ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่มีการหยุดยั้ง ความสะดวกสบายค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนความต้องการของผู้คนแทบทุกจะวินาที แม้แต่เรื่องอาหารการกินก็เช่นกัน ที่นอกจากจะต้องตอบสนองด้านรสชาติที่อร่อย ถูกปาก ยังต้องการประโยชน์และมาตรฐานที่เชื่อถือได้
ยิ่งแนวโน้มปัจจุบันที่ผู้คนทำงานออนไลน์กันมากขึ้น ยิ่งใช้ชีวิตเร่งด่วนมากขึ้นเท่าไหร่ อาจส่งผลให้ไม่มีเวลาสำหรับเตรียมอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วน การใช้ชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้น ปัญหาด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน ก็ค่อย ๆ ทำให้เกิดความต้องการด้านอาหารที่แตกต่างไปจากเดิมที่มีความต้องการซับซ้อนมากขึ้น ไม่ได้ต้องการเพียงแค่รสชาติ แต่ต้องการอาหารที่ตอบโจทย์ ถูกใจตามรสนิยม ความชอบ หรือแม้กระทั่งการแพ้อาหาร
นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ( Artificial Intelligence ) กำลังได้รับความสนใจในอุตสาหกรรมอาหารจากหลากหลายประเทศเช่น จีน ญี่ปุ่น และอเมริกา
เมื่อความฉลาดของ AI ที่ไปไกลกว่าอดีต ทำให้ปัจจุบัน AI สามารถควบคุม IoT (Internet of Things) หรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ จึงเกิดการปรับใช้ AI เพื่อลดต้นทุนในอุตสาหกรรมอาหารได้อีกขั้น เช่น การประยุกต์ใช้เซ็นเซอร์วิเคราะห์ความพร้อมของวัตถุดิบในโรงงานผลิต ทำหน้าที่ราวกับผู้เชี่ยวชาญคอยเฟ้นหาวัตถุดิบคุณภาพ ป้อนในไลน์การผลิตได้แม่นยำด้วย AI แบบไม่มีบ่นขอหยุดพัก นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ช่วยลดแรงงานในกระบวนการผลิต สามารถคัดแยกของดีได้อย่างรวดเร็ว
แนวโน้มของ AI ที่ปรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว แม้แนวคิดการแข่งขันแบบใหม่นี้ ก่อให้เกิดทีมพัฒนา AI ในอุตสาหกรรมอาหารใหม่ ๆ ที่เข้ามาช่วยเพิ่มความเร็วในการผลิตอย่างแม่นยำได้จริง แต่ก็ยังมีอุปสรรค์ทั้งความยุ่งยากและซับซ้อนที่จะต้องมีการศึกษาร่วมกันระหว่างนักลงทุน นักวิจัย และนักพัฒนา AI ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงและทดสอบระบบ
“อาหารอร่อย ดีต่อสุขภาพ ได้มาตรฐาน” อาจเริ่มต้นจากฝั่งผู้ผลิตที่แสวงหาวิธีใหม่ ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่มุ่งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตได้มากขึ้น แนวคิดเหล่านี้จะส่งผลดีในระยะยาวต่อผู้บริโภคในอนาคตอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากจะเพิ่มทางเลือกในอาหารปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ผลพลอยได้คืออาหารเพื่อสุขภาพหรืออาหารฟังก์ชั่นก็จะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ราคาไม่แพง ตอบโจทย์ความต้องการในวงกว้างมากขึ้น อาหารก็จะเป็นเรื่องที่อุ่นใจ มีความปลอดภัยตามฉบับมาตรฐานสากล