ดินแดนอียิปต์โบราณเป็นพื้นที่อันตรายและไม่ปราณีปราศรัยต่อมนุษย์สักเท่าไหร่ โรคระบาดทำให้ผู้คนล้มตาย ในขณะเดียวกันยังมีปรสิตก่อโรคที่อาศัยในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะ “แม่น้ำไนล์” แม่น้ำสายนี้ทั้งคร่าชีวิตและให้ชีวิตในคราเดียวกัน
อียิปต์จึงเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยแรงทะเยอทะยานของมนุษย์ที่จะมีชีวิต อุดมไปด้วยนวัตกรรม ในขณะเดียวกันก็เป็นดินแดนแห่งความตายที่น่าสะพรึงกลัว
หากกล่าวถึงการแพทย์ยุคโบราณ คนส่วนใหญ่มักนึกภาพการรักษาที่โหดร้ายทารุณ การรักษาขาดสุขอนามัยที่เส้นแบ่งระหว่างความเป็นและความตายห่างกันคืบเดียว อย่างไรก็ตามเอกสารเก่าแก่ชิ้นหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า คนโบราณก็มีแนวคิดการรักษาที่หลายกรณีอยู่บนฐานความคิดเดียวกันกับแพทย์สมัยใหม่ เอกสารนั้นคือ Ebers Papyrus ถือเป็นเอกสารล้ำค่าของมวลมนุษย์ เผยให้เห็นการรักษาของโลกเก่าที่มาบรรจบกับโลกใหม่
Eber Papyrus เป็นม้วนเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแพทย์มีอายุราว 3,500 ปี เขียนในกระดาษปาปิรุสที่ทำจากต้นกก
แต่มีทฤษฏีว่า น่าจะถูกคัดลอกจากเอกสารต้นฉบับที่เก่าแก่มากกว่านั้น Eber Papyrus แบ่งออกเป็นม้วนจำนวน 110 หน้า มีความยาวรวมกันประมาณ 20 เมตร ถือว่าเป็นเอกสารโบราณที่ถูกค้นพบได้ไม่นาน แต่เปลี่ยนมุมมองของนักประวัติศาสตร์ทั่วโลกต่อการมองวิถีการแพทย์ยุคโบราณ เอกสารสำคัญนี้ถูกครอบครองโดยนักอียิปต์วิทยาชาวเยอรมัน Georg Ebers ในปี ค.ศ. 1873 ก่อนที่จะอยู่ที่ Leipzig University ในเยอรมัน
เนื้อหาใน Eber Papyrus เขียนโดยแพทย์ชาวอียิปต์ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของกระบวนการรักษาและการวินิจฉัยโรคที่มีรายละเอียดลึกซึ้ง ตั้งแต่การรักษาภาวะอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ รวมไปถึงการแก้โรคซึมเศร้า บรรยายโรคและยารักษาที่มากถึง 700 โรค นอกจากนั้นยังมีอักขระปลุกเสกและคาถาไว้สะกดปีศาจชั่วร้ายที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ
ที่สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ เอกสารนี้อธิบายกลไกการทำงานและกายวิภาคของหัวใจได้ละเอียดและถูกต้อง โดยระบุ หัวใจคือจุดศูนย์กลางของระบบไหลเวียนโลหิต และสูบฉีดของเหลวไปยังอวัยวะต่าง ๆ กลไกการทำงานของหัวใจ และอธิบายภาวะหัวใจล้มเหลว รวมไปถึงเนื้อหาด้านกายวิภาคร่างกายมนุษย์ กระบวนการทำศพที่ค้นหาสมดุลของธรรมชาติและอวัยวะส่วนต่าง ๆ และบรรยายกระบวนการผ่าตัดในหลายลักษณะด้วย
ใน Eber Papyrus ยังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ระบุว่า เกิดโรคโปลิโอระบาด ไข้หวัดใหญ่ และโรคฝีดาษ คนอียิปต์ส่วนใหญ่เป็นโรคพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosomiasis) กันมาก เพราะการใช้ชีวิตใกล้แหล่งน้ำที่มีหอยทากน้ำจืดเป็นพาหะนำโรค
นี่อาจเป็นเพราะ ภาษาอียิปต์มีโครงสร้างทางไวยากรณ์ที่ลึกซึ้งซับซ้อน ทำให้การเขียนรายละเอียดทางการแพทย์ยังคงสามารถให้คนรุ่นหลังมาถอดรหัสได้