ชีวิตของมนุษย์อาจมีความหมายมากขึ้น หากเรารู้ว่าในแต่ละวัน เราสามารถมีที่พักพิงอันมั่นคง เป็นทั้งสถานที่พักผ่อนและให้ความรู้สึกปลอดภัย มนุษย์ทุกคนจึงต้องการ “บ้าน” การมีที่อยู่อาศัย คือสิทธิที่พึงมีของมนุษย์ เพราะเราทุกคนล้วนต้องการสถานที่ให้ความมั่นคง และสามารถมอบคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ทรัพยากรที่ลดลง ความแออัดของผู้คนในเมืองใหญ่ที่ทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การมีบ้านของมนุษย์ กลายเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของศตวรรษที่ 21
เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด ภายในเวลาเพียง 50 ปี “ชุมชนบ่อนไก่” ที่เคยเป็นชานเมืองในอดีต กลับกลายเป็นพื้นที่ไข่แดงที่ถูกห้อมล้อมด้วยความเป็นเมืองในทุกทิศทุกทาง อย่างไรก็ตามชุมชนบ่อนไก่ก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญของผู้คนที่เป็นแรงกำลังสำคัญหลักในการขับเคลื่อนสังคมตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน เพราะชุมชนนี้มีการเดินทางที่สะดวก ใกล้แหล่งงานในตัวเมือง มีสาธารณูปโภคที่ครบถ้วน และค่าใช้จ่ายไม่สูงมากในการอยู่อาศัย ทำให้ชุมชนบ่อนไก่ยึดโยงผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากในกรุงเทพฯ ชุมชนบ่อนไก่จึงเป็นอีกหนึ่งชุมชนศักยภาพสูง แต่มีความท้าทายสูงในการพัฒนาต่อยอดเช่นกัน
การเคหะแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง เพื่อให้ประชาชน และผู้มีรายได้น้อย มีที่อยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี มุ่งเน้นฟื้นฟูเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง
หัวใจสำคัญของการเคหะแห่งชาติ เราต้องการที่จะดูแลพี่น้องผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนกลุ่มเปราะบาง การฟื้นฟูหรือพัฒนา ต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน
ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและให้ความเท่าเทียมกับทุกคน เราต้องมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเขา
นพดล ว่องเวียงจันทร์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
ในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงทำให้การศึกษา “แนวทางและความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง ตามแผนพัฒนาเมืองและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ” โดยการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่มองอนาคตร่วมกัน
ที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญที่สุด ประเทศไทยมีผู้ที่ขาดที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก รัฐบาลมีนโยบายว่าต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เรื่องที่อยู่อาศัยต้องมี ทุกคนต้องมีที่อยู่อาศัย
ดุลมลชัย วิวัฒน์บวรวงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
การร่วมกันมองอนาคตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง แม้อาจจะใช้ระยะเวลามากขึ้นในกระบวนการพัฒนา แต่ความร่วมมือกันจากหลากหลายภาคส่วนที่ทำงานในพื้นที่นั้น ๆ จะสามารถสร้างความเข้าใจที่ตรงกันโดยที่ทุกคนได้แสดงความเห็นอย่างเท่าเทียม นี่เองที่จะเป็นกุญแจให้โครงการฟื้นฟูเมืองนี้ประสบความสำเร็จ สามารถรองรับผู้อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม
การฟื้นฟูเมืองจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในการพัฒนาเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองในอนาคต ทั้งปัญหาความซับซ้อนของเมือง ที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขอนามัย ความล้าสมัยของเทคโนโลยีก่อสร้าง ปัญหาการขนส่งมวลชน รวมถึงระบบสุขาภิบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เพียงพอ จนเกิดความแออัดที่เกินพอดี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นที่ชุมชนบ่อนไก่ และพร้อม ๆ กับชุมชนเมืองทั่วโลก
การที่จะพัฒนาและฟื้นฟูเมือง คือปรับปรุงให้ดีขึ้น ความคาดหวังในอนาคตคืออยากจะให้เป็นโครงการหนึ่งของโครงการเคหะแห่งชาติ ที่ฟื้นฟูเมืองได้ประสบความสำเร็จ
กุลจิรา สาคร ผู้อำนวยการกองฟื้นฟูเมืองและจัดรูปที่ดิน
เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด ภายในเวลาเพียง 50 ปี “ชุมชนบ่อนไก่” ที่เคยเป็นชานเมืองในอดีต กลับกลายเป็นพื้นที่ไข่แดงที่ถูกห้อมล้อมด้วยความเป็นเมืองในทุกทิศทุกทาง อย่างไรก็ตามชุมชนบ่อนไก่ก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญของผู้คนที่เป็นแรงกำลังสำคัญหลักในการขับเคลื่อนสังคมตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน เพราะชุมชนนี้มีการเดินทางที่สะดวก ใกล้แหล่งงานในเมือง มีสาธารณูปโภคที่ครบถ้วน และค่าใช้จ่ายไม่สูงมากในการอยู่อาศัย ทำให้ชุมชนบ่อนไก่ยึดโยงผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากในกรุงเทพฯ ชุมชนบ่อนไก่จึงเป็นอีกหนึ่งชุมชนศักยภาพสูง แต่มีความท้าทายสูงในการพัฒนาต่อยอดเช่นกัน
เรื่องพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันให้คนมีที่อยู่อาศัย โดยจุดมุ่งหมายสูงสุด คือให้มีที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย รองรับกลุ่มรายได้ทุกกลุ่มให้ได้
ผศ. ดร. สิงหนาท แสงสีหนาท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้อำนวยการศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง หรือ Urban Ally
โครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากชุมชนไม่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรง เพราะเสียงของผู้ที่อยู่อาศัยมีคุณค่าต่อการพัฒนา การศึกษานี้จึงต้องทำงานใกล้ชิดกับคนในชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและเมืองอย่างยั่งยืน เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ปัจจุบัน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยภายในชุมชนเมือง โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อทุกคนมีความมั่นคงในชีวิตของตัวเองก็จะสามารถทำหน้าที่ของตัวเอง ผลักดันให้เมืองสามารถเดินไปข้างหน้าได้
อาจารย์ ดร. พีรียา บุญชัยพฤกษ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และรองผู้อำนวยการศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง หรือ Urban Ally
การพัฒนาเมืองจำเป็นจะต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะเป็นการร่วมกันมองอนาคตของตัวเขาเองและลูกหลานเขาด้วย ระยะเวลาในการพัฒนาเมืองใช้เวลานาน ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมาก จึงต้องทำความเข้าใจกับคนหลากหลายรุ่นที่จะใช้พื้นที่นั้น ๆ
อาจารย์ปิยา ลิ้มปิติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนักวิจัยศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง หรือ Urban Ally
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในโครงการ ทีมวิจัยจึงได้ทำการศึกษากรณีตัวอย่างด้านการฟื้นฟูเมือง วิเคราะห์ปัญหาเชิงพื้นที่ของชุมชนเมืองในกรุงเทพฯ และคัดเลือกพื้นที่นำร่อง มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางการดำเนินโครงการร่วมกับองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะเมืองเป็นมิติทับซ้อนของคนหลาย ๆ คน การฟื้นฟูเมืองจึงต้องการภาพที่ยอมรับร่วมกันให้ได้มากที่สุด
โดยผลลัพธ์สำคัญจากการวิจัย ชุมชนจะได้รับทราบผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูเมือง เกิดฐานข้อมูลชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า เต็มศักยภาพ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเมืองและแผนการพัฒนาประเทศ
บ้านจึงไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างทางกายภาพ แต่ยังเต็มไปด้วยแรงปรารถนา ที่ทำให้แต่ละวันของมนุษย์มีความหมาย เมื่อการเดินทางของผู้คนในแต่ละวัน ทำให้เราจะรู้ว่าเราจะกลับไปที่ไหน เพื่อรอคอยวันต่อไปในอนาคต