่สามารถนำไปปรับใช้กับอุทยานแห่งชาติแห่งอื่น ๆ ได้

อนาคตสิมิลัน บนสมดุลของการท่องเที่ยว

“อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน” ในอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา หมู่เกาะแสนสวยบนทะเลอันดามัน ขึ้นชื่อเรื่องน้ำทะเลที่ใสราวกระจก หาดทรายขาวสะอาด และเป็นแหล่งดำน้ำลึกที่สวยงาม ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

สิมิลันเป็นทะเลในฝันของทุกคน แต่จะเป็นแบบนี้ได้อีกไม่นาน หากมีจำนวนนักท่องเที่ยวชุกจนถึง 7,000 คนต่อวัน แล้วอย่างนี้สิมิลันจะรับไหวได้อย่างไร

ร่วมหาคำตอบกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย “อนาคตสิมิลัน บนความสมดุลของการท่องเที่ยว”

ดรรชนี เอมพันธุ์

อุทยานแห่งชาติทางทะเล – อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

“พื้นที่สิมิลันเขาประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล เรียกว่าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ด้วยความที่เป็นอุทยานแห่งชาติ ภารกิจของอุทยานแห่งชาติมี 3 ข้อด้วยกัน ที่สำคัญมากที่สุดคือ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพกับทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่อุทยาน ข้อที่ 2 เป็นข้อที่ทุกคนรู้กันดีคือ เรื่องของรองรับทางนันทนาการและการท่องเที่ยว ข้อที่ 3 เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งวิจัย”

สาเหตุที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยาน เพราะว่ามีระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทางทะเลที่โดดเด่น อย่างในทะเลพบพืชและสัตว์ที่หายาก มีปะการังที่สมบูรณ์ ถือว่าเป็นทรัพยากรใต้น้ำที่หายากและทรงคุณค่า ส่วนบนบกพบสัตว์ที่พบได้ยาก เช่น ค้างคาวแม่ไก่ ปูไก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันจึงมีความสำคัญทางด้านระบบนิเวศมาก

“ย้อนกลับไปในอดีตสมัยที่อาจารย์เป็นอาจารย์ใหม่ ๆ ก็ได้ไปทำงานที่สิมิลันเหมือนกัน สมัยนั้น สิมิลันยังคนรู้จักไม่ค่อยเยอะ หนทางก็ไม่ค่อยสะดวก นักท่องเที่ยวไปก็มีจำนวนน้อย ผลกระทบก็มีน้อยตาม แต่ว่าพอปัจจุบันเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น ติดอันดับ 1 ใน 10 ที่ดำน้ำลึกของโลกเลยแหละเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นพอมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น การบริหารจัดการก็จะเป็นแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว”

วัตถุประสงค์แรกของจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ เพราะว่าต้องการรักษาระบบนิเวศ และทรัพยากรเอาไว้ ขณะเดียวกันการจัดนันทนาการให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ เป็นเป้าหมายถัดๆ มา แต่ในระยะหลังจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงมากขึ้น จนกระทั่งตัวอุทยานรับไม่ไหว ส่งผลกระทบไปยังระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่

“การที่เรามาทำวิจัยที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเป็นเพราะเราต้องการอยากจะรักษาทรัพยากรในขณะเดียวกันเราก็อยากจะรักษาฐานเศรษฐกิจ สังคมที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวเอาไว้ให้ได้ด้วยเช่นกัน นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่อาจารย์เลือกมาทำที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และนี่เป็นโจทย์วิจัยที่ทางกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชสนใจ”

ปัญหาและการคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ปัญหาของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น และเดินรอยตามหาดมาหยา อุทยานแห่งชาตินพรัตน์ และหมู่เกาะพีพี แนวโน้มที่สามารถรุนแรงขึ้น ได้แก่ คุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศทางธรรมชาติ ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว

“ถ้าเราไม่เข้าไปจัดการอะไร มันจะเกิดผลกระทบรุนแรงขึ้นตามลำดับ อย่างแรกเลยคือความแออัดของนักท่องเที่ยว มีผลเกี่ยวกับเรื่องบำบัดน้ำเสียที่อยู่บนเกาะสิมิลัน และเกาะสี่ ซึ่งเป็นพื้นที่เกาะที่เราเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใช้ท่องเที่ยว ไปประกอบกิจกรรมได้ คราวนี้ระบบบำบัดที่มีอยู่เดิมรองรับได้ไม่เพียงพอกับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น อันนี้ก็จะเป็นประเด็นที่จะนำไปสู่เรื่องของผลกระทบคุณภาพของสิ่งแวดล้อม”

ไปจนถึงเรื่องการจัดการขยะ แม้จะได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเพื่อเอาขยะไปจัดการทั้งหมด แต่ยังมีขยะตกค้างลง ปัญหานี้ส่งผลระยะยาวเพราะขยะจะเปลี่ยนเป็นไมโคพลาสติกอยู่ในหาดทราย และหลุดไปสู่ระบบห่วงโซ่อาหาร รวมไปถึงเรื่องของหาดทรายที่อัดแน่นจากการถูกเหยียบย่ำของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แม้ธรรมชาติสามารถฟื้นฟูตัวเอง แต่ไม่เร็วเพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี การอัดแน่นของพื้นทรายจะทำให้สัตว์ที่มีวงจรชีวิตบริเวณหน้าดินไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เป็นการตัดวงจรชีวิตระยะสั้นที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ หรือหายไปจากพื้นที่สัตว์เคยอยู่อาศัย

“อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันมีภาระหน้าที่ในการจัดให้เกิดการท่องเที่ยวที่ดี สิ่งที่ตามมาที่เราเป็นห่วงคือคุณภาพของประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับ อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน พอนักท่องเที่ยวแออัดมากๆ ระบบการบริหารจัดการไม่สามารถรองรับได้ทัน ผลก็คือนักท่องเที่ยวก็จะไม่ประทับใจในการมาเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ”

เมื่อนักท่องเที่ยวมาเยอะ (Over tourism) แต่จำนวนเจ้าหน้าที่มีเท่าเดิม ระบบบริหารจัดการ และรูปแบบการให้บริการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไม่ทัน ผลกระทบที่ตามมา ในส่วนนักท่องเที่ยว คือการจัดการความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว และความพึงใจที่นักท่องเที่ยวควรได้รับจากการมาเยี่ยมชมในอุทยานแห่งชาติ ขณะเดียวกันในฝั่งเจ้าหน้าที่พวกเขาปรับตัวไม่ทัน และเกิดความเครียดในการจัดการปัญหา

“สองส่วนหลักๆ ที่มีผลต่ออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันโดยเฉพาะ คือเรื่องของตัวทรัพยากรเอง กับภารกิจในเรื่องของการจัดการของการท่องเที่ยว”

PAR: Participation Action Research

“ปัญหามันเกิดแล้วเรากำลังย้อนกลับไปแก้ไขปัญหา ซึ่งการแก้ไขปัญหาของเราต้องเกิดผลกระทบกับหลายฝ่าย จะทำยังไงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน เราก็เลยออกแบบงานวิจัยในลักษณะงานวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ที่เราเรียกว่าระบบ PAR: Participatory Action Research เราออกแบบงานวิจัยให้ภาคส่วนหรือว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามารับรู้เกี่ยวกับกระบวนการในการแก้ไขปัญหาโดยใช้งานวิจัย เป็นการตอบโจทย์ปัญหานั้นๆ แล้วก็เอางานวิจัยที่เรามุ่งให้เกิดการปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน ในการแก้ไขปัญหา”

“เราพยายามจะชี้ให้เห็นว่าเราจะต้องปรับในเรื่องการบริหารจัดการแล้ว และปรับตามขีดความสามารถในการรองรับของการท่องเที่ยวที่จะเป็นไปได้ในพื้นที่อุทยาน”

การแก้ปัญหาไม่สามารถเกิดจากตัวนักวิจัย หรือเจ้าหน้าที่อุทยานเท่านั้น แต่ควรเริ่มจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จุดสำคัญที่ทางทีมวิจัยพยายามชี้ให้ทุกฝ่ายเห็น คือการปรับรูปแบบบริหารจัดการที่เหมาะสม และขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเป็นไปได้ในพื้นที่อุทยาน

ประเด็นแรกจากเสียงสะท้อนของการพูดคุย คือ การกำหนดเส้นทางท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน รวมถึงกำหนดจำนวนคนที่เหมาะสมและกำหนดแผนบริหารจัดการ ประเด็นที่สอง การปรับปรุงระเบียบ ข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันซึ่งในส่วนนี้ทางกรมรับไป เพื่อตั้งคณะกรรมการทำการเปรียบเทียบ และประเด็นที่ที่ 3 คือเรื่องของกิจกรรมดำน้ำลึก ซึ่งต้องอาศัยบุคคที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะเพื่อปรับรูปแบบให้เหมาะสม ไม่รบกวนทรัพยากรธรรมชาติจนเกินไป

“เราต้องรับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเมื่อพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงแล้วจะต้องดีขึ้น บางภาคส่วนอาจจะได้รับผลกระทบบ้างในระยะสั้น แต่ว่าถ้าในระยะยาวแล้ว เราน่าจะได้รับประโยชน์กันทุกฝ่าย”

Similan Island

เสน่ห์สิมิลัน สร้างอัตลักษณ์ไปด้วยกัน

อัตลักษณ์แบรนด์ (Brand identity) คือการออกแบบลักษณะเฉพาะให้แบรนด์มีความโดดเด่น และทำให้ผู้คนจดจำแบรนด์ได้ในทันที่เห็น การกำหนดอัตลักษณ์แบรนด์อุทยานแห่งชาติสิมิลัน มาจากการมองของคนข้างในว่าอยากให้แบรนด์มีลักษณะอย่างไร เสมือนการสร้างวัฒนธรรมองค์กร

“เรามองเรื่องอัตลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เป็นลักษณะของพื้นที่ที่จะให้ความรื่นรมย์ และการบริการที่มีคุณภาพ และเน้นความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางทะเล เพราะฉะนั้นเหมือนกับเราจะยกระดับมาตรฐานเรื่องของการจัดการ เรื่องของการบริการการท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วมีความประทับใจ ได้รับความพึงพอใจกลับไป”

การมีอัตลักษณ์แบรนด์ที่ชัดเจน ส่งผลต่อแผนการดำเนินงานทั้ง 3 ระยะที่จะเกิดขึ้น แผนเร่งด่วนได้นำมาปรับใช้ทันที นั่นคือการประกาศกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว (CC: Carrying Capacity)  และระบบการจองตั๋วล่วงหน้า (e-ticket) ผ่านกระบวนการจัดสรรสิทธิ์ 3,000 โควตา แก่ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ด้วยหลักการทั่วถึงและเป็นธรรม และทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการเรื่องการปรับราคาแพ็คเกจการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม ตามอัตลักษณ์แบรนด์ที่ได้วางแผนไว้ให้นักท่องเที่ยวมีจำนวนที่เหมาะสม ได้รับประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจ และปลอดภัย

“สิ่งที่เราจะได้แน่ๆ คือ ได้สมดุลของการท่องเที่ยวกลับมา และเราจะได้ระบบบริหารจัดการใหม่ที่สอดรับกับการสร้างแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติทางทะเล”

แผนระยะสั้น ภายใน 1 ปี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จะต้องปรับปรุงระบบบริหารจัดการเชิงกายภาพ เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย สิ่งอำนวยความสะดวก ยกเลิกการพักค้าง ออกแบบท่าเทียบเรือลอยน้ำ สุดท้ายแผนระยะยาว 3 ปี มี 8 แผนงาน เช่น ปรับแผนบริหารจัดการในการอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การพัฒนาระบบสื่อความหมายหลายภาษา เพื่อปรับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันให้เป็นไปตามขีดความสามารถและอัตลักษณ์แบรนด์ที่กำหนด

“คนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงเท่าไร แต่ถ้าเราอดทนรอ เราคาดการณ์ไปในอนาคตว่าการท่องเที่ยวที่สิมิลันจะเกิดผลดีทั้งต่อเศรษฐกิจ คนที่อยู่ในพื้นที่ ผู้ประกอบการเอง เกิดประโยชน์ทางด้านสังคม กับชุมชนท้องถิ่น และที่สำคัญคือฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม ฐานทางด้านทรัพยากรยังคงอยู่ในระยะยาวให้เราได้อย่างยั่งยืน อันนี้เป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น”

ดรรชนี เอมพันธุ์

ท่องเที่ยวประทับใจ ราคาเหมาะสม

การสร้างอัตลักษณ์แบรนด์ “เสน่ห์สิมิลัน” เพื่อยกระดับให้สถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งนี้ มอบความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้ตามความคาดหวัง ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการจัดตั้งเป็นอุทยาน นั่นคือการรักษาสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศทางธรรมชาติให้คงอยู่ ในฐานะนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ต่างก็ชอบสถานที่ท่องเที่ยวที่สวย ราคาสบายกระเป๋า แต่จะดีกว่าไหม หากเราเปลี่ยนความคิดว่าถูกอาจไม่ดีเสมอไป เพราะผู้ประกอบการต้องตัดราคา ต้นทุนในการบริการก็จะน้อยลง ความปลอดภัยไม่ครอบคลุม และความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกตัดออกไปทันที

“ถ้านักท่องเที่ยวจะมีส่วนช่วยตรงนี้ ที่จะยกระดับมาตรฐานของการท่องเที่ยวของไทยเราให้ดีขึ้น อย่าคิดว่าการท่องเที่ยวถูกแล้วจะดีเสมอไป เอาให้พอสมควร เพราะว่าการตัดราคาทำให้ผู้ประกอบการต้องไปหาหนทางอื่น ซึ่งหนทางง่ายที่สุดคือไปเบียดเบียนทัรพยากร เราเชื่อว่าคนสมัยใหม่ คนในโลกยุคปัจจุบันเห็นค่า เห็นคุณค่าของทรัพยากรของระบบนิเวศของโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นอะไรที่เราไม่ควรจะไปเบียดเบียน เราพอจะจ่ายได้ก็ทำไปเถอะ แล้วประโยชน์นั้นก็จะกลับมาหาเราเอง ครูเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ”

มาร่วมกันยกระดับการท่องเที่ยวด้วยความรับผิดชอบของทุกคนในสังคม

อ้างอิงงานวิจัย

อนาคตสิมิลัน บนความสมดุลของการท่องเที่ยว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สนับสนุนการวิจัยโดย สกสว.

ผลิตโดย บริษัท บาบูนฮับ จำกัด ภายใต้การรับทุน “โครงการผลิตสื่อสารคดีดิจิตอลเพื่อสื่อสารงานวิจัย (ปีที่ 2)”

ข้อมูลเพิ่มเติมจากงานวิจัย​

งานวิจัยต้องการค้นหาคำตอบที่มุ่งเป้าไปสู่แนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ 

การศึกษาได้กำหนดอัตลักษณ์แบรนด์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน คือ “เสน่ห์สิมิลัน” (Enchanting Similan) ภายใต้แนวคิดกำกับแบรนด์ คือ

  1. ตัวตนของทรัพยากรที่ความโดดเด่น
  2. คุ้มครองรักษาทรัพยากรไว้ไม่ให้เสื่อมคลาย
  3. ระแวดระวังเอาใจใส่เป็นพิเศษ
  4. ใช้ประโยชน์จำกัดเฉพาะบุคคลคุณภาพที่พร้อมรับเงื่อนไขและการให้มูลค่าที่เหมาะสมกับคุณค่าของทรัพยากร
  5. ความสุขและความสงบ
  6. ความรื่นรมย์บนพื้นฐานความปลอดภัยอย่างยิ่ง การบริการที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผลการวิจัยด้านขีดความสามารถรองรับทางนันทนาการของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันพบว่า กิจกรรมเที่ยวชมธรรมชาติและดำน้ำตื้นควรสลับช่วงเวลาเพื่อลดความแออัด 

Baboonhub

Baboonhub

บริษัทผลิตสื่อที่มีพลังกระตือรือร้น สร้างสรรค์ผลงาน และเล่าเรื่องที่มีความเฉพาะทาง โดยเฉพาะการสื่อสารองค์ความรู้ของผู้คน องค์กร ชุมชน และโครงการ (วิจัย) ระดับประเทศ

Articles: 93