อัล-กุรอาน คือหัวใจหลักของชาวมุสลิม อย่างไรก็ตามการอ่านอัล-กุรอานมีความยาก ที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สูง จนอาจทำให้เด็กรุ่นใหม่เข้าถึงยาก
การสอนอ่านด้วยหลัก “กีรออาตี” เป็นการเรียนรู้แบบ Concept Learning ช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างเป็นระบบ ทำให้อ่านอัล-กุรอานได้เพียงในเวลาไม่กี่ปี
กีรออาตี เครื่องมือการเรียนอัล-กุรอานด้วยหัวใจ
เมื่อภาษาเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ การฝึกฝนเพื่อเริ่มต้นภาษาใหม่จึงนับเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย โดยเฉพาะชาวมุสลิมนั้น การฝึกฝนภาษาเพื่อให้เข้าใจหลักคำสอนของอัล-กุรอาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญในศาสนาอิสลามนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับหนึ่งในการใช้ชีวิตของชาวมุสลิม การเรียนภาษาเพื่อให้สามารถอ่านอัล-กุรอานได้ จะเป็นประโยชน์ในแนวทางการใช้ชีวิตตามหลักศาสนาต่อไป
ปัญหาในการเรียนภาษาเพื่อการอ่านอัล-กุรอาน โดยเฉพาะโรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกิดจากการเรียนรูปแบบบัฆดาดียะฮฺ (Baghdadiyah) ซึ่งเป็นรูปแบบที่เน้นท่องจำ และการสะกดคำเป็นหลัก ทำให้ผู้เรียนมักจะเรียนแล้วสับสน จนลืมพยัญชนะได้ ส่วนนี้จึงนับเป็นอุปสรรคสำคัญ และมีผลให้การเรียนรู้นั้นเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า สามารถกินเวลายาวนานได้มากกว่า 6 ปี หรืออาจนานกว่านั้น จึงจะอ่านอัลกุรอานได้จบตามหลักปฏิบัติ ดังนั้น เมื่อปัญหาคือการเรียนรู้ภาษา หลักการสอนแนวคิดใหม่อย่าง กีรออาตี (Qiraati) จึงมีบทบาทสำคัญที่จะเข้ามาคลายปมนี้
จากประสบการณ์ที่ได้ไปเยือนโรงเรียนสอนอัล-กุรอาน และภาษากาลามุลลอฮฺ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ได้พบว่าบรรยากาศในโรงเรียนมีความแตกต่างจากโรงเรียนทั่วๆ ไป ที่นักเรียนมักจะมีบทบาทหลักในเกือบทุกกิจกรรม เริ่มตั้งแต่การเข้าแถว และการประกอบพิธีทางศาสนกิจในตอนเช้า ที่นักเรียนเป็นช่วยกันดูแลให้เป็นระเบียบ โดยไม่มีเสียงตวาด ไม่มีการดุ และบังคับ ในขณะที่คณะอาจารย์ทำหน้าที่เพียงคอยดูแลความเรียบร้อยอยู่ห่าง ๆ เท่านั้น
นอกจากนี้ แนวการสอนแบบกีรออาตีนั้น ดีต่อนักเรียนทุกวัย และเป็นมิตรต่อผู้เริ่มหัดเรียนภาษา เป็นลักษณะการสอนแนว Concept Learning ที่จะช่วยให้ผู้เรียนที่ไม่รู้จักตัวหนังสือ ไม่รู้จักชื่อพยัญชนะ และชื่อสระ แต่นักเรียนเห็นคำหนึ่งคำ นักเรียนก็สามารถที่จะอ่านได้เลย ทำให้นักเรียนอ่านได้เร็วมาก และไม่สับสน ที่สำคัญคือช่วยลดภาระในการจำเสียงที่ไม่มีความหมายออกไปได้มาก เมื่อความน่าสนใจบีบให้ทีมงานได้ขอทดสอบเองโดยตรง แล้วก็ได้พบว่าการสอนนี้ สามารถทำให้อ่านภาษาอาหรับในแบบเรียนกีรออาตีได้ 2 หน้า ภายใน 5 นาที โดยที่ไม่มีความรู้ในภาษาอาหรับมาก่อนได้จริงๆ
โรงเรียนสอนอัล-กุรอาน และภาษากาลามุลลอฮฺ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ได้ก่อตั้งเมื่อปี 2542 โดย อาจารย์สุนทร ปิยะวสันต์ โดยเริ่มการจัดการเรียนการสอนในบ้านเช่า และได้ใช้การสอนทักษะเพื่อการอ่านอัล-กุรอาน โดยใช้ระบบกีรออาตี ที่ได้นำเข้ามาจากอินโดนีเซีย จนได้ผลรับที่น่าประทับใจ เพราะสามารถช่วยให้นักเรียนสามารถจบเล่มอัล-กุรอานได้ ก่อนจบประถมศึกษาปีที่ 6
“เราเริ่มเปิดสอนไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 หลังจากนั้น 8 ปี เราก็เปิดโรงเรียนอัลกุรอาน ภาษากาลามุลลอฮฺ เพราะเราอยากจะให้สังคม ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เราทำมาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว โรงเรียนจึงได้ทบทวน และคิดโจทย์เสมอว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สู่สาธารณชน จะทำอย่างไรเพื่อให้อ่านอัล-กุรอานได้อย่างรวดเร็ว เราจึงตัดสินใจทำเรื่องของงานวิจัย” กล่าวโดย คุณซัมซูติง เบ็ญสุหลง หัวหน้าโครงการวิจัย
เหล่าคณะวิจัยได้เห็นประโยชน์ในการเรียนการสอนฉบับใหม่ในเชิงประจักษ์ ที่ช่วยประหยัดเวลา และสร้างคุณภาพที่ดีให้กับการเรียนการสอนนี้ จึงได้ไอเดียปรับใช้การสอน กีรออาตี ไปควบคู่กับการปรับปรุงกระบวนการสอน เพื่อให้ประโยชน์สำหรับการเรียนรู้ของนักเรียนมากที่สุด โดยเริ่มต้นที่ตัวผู้สอนเอง ที่ร่วมช่วยกันสังเกตเยาวชนมากขึ้น
“เราก็มาศึกษาเจาะลึกเข้าไปว่า ปัญหาเยาวชนด้านการศึกษาอยู่ที่ตรงไหน จนได้เห็นว่า มีปัญหาเยอะมาก ตั้งแต่ครูผู้สอนที่ต่างก็ยอมรับตัวเองว่า เป็นตัวหลักของปัญหา (หัวเราะ) ขนาดครูผู้สอนยังไม่เข้าใจเลย แถมในระบบการเรียนการสอนแบบเก่า ก็สอนไปเรื่อยๆ ไม่มีการประเมิน ไม่มีการวัดผลอะไรเลย” คุณตูแวคอลีเย๊าะ กาแบ ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานอิสลามศึกษาและวัฒนธรรม
โรงเรียนได้ปรับกระบวนการสอนในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อนักเรียน และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนการสอนมากขึ้น มีการจัดกลุ่มการเรียนการสอนเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่อาจารย์สามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึงและใกล้ชิด ทำให้เด็กสามารถซักถามได้สะดวก และกระตุ้นให้อยากเรียนรู้มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องมีการบังคับเด็ก ซึ่งเป็นการช่วยเสริมให้การสอนด้วยระบบกีรออาตีนั้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปกติ
“ครูไม่ดุ และที่นี่จะอยู่แบบครอบครัว ครูกับนักเรียนเหมือนพ่อ แม่ กับลูก เพราะคนที่เป็นครูไม่ใช่สอนให้อ่านหนังสืออย่างเดียว แต่จะสอนทุกอย่างทุกมิติในความเป็นคน ต้องให้เด็กได้ทั้งหมดเลย ถ้าพูดตามหลักศึกษาศาสตร์ ก็ต้องสอนทั้ง Cognitive Domain, Effective Domain และ Psychomotor Domain ให้ครบ 3 ตัวนี้ จิตพิสัย พุทธิพิสัย และทักษะพิสัย” กล่าวโดย คุณสุนทร ปิยะวสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัล-กุรอาน และภาษากาลามุลลอฮฺ
การปรับการเรียนการสอน โดยไม่บีบบังคับเด็ก แต่ปรับวิธีคิดและกระบวนการสอนใหม่ ค่อยๆ เปลี่ยนงานวิจัย ให้เป็นการศึกษาแบบใกล้ชิด และได้ประโยชน์กับเด็กนักเรียนทุกกลุ่ม การวางตัวของผู้สอนที่มีความอบอุ่นสำหรับนักเรียน ก่อให้เกิดประโยชน์กับการสอนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เด็กนักเรียนกล้าที่จะซักถามผู้สอนได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ปิดกั้น ทำให้ผู้สอนสามารถรับรู้ได้ถึงปัญหาในการสอน หรือปัญหาของเด็กนักเรียน แล้ววางแผนแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
“ครูทั้งหมดเขาจะเรียก คอลี คอลา เหมือนกับเป็น ลุง ป้า หรือญาติของเด็กๆ ดังนั้นเด็กจะไม่รู้เลยว่าอาจารย์คือคนไหน แล้วก็ไม่แยกอาจารย์ตามวิชาที่สอน เหมือนที่เราสัมผัสจากโรงเรียนเอกชนว่า มีอาจารย์สามัญ มีอาจารย์ศาสนา แต่ที่นี่ไม่เป็นแบบนั้น ผู้สอนเป็นคอลี คอลา สำหรับเด็กหมดเลย แม้แต่คนกวาดขยะ เขาก็เรียกคอลี คอลา เขาจะให้เกียรติทั้งหมดเลย คนที่ขายของ คนที่ทำครัว คนที่ดูแลหอพัก ไม่เว้นแม้แต่นักการ 4-5 เพราะว่านักการที่นี่ ต้องสอนอัล-กุรอานได้ กลางวันเขาทำงานตามหน้าที่ ส่วนกลางคืนเขาก็เป็นครูสอนอยู่ที่นี่ บางทีเด็กก็จะเรียกผู้สอนว่าพ่อเช่นกัน” คุณซัมซูติง หัวหน้าโครงการกล่าว
การที่จะใช้ กีรออาตี มาผนวกกับการสอนที่มีประสิทธิผลนั้น เป็นโจทย์ยาก และท้าทายสำหรับโรงเรียนแห่งนี้ ทำให้การปรับตัวของคณะผู้สอนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้ ครูทุกคนที่ทำการสอนต้องเข้าใจโจทย์ในการพัฒนาเด็ก การเปลี่ยนแนวคิดในการสอน ต้องเข้าใจในกระบวนการสอน และปรับเข้าหาเด็กนักเรียนมากขึ้น เพราะทุกคนเห็นภาพใหญ่ที่ตรงกันว่า การบังคับแต่เด็กอย่างเดียว โดยที่ครูไม่เรียนรู้ในกระบวนการอย่างที่ควรจะเป็น จะไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น
“เราเห็นเรื่องครูเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเลย จากการเปลี่ยนแปลงทำให้เราได้เห็นอีกนิยามที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ เราได้เห็นสิ่งที่เขาพูดกันว่า โอบอ้อม อารี ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ความรักของครู่ที่รักลูกศิษย์ และต้องการที่จะให้ความรู้และสิ่งดีๆ ด้วยใจเป็นอย่างไร ในท้ายที่สุดเราได้เห็นความแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป คือ ความเคารพของนักเรียนที่มีต่อครู เราเห็นแล้วรู้สึกประทับใจนะ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่างานวิจัยทำให้บรรยากาศในโรงเรียนเปลี่ยนไปเยอะเลยค่ะ” กล่าวโดย คุณตูแวคอลีเย๊าะ ผู้ประสานงาน
จากโรงเรียนสอนศาสนา กลายมาเป็นศูนย์รวมจิตใจของเด็กที่สามารถแสวงหาความรู้ทั้งด้านภาษา และเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็ก ทำให้เด็กๆ ไม่รู้สึกว่าการมาเรียนเป็นเรื่องที่น่าอึดอัด แต่กลับกัน เด็กรู้สึกว่าโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานที่อยากจะมีเรียนมาศึกษาด้วยตัวเอง เพื่อได้เจอกับเพื่อน พี่ๆ น้องๆ และได้อ่านอัล-กุรอานจบตามแนวปฏิบัติทางศาสนาของตนเองได้รวดเร็ว และยิ่งนักเรียนสามารถที่จะอ่านอัล-กุรอานจบได้รวดเร็วมากเท่าไหร่ เด็กจะยิ่งภาคภูมิใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น
“สิ่งที่ผู้ปกครองต้องการ คือ สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ความรู้เพียงอย่างเดียว เขาต้องการสิ่งนี้มากกว่า นั่นคือความเป็นพี่น้อง เราบอกแล้วว่าพอมาอยู่กับเราปั๊บ เริ่มต้นคำแรกที่เราพูดกับผู้ปกครอง พูดกับนักเรียนที่เปรียบเสมือนลูกของเราว่า เรามาเป็นครอบครัวเดียวกันในรั้วของกาลามุลลอฮฺ เพราะฉะนั้นเวลามีอะไรก็ตาม นักเรียนทุกคนนั้นจะกล้าที่จะสอบถาม แม้กระทั่งเด็กอนุบาลก็กล้าที่จะเข้าหาครู แถมยิ่งรู้ว่าครูเป็นระดับผู้บริหาร เด็กก็ยิ่งกล้าที่จะเข้าใกล้ อันนี้ค่อนข้างผิดกับธรรมชาติโรงเรียนทั่วไป เด็กๆ จะเข้าหาผู้บริหารก่อน แล้วก็เข้าหาครู (หัวเราะ)” คุณซัมซูติง หัวหน้าโครงการกล่าว
น่าสนใจที่คุณครูมองเห็นประโยชน์จากการวิจัย แล้วกล้าที่จะเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนรูปแบบกระบวนการสอนใหม่ด้วยกีรออาตี เพื่อเสริมแรงให้นักเรียนประหยัดเวลาในการศึกษาอ่านอัล-กุรอาน จนกระทั่งอ่านจบเล่มได้อย่างมีคุณภาพ หัวใจของกระบวนการนี้ คือ งานวิจัยที่ใส่ความเป็นครูที่ต้องการจะช่วยเหลือสังคม และก่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันอันดีระหว่างครู กับลูกศิษย์ จนเห็นผลดีได้ในระยะสั้น เกิดภาพจำในรั้วโรงเรียนที่ดีสำหรับเด็ก ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเด็กมีคุณภาพที่อยู่ในร่องรอยของศาสนาให้แก่สังคม
อ้างอิงงานวิจัย
รูปแบบการสอนอ่านอัล-กุรอานโดยใช้ระบบกีรออาตี รูปแบบกาลามุลลอฮฺ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี
ซัมซูติง เบ็ญสุหลง หัวหน้าโครงการ และครู โรงเรียนอัล-กุรอาน และภาษากาลามุลลอฮฺ
ตูแวคอลีเย๊าะ กาแบ ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานวิจัยอิสลามศึกษาและวัฒนธรรม
สุนทร ปิยะวสันต์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนอัล-กุรอาน และภาษากาลามุลลอฮฺ
สนับสนุนการวิจัยโดย สกสว.
ผลิตโดย บริษัท บาบูนฮับ จำกัด ภายใต้การรับทุน “โครงการผลิตสื่อสารคดีดิจิตอลเพื่อสื่อสารงานวิจัย (ปีที่ 2)”
ที่มาของงานวิจัย
โครงการศึกษารูปแบบการสอนอ่านอัลกุรอานโดยใช้ระบบกีรออาตีรูปแบบกาลามุลลอฮฺ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี มีเป้าหมายของการศึกษาเน้นการถอดบทเรียนการจัดการเรียนการอ่านอัล-กุรอานระบบกีรออาตีของโรงเรียนสอนอัล-กุรอานกีรออาตียะหริ่ง พร้อมกับหาแนวทางพัฒนาบุคลากร การจัดทำแผนการสอน การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน และสร้างเครื่องมือประเมินผล และมีการทดลองพัฒนาระบบปฏิบัติการ
การวิจัยมีเป้าหมายหลัก ประกอบด้วยกลุ่มครูผู้สอนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผู้ก่อตั้ง ผู้บริหาร และคณะนักวิจัย ส่วนเป้าหมายรองคือ กลุ่มผู้ปกครองทั้งชายและหญิง กลุ่มนักเรียนที่เคยเรียนที่โรงเรียนและนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ปัจจุบัน ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษาโครงการ ผู้ให้การสนับสนุน รวมทั้งมีเครือข่ายโรงเรียนและศูนย์กีรออาตีเข้าร่วม ทำให้ได้ข้อมูลที่ต้องการได้อย่างครบถ้วน
วัตถุประสงค์ของงานวิจัย
- เพื่อศึกษาบทเรียนการสอนอ่านอัล-กุรอานระบบกีรออาตีของโรงเรียนสอนอัล-กุรอานกีรออาตียะหริ่ง
- เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาบุคลากร แผนการสอน สื่อการเรียนการสอน และเครื่องมือประเมินผล นำไปใช้ในการพัฒนารูปแบบการสอนอ่านอัลกุรอานโดยใช้ระบบกีรออาตีรูปแบบกาลามุลลอฮฺ
- เพื่อศึกษารูปแบบการสอนอ่านอัลกุรอานระบบกีรออาตีรูปแบบกาลามุลลอฮฺสำหรับเล่ม 1-2 เปรียบเทียบกับรูปแบบการสอนกีรออาตีที่เป็นอยู่ปัจจุบัน