ความอ้วนความผอมในโลกสิ่งมีชีวิตช่างเต็มไปด้วยปริศนา! อยากจะบอกว่าแพนด้ายักษ์เป็นสัตว์ที่ “เลือกกิน” มากที่สุด
พวกมันมีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไปทั้งๆที่กินไผ่เป็นอาหารหลักซึ่งมีคุณค่าทางอาหารไม่มากนัก คำตอบอาจจะอยู่ในลำไส้ของแพนด้าและเหล่าจุลชีพขนาดจิ๋วที่เรียกว่า gut bacteria
นักวิจัยของจีนจากสถาบัน Chinese Academy of Science’ Institute of Zoology พบสิ่งที่น่าสนใจว่า จุลชีพในลำไส้ของแพนด้านั้นมีการเปลี่ยนแปลงประชากรอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงสำคัญของแต่ละฤดู
ช่วงที่หน่อไผ่กำลังงอกใหม่ๆอันอุดมไปด้วยโปรตีน จุลชีพในลำไส้จะส่งผลให้แพนด้ากินหน่อไผ่มากขึ้นเพื่อเพิ่มน้ำหนัก โดยจะมีแบคทีเรียชื่อ Clostridium Butyricum เพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้นในลำไส้ เพื่อเปลี่ยนโปรตีนไผ่ให้เป็นพลังงานไว้กักตุน
พอถึงช่วงแล้งที่ต้นไผ่โตหมดแล้ว แพนด้าจะมีกินแค่ใบไผ่ จุลชีพในลำไส้ก็จะยังคงรักษามวลน้ำหนักไว้ได้เพื่อรอให้ถึงช่วงหน่อไผ่งอกใหม่อีกครั้ง
นี่จึงเป็นการศึกษาระดับจุลินทรีย์มวลรวมของร่างกาย “ไมโครไบโอต้า” (microbiota) ร่วมกับลักษณะปรากฏของแพนด้าที่เป็นฟีโนไทป์ (phenotype) และอิทธิพลของฤดูที่มีผลต่อสิ่งมีชีวิต
แต่แพนด้าก็ไม่ได้เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่จุลชีพมีอิทธิพลต่อน้ำหนักที่เปลี่ยนไปแต่ละฤดู ลิงบางชนิดก็มีจุลินทรีย์ที่ทำให้มันกินใบพืชและผลไม้ได้ในช่วงหน้าร้อน แต่ในช่วงหน้าหนาวพวกมันก็จำเป็นต้องกินเปลือกไม้
ส่วนมนุษย์เองก็มีเผ่า Hadza ที่อาศัยในพื้นที่ประเทศแทนซาเนียที่ยังเป็นเผ่าที่ล่าสัตว์และเก็บของป่าอยู่ (hunter-gatherers) พวกเขามีจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ช่วยให้พวกเขากินของป่าที่ขึ้นอยู่กับแต่ช่วงฤดู
เราต่างมีประชากรตัวจิ๋วในลำไส้ที่แตกต่างกัน ก็ยิ่งทำให้น้ำหนักตัวและรูปร่างมีความหลากหลาย ขนาดแพนด้าที่กินแต่ไผ่ก็ยังอ้วนได้เลย