ที่ ม.เชียงใหม่ มีอาคารเรียกว่า “หอพรรณไม้” ที่ดูเก่าแก่ลึกลับ น้อยคนจะแวะเวียนไป แต่ที่นี่เป็นขุมทรัพย์ของพรรณไม้นานาชนิดที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างละเอียดละออมากกว่า 4,000 ตัวอย่าง เก็บรักษาโดย นักพฤกษศาสตร์คนสำคัญของ ม.เชียงใหม่ James Franklin Maxwell
Maxwell ดูแลหอพรรณไม้นี้หลายปี มีความรู้ลึกซึ้ง ทำงานเกี่ยวกับอนุกรมวิธานพรรณไม้นานาชนิด จนอายุราว 70 ปี ก็ยังทำงานอยู่จนได้คลังความรู้พันธุ์ไม้สำคัญเมืองเหนือ
ในช่วงนาทีสุดท้าย (จากคำบอกเล่าของลูกศิษย์ใกล้ชิด) Maxwell ไปเก็บตัวอย่างพันธุ์พืชที่ จ.ระยอง ระหว่างก้มเก็บตัวอย่างดอกไม้ เขารู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก Maxwell ค่อยๆนั่งลงอย่างช้าๆ มองป่าไม้ที่อยู่ห้อมล้อม นักพฤกษศาสตร์ชราหายใจเฮือกสุดท้ายก่อนสิ้นลม ในขณะที่ยังกำดอกไม้ในมือ
นักพฤกษศาสตร์ ผู้ตายไปพร้อมกับหน้าที่ที่เขารัก
ผู้เป็นนักพฤกษศาสตร์จวบจนวินาทีสุดท้าย
คณะวิทยาศาสตร์ สาขาพฤกษศาสตร์ มช. นำรูปวาด James Franklin Maxwell มาตั้งไว้หน้าหอพรรณไม้ เพื่อทำความเคารพก่อนเข้าไปศึกษาตัวอย่างพืชที่ Maxwell เก็บรักษาไว้
เราเยี่ยมชม “หอพรรณไม้” ด้วยความเคารพและประทับใจมาก ทุกอย่างเก็บรักษาอย่างพอเพียง ไม่ได้หรูหราทุนเยอะ แต่เก็บอย่างตั้งอกตั้งใจ เราดูตัวอย่างพืชหลายชิ้นที่มีลายมือของ James Franklin Maxwell เขียนไว้อย่างปราณีต แม้จะเป็นดอกแห้ง อ่านแล้วขนลุก เขาบรรยายลักษณะพืช สถานที่ค้นพบ สีสัน เหมือนกับเราได้เห็นช่วงเวลาที่เขาเก็บดอกไม้นี่ครั้งแรก
ตอนนี้มี ดร.ธรวัฒน์ เชาวสกู เป็นผู้ดูแลหอพรรณไม้นี่ต่อคนเดียว ตามที่ Maxwell ได้สั่งเสียไว้เป็นลางก่อนเสียชีวิต เป็นหน้าที่ใหญ่หลวงที่ต้องรักษาองค์ความรู้นี้ไว้ไม่ให้สูญหาย มิเช่นนั้นเท่ากับความพยายามของ James Franklin Maxwell สูญเปล่า
คลาสสิคมาก เป็นการเดินทางมาเยือนที่คุ้มค่า และประทับใจมาก