Interview

คัดมาเน้น ๆ 5 คำถามสำคัญที่ห้ามพลาด เมื่อต้องลงพื้นที่สัมภาษณ์นักวิจัย

การตั้งกรอบคำถามสัมภาษณ์ คือหัวใจสำคัญของงานสื่อสาร หากต้องการข้อมูลที่ครบถ้วน ตรงประเด็น ไม่หลุดกรอบ แถมยังได้อารมณ์ความรู้สึกของผู้ให้สัมภาษณ์ (เพื่อไม่ให้งานแข็งทื่อและไร้อารมณ์จนเกินไป) กรอบคำถามจึงต้องตรงประเด็น ฮุกใจความสำคัญของงาน และไม่ทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกอึดอัดและเกร็งจนตอบคำถามไม่ได้ โดยเฉพาะกับนักวิจัยผู้มีข้อมูลมากมายในหัวที่อยากเล่าให้เราฟัง

วันนี้ Baboonhub เลยเอา Tips การตั้งคำถามสัมภาษณ์จากการลงพื้นที่ถ่ายนักวิจัยของพวกเรามาฝากค่ะ

เริ่มคำถามแรกด้วย “อะไรคือแรงบันดาลใจในการศึกษา”

เพื่อลดความเกร็งของคู่สนทนา คำถามแรกจึงควรสบาย ๆ ชวนเขาย้อนไปถึง ‘สิ่งตั้งต้น’ ที่ทำให้เกิดการศึกษา ซึ่งความคาดหวังของคำตอบนี้ จะเป็นอารมณ์ความรู้สึกของผู้ให้สัมภาษณ์ที่อาจสร้างพลังให้งานได้ ตัวอย่างคำถามที่ใช้สัมภาษณ์

  • จุดเริ่มต้นของการศึกษา
  • อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ศึกษาเรื่องนี้
  • ทำไมถึงสนใจศึกษาประเด็นนี้
  • คิดว่าประเด็นนี้มีความน่าสนใจอย่างไร

ทั้งนี้ นอกจากเราจะถามตรง ๆ ว่า ‘อะไรคือแรงบันดาลใจ’ เรายังสามารถชวนคิดชวนคุยจากคำถามกว้าง ๆ โดยถามถึงสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อเชื่อมโยงกับสิ่งที่ต้องการรู้ และคาดหวังให้ผู้ให้สัมภาษณ์ตอบตามความคิดเห็นของตัวเอง เช่น หากงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง ‘ผู้สูงอายุ’ เราอาจจะเริ่มชวนคุยถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุในไทย ว่าตอนนี้กำลังอยู่จุดนั้น มีอะไรที่น่าจับตามองบ้าง และ ‘คิดว่า’ ประเด็นนี้จะส่งผล กระทบต่ออนาคตอย่างไร เพื่อให้ผู้ให้สัมภาษณ์มีเวลาได้จัดระเบียบและเรียบเรียงข้อมูลในหัว ก่อนตอบคำถามถัดไป

Interview

“ทำไมจึงศึกษาเรื่องนี้”

คำถามสำคัญที่นำไปสู่คำตอบของ ‘ที่มาและความสำคัญของงานวิจัย’ ว่าทำไมถึง ‘ต้อง’ มีการศึกษาประเด็นนี้ ประเด็นดังกล่าวสำคัญหรือส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคม และปูทางผู้ให้สัมภาษณ์ได้ตอบถึง ‘วัตถุประสงค์ของการศึกษา’ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่งานวิจัยได้วางไว้ 

คำถามนี้จะต่างจากคำถามเกี่ยวกับแรงบันดาลใจตรงที่ คำตอบที่คาดหวังคือ ‘หลักการและเหตุผล’ (ตามหลักวิชาการ) ที่ทำให้เกิดวิจัยชิ้นนี้ขึ้นมา ตัวอย่างคำถามที่ใช้สัมภาษณ์

  • ทำไมต้องศึกษาประเด็นนี้
  • วัตถุประสงค์ของการศึกษาคืออะไร
  • อะไรคือประเด็นสำคัญของการศึกษาครั้งนี้

“ความท้าทายในการศึกษาเรื่องนี้คืออะไร”

เพิ่ม Dynamic ของบทสัมภาษณ์ด้วยอุปสรรคหรือข้อท้าทายที่เกิดขึ้นระหว่างการศึกษา อาจจะเป็นอุปสรรคในช่วงการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล หรือจากกระบวนการศึกษาเพื่อหาคำตอบ ซึ่งอุปสรรคและข้อท้าทายเหล่านี้อาจนำไปสู่ข้อค้นพบใหม่ ๆ ที่นักวิจัยเองก็คาดไม่ถึง คำถามดังกล่าวจะทำให้งานสื่อสารของเรามี ‘จุดไคลแม็กซ์’ หรือจุดเข้มข้นของเรื่องราว เสริมความน่าสนใจและทำให้เรื่องไม่น่าเบื่อ ทั้งยังช่วยกระตุ้นผู้ให้สัมภาษณ์ระลึกถึงประสบการณ์ที่ตัวเองเคยประสบ เป็นการ Refresh ผู้ให้สัมภาษณ์จากคำถามง่วง ๆ ก่อนหน้าได้ ตัวอย่างคำถาม
 
  • พบข้อจำกัดอะไรบ้างระหว่างการลงพื้นที่ศึกษา
  • อะไรคือข้อควรระวังในการศึกษาประเด็นนี้
  • อุปสรรคระหว่างกระบวนการศึกษาคืออะไร
  • อะไรคือความท้าทายในการศึกษาประเด็นนี้
Interview

“ข้อค้นพบที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้”

อะไรคือผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษา? ไม่ว่าจะเป็นผลการวิจัย ข้ออภิปรายเพิ่มเติม หรือสิ่งที่ค้นพบนอกจากสมมติฐาน ทั้งหมดนี้คือผลลัพธ์ที่ถามถือว่าคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง! เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของงานวิจัยที่ไม่เล่าไม่ได้ ซึ่งงานวิจัยทุกชิ้นได้สร้างผลลัพธ์ วิธีการ หรือแนวทางปฏิบัติใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาเดิมให้ดีขึ้น ดังนั้น งานวิจัยแต่ละชิ้นจึงมีผลลัพธ์ที่ต่างกัน และเป็นสิ่งที่คนอยากรู้มากที่สุด ตัวอย่างคำถาม

  • การศึกษาครั้งนี้มีผลลัพธ์อย่างไร
  • มีข้อค้นพบอะไรที่น่าสนใจบ้างจากการศึกษาครั้งนี้
  • ผลลัพธ์ที่คาดหวังให้เกิดขึ้นต่อไป หลังจากการศึกษาครั้งนี้จบลง (กรณีที่อยู่ระหว่างการวิจัย)
Interview

“ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

ปิดท้ายด้วยคำถามที่ทำให้เกิด Call to action ในเชิงนโยบายต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอทางเลือกใหม่ หรือแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคม โดยคำถามนี้เราอาจแตกประเด็นออกไปอีกหนึ่งถึงสองคำถามว่า ใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ และใครเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ต่อไป เพื่อให้เห็นว่าการศึกษามีข้อเสนอแนะที่ครอบคลุมทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตัวอย่างคำถาม

  • บทบาทของหน่วยงานภาครัฐที่ต่อเรื่องนี้คืออะไรบ้าง
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำงานร่วมกันอย่างไร เพื่อผลักดันเรื่องนี้
  • ทำอย่างไรให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
  • งานวิจัยมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้างต่อประเด็นนี้
Interview
Kakanang Kharmtart

Kakanang Kharmtart

เด็กเอกไทยที่สนใจการจัดการองค์ความรู้ ผ่านงานสื่อสารในช่องทางที่หลากหลาย โดยเชื่อว่าการสื่อสารงานวิชาการเปรียบเสมือนปีกผีเสื้อเล็ก ๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม

Articles: 3