สรุปผลการวิจัย “โครงการศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง ตามแผนพัฒนาเมืองและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ”

การมีที่อยู่อาศัยคือสิทธิที่พึงมีของมนุษย์ เราทุกคนล้วนต้องการบ้าน และปรารถนาคุณภาพชีวิตที่ดี “บ้าน” จึงเกี่ยวข้องกับพวกเราตลอดเวลา การมีบ้านจึงเป็นสิทธิพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง ซึ่งได้รับการยอมรับไว้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25 กล่าวว่า “ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ดีของตนและครอบครัว”

แต่ทว่า ในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย มีผู้คนจำนวนค่อนข้างมากไม่มีบ้านที่อยู่อาศัยของตนเอง ต้องเช่าอาศัย หรือมีบ้านที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ประชาชนจำนวนไม่น้อยเป็นคนไร้บ้าน บวกกับท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ทรัพยากรที่ลดลง ความแออัดของผู้คนในเมืองใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การมีบ้านของมนุษย์นั้น กลายเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของศตวรรษที่ 21

01

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2560 ตอนที่เราจัดทำแผนแม่บทที่อยู่อาศัย พบว่ามีประชาชนกว่า 5.87 ล้านครัวเรือน ที่ยังไม่บ้านของตนเอง การเคหะแห่งชาติรับมาดูแล 2.27 ล้านหน่วย ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยภายในระยะเวลา 20 ปี ให้เป็นไปตามการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เนื่องจากเราเชื่อมโยงอยู่กับ SDGs ตัวที่ 11 ในเรื่องของการพัฒนาเมือง และพัฒนาชุมชนให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน

02

เมืองที่พัฒนาไปแล้ว พอผ่านระยะเวลาหนึ่งสัก 40 – 50 ปี จะเริ่มมีความเก่า เกิดความทรุดโทรมตามกาลเวลา เพราะฉะนั้นในเรื่องของการฟื้นฟูเมืองคือจะเป็นภารกิจหนึ่งของการเคหะแห่งชาติ

03

การสร้างบ้านให้คนอยู่อาศัยเราจะไม่สามารถยึดแบบเดิมได้ตลอดไป แต่เราต้องเปลี่ยนไปตามกระแสโลกเปลี่ยนตามเทรนด์ด้วย การสร้างที่อยู่อาศัย ต้องสำรวจความต้องการเป็นหลัก และก็ออกแบบตามความต้องการของผู้ที่จะอยู่อาศัย

04

จากการศึกษาค้นพบว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูเมือง ภายใต้กรอบแนวคิดการสร้างความสมดุลระหว่างแหล่งงานและที่อยู่อาศัย ได้แก่

  • เคหะห้วยขวาง
  • เคหะดินแดง
  • เคหะบ่อนไก่
  • บ้านพิบูลเวศม์
  • ชุมชนทุ่งมหาเมฆ
  • การพัฒนาและฟื้นฟูชุมชนยมราช และชุมชนโค้งรถไฟยมราช
  • การพัฒนาและฟื้นฟูชุมชนริมน้ำ และชุมชนหนาแน่น ชุมชนวัดเครือวัลย์ ชุมชนปรกอรุณ ชุมชนวัดหงส์รัตนาราม
  • ชุมชนซอยพิพัฒน์ 2
  • ชุมชนศรีเวียง
05

ในกระบวนการศึกษา เรามีการศึกษาศักยภาพในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ในเขตชั้นในเป็นหลัก ซึ่งจริง ๆ มีหลายพื้นที่ และบ่อนไก่เป็นหนึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพมาก เพราะเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ มีความหนาแน่นระดับหนึ่ง แต่ว่ายังสามารถให้มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

06

หลังจากการที่ลงไปดูในพื้นที่ ความพิเศษของเคหะชุมชนบ่อนไก่คือเขามีความเป็นชุมชนสูง คนที่อยู่อาศัยจะมีส่วนหนึ่งที่มาตั้งแต่รุ่นแรก ๆ และมีครอบครัวอยู่ที่นี่ เขาจะรู้จักกันค่อนข้างทุกคน ความเป็นชุมชนของเขาค่อนข้างเข้มแข็ง คนรู้จักกันและช่วยเหลือกัน รวมถึงเขามีกลไกในการจัดการพื้นที่ จัดการกิจกรรมของเขาเองทั้งเรื่องความปลอดภัย และความสะอาด

07

3 เป้าหมายหลักในการฟื้นฟูเคหะชุมชนบ่อนไก่ คือ

  • ต้องเพิ่มหน่วยที่อยู่อาศัย
  • คงความเป็นชุมชน และมีทางเลือกของที่อยู่อาศัยหลากหลาย
  • ส่งเสริมเศรษฐกิจเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งงาน

การพัฒนาของโลกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราจะพัฒนาไปทิศทางไหนให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีส่วนออกแบบชีวิตของตนเอง ทำให้สังคมเกิดการเกื้อหนุน และยกศักยภาพของผู้คน ไปพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่

แม้โครงการจะเป็นเพียงการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้เบื้องต้น แต่เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะช่วยให้คนบ่อนไก่มองเห็นบ้านของตนเองในอนาคตร่วมกัน

Baboonhub

Baboonhub

บริษัทผลิตสื่อที่มีพลังกระตือรือร้น สร้างสรรค์ผลงาน และเล่าเรื่องที่มีความเฉพาะทาง โดยเฉพาะการสื่อสารองค์ความรู้ของผู้คน องค์กร ชุมชน และโครงการ (วิจัย) ระดับประเทศ

Articles: 93