รถรางไฟฟ้าไทย อนาคตไกลแค่ไหน

รถรางไฟฟ้าไทย อนาคตไกลแค่ไหน

กว่า 50 ปีที่รถรางไฟฟ้าจากไป แล้วรถราง EV ใหม่มีอะไรที่ต่างกัน

จริง ๆ รถรางพลังไฟฟ้า หรือ Tram ไทย เรามีใช้เร็วไม่แพ้ใครในแถบเอเชียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 ที่พัฒนาจากรถรางพลังม้าจริง ๆ 8 ตัวเดินลาก เปลี่ยนมาเป็นระบบไฟฟ้า เชื่อมต่อระบบพลังงานเข้าตัวรถด้วย “แหนบรับไฟ” หรือ “แพนโทกราฟ” (Pantograph) เป็นเทคโนโลยีนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ขนส่งมวลชน เกิดรถราง EV พลังสะอาด เริ่มวิ่งไปมาบนถนนเจริญกรุง ที่คนไทยสมัยนั้นเรียกกันว่า “รถแตรม” คิดค่าบริการ 15 สตางค์ เป็นที่นิยมในการเดินทาง ถึงขั้นต้องขยับขยายเส้นทางสุดสูงถึง 11 สายเพื่อวิ่งได้รอบตัวเมือง

จุดเปลี่ยนของรถแตรมเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนมีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น หันไปพึ่งพารถยนต์เพราะคล่องตัวมากกว่า ความนิยมในรถรางจึงเสื่อมลง สัมปทานการเดินรถของเอกชน 11 สายก็ทะยอยหมดอายุในช่วง พ.ศ. 2493 ในจุดนั้นรถรางไฟฟ้ากลายเป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกีดขวางทางจราจร หรือหากมีเหตุให้ต้องซ่อมถนนก็เปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่นไม่ได้ แถมการดูแลรักษาก็ยากลำบาก ส่งผลให้รถรางไฟฟ้าไทยยุติการให้บริการในปี พ.ศ. 2511

ถึงรถราง EV จะหายไปจากไทย ยังฝากไว้แต่รางเก่า แต่ประเทศที่อื่น ๆ ยังเชื่อมั่นในรถรางอยู่ หลายประเทศมองเห็นศักยภาพของ Tram โดยเฉพาะจุดแข็งที่สุดของรถรางไฟฟ้า คือพลังงานสะอาด ไม่ปล่อยมลพิษในตัวเมืองและเขตชุมชน จึงเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ตอบโจทย์ในเรื่อง Climate Change มาตั้งแต่อดีต ทำให้ผู้คนยังคงใช้รถราง EV นี้เป็นตัวเลือกในการเดินทาง และต่อยอดด้วยเทคโนโลยีมาจนถึงปัจจุบัน เกิดเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนารถรางไฟฟ้า การพัฒนาระบบรถรางให้ขนส่งผู้โดยสารได้ตรงเวลา การเชื่อมต่อกับจุดขนส่งมวลชนหลัก และไอเดียที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการรถรางสามารถใช้งานได้สะดวก เกิดแพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่เช็คเส้นทางการเดินทางล่วงหน้าได้ แถมโปรโมทการท่องเที่ยวได้ด้วย เช่น จีน ญี่ปุ่น และสก๊อตแลนด์ อย่างเช่นรถรางไฟฟ้าของฮ่องกง HK Tramways ก็มีไอเดียน่าสนใจ เป็นแคมเปญที่ชวนให้ผู้คน และชุมชนรอบรถราง ย้อนความทรงจำไปในปี      พ.ศ. 2447 หวนกลับไปยังวัยหนุ่มสาว เดตแรก หรือแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ ที่ชวนให้คิดถึงในเส้นทางสัญจรหลักกันอีกครั้ง ด้วยแคมเปญที่ชื่อว่า “Ding Ding Diaries” แถมยังต่อยอดเป็นเส้นทางท่องเที่ยว ที่เชื้อเชิญนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัส และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแชร์ประสบการณ์

การกลับมาอีกครั้งของรถรางไฟฟ้าโดยคนไทย อย่างรถราง EV ฝีมือทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ร่วมกับ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ที่กว่าจะนำมาวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าได้ ต้องผ่านการวิจัยต้นแบบขบวนรถไฟฟ้ารางเบา และพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้อง แถมต้องร่วมมือกับหลายภาคส่วน จนทำให้ไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงได้เอง ความสำเร็จนี้ช่วยให้คนไทยมีเทคโนโลยีของเราเอง ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า หรือบริการซ่อมบำรุงรักษาเหมือนในอดีต

รถราง EV ฝีมือคนไทยจะให้ได้มากกว่าการเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เมื่อเชื่อมเส้นทางหลักสู่โอกาสเศรษฐกิจได้ เพราะเส้นทางสัญจรหลักมักมีของดีซ่อนอยู่เสมอ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ชุมชน ย่านเมืองเก่า แม้กระทั่งจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งอื่น ๆ ก็ช่วยเติมเหตุผลให้ผู้คนหันมามองระบบขนส่งมวลชนทางเลือกอีกครั้ง ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่รอบรางรถไฟ ให้ตอบโจทย์การออกแบบเมืองสมัยใหม่ที่เข้าอกเข้าใจผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น

นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านรถราง EV คนไทย ที่ขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในตลาดผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถราง EV เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมใหม่ แถมส่งต่อความรู้ด้านเทคโนโลยีให้คนไทยรุ่นต่อไปได้อีกไกล การกลับมาในครั้งนี้ของรถรางไฟฟ้า จึงมาพร้อมกับโอกาสที่ซ่อนอยู่ในรางรถไฟบนผิวถนน ให้ผู้คนคนหวนมองรถราง EV ที่จะกลับมาใช้ใหม่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ศักยภาพใหม่ในรถรางอาจเชื่อมเส้นทางสู่ความทรงจำของผู้คนได้ด้วย

Baboonhub

Baboonhub

บริษัทผลิตสื่อที่มีพลังกระตือรือร้น สร้างสรรค์ผลงาน และเล่าเรื่องที่มีความเฉพาะทาง โดยเฉพาะการสื่อสารองค์ความรู้ของผู้คน องค์กร ชุมชน และโครงการ (วิจัย) ระดับประเทศ

Articles: 93