ความก้าวหน้าของเมืองมักเป็นสิ่งดึงดูดผู้คนให้มีการย้ายถิ่นฐาน เพื่อให้สามารถเข้าถึงอรรถประโยชน์ ทั้งความต้องการเดินทางที่สะดวก มีแหล่งงานใกล้ที่อยู่อาศัย แหล่งบันเทิง และสถานที่หย่อนใจ ความต้องการของมนุษย์จึงอุดมไปด้วยหลากมิติที่ทับซ้อนกัน
เมื่อมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองจำนวนมากขึ้น ทำให้เมืองมีความหนาแน่น และบีบให้ต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นเป็นเงาตามตัว นี่จึงทำให้เมืองไม่อาจตอบสนองความต้องการของผู้คนได้ทั้งหมด ซ้ำยังกลายเป็นปัญหาความแออัดของที่พักอาศัยและสถานที่ทำงาน การเดินทางก็มีความหนาแน่นขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของจำนวนประชากร และอาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยด้วย
เมืองที่พัฒนาแล้ว จึงไม่ได้หมายความว่า เมืองนั้นจะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยหรืออุดมไปด้วยความเจริญทางวัตถุ แต่เมืองนั้นต้องให้ความสำคัญกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสำคัญ โดยประชาชนควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน นี่จึงก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเมืองและชุมชน รัฐมีการบริหารอย่างโปร่งใส ยุติธรรม และประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทุกขั้นตอน
การฟื้นฟูเมืองจะมีหลายรูปแบบ เนื่องจากสภาพเมืองเปลี่ยนจึงต้องมีการฟื้นฟูเมืองให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่ชำรุดทรุดโทรม เราต้องปรับปรุงให้มีความทันสมัยขึ้น เพื่อสอดรับการอยู่อาศัยของคนในปัจจุบัน
ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
ในการฟื้นฟูเมืองจะมีแนวคิดของการปรับปรุงพื้นที่ขนาดใหญ่ภายในเมือง ที่มีลักษณะทรุดโทรม หรือไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว ทำให้พื้นที่นั้นกลับมามีประโยชน์สามารถใช้งานได้ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการทางสังคม และจำนวนประชากรที่มีมากขึ้น ซึ่งการฟื้นฟูเมืองจะมีหลายรูปแบบเพราะสภาพของเมืองเปลี่ยน จึงต้องมีการฟื้นฟูเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับเมืองในปัจจุบัน
การฟื้นฟูเมืองเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต และทำให้พื้นที่นั้นมีความเจริญ การพัฒนาและปรับปรุง เพื่อทำให้พื้นที่ตรงนั้นใช้ศักยภาพได้เต็มที่
นพดล ว่องเวียงจันทร์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
เมื่อเมืองทรุดโทรม และใช้ศักยภาพได้ไม่เต็มที่ การเคหะแห่งชาติจึงเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูเมือง โดยเลือกชุมชนดินแดงเป็นโครงการนำร่องด้านการฟื้นฟูเมือง เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีความมั่นคง ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช้ที่ดินได้อย่างเต็มศักยภาพ และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต
ย้อนไปในอดีตของชุมชนดินแดง ถนนสายนี้สร้างด้วยดินลูกรังในสมัยจอมพล ป. พิบูลย์ สงคราม เมื่อมีรถวิ่งผ่านจึงมีฝุ่นสีแดง ๆ ตีตลบไปหมด คนในชุมชนใกล้เคียงจึงเรียกติดปากว่า “ดินแดง” พื้นที่ก็ไม่ค่อยน่าดูนัก และยังเป็นแหล่งทำลายขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลของจังหวัดพระนคร
ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 เป็นระยะแรกที่รัฐบาลจัดตั้งที่อยู่อาศัยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยก่อสร้างอาคารแบบไม้ จำนวน 1,088 หลังจนเต็มบริเวณพื้นที่ดินแดง ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2506-2517 กรมประชาสงเคราะห์ได้จัดสร้างอาคารแบบแฟลตให้เช่า เป็นอาคาร 5 ชั้น ใต้ถุนโล่ง จำนวน 64 หลัง 6,144 หน่วย จนกลายเป็น “แฟลตดินแดง” จากนั้นกรมประชาสงเคราะห์ได้โอนแฟลตดินแดง ให้ “การเคหะแห่งชาติ” ดูแลต่อ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “เคหะชุมชนดินแดง” จนถึงปัจจุบัน
ที่อยู่อาศัยเดิมของเราก็สร้างมานานแล้วกว่า 60 ปี มีปัญหามาก ทั้งฝุ่น ถังขยะกระจัดกระจาย หนูก็เยอะ สิ่งแวดล้อมตรงนั้นเริ่มไม่ดีแล้ว
บุญถึง อินทรทัต รองประธานรีไซเคิล เคหะชุมชนดินแดง
การรื้อย้ายปรับปรุงชุมชนให้มีคุณภาพชีวิต การอยู่อาศัยที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี สิ่งนี้เป็นภารกิจของการเคหะแห่งชาติ โดยเฉพาะชุมชนในเมือง
ดุลมลชัย วิวัฒน์บวรวงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
การเคหะแห่งชาติจึงไม่ต้องการให้ผู้อยู่อาศัยมีความเสี่ยงอีกต่อไป จึงได้ผลักดันให้เกิดโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงอย่างจริงจัง โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เป็นรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ของเมืองในภาพรวม ซึ่งต้องมีการศึกษาโครงการฟื้นฟูเมืองดินแดงเป็นโครงการแรก ๆ ของการเคหะแห่งชาติ โดยมีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เป็นการวิจัยที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์หาแนวความคิด และแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ ความเท่าเทียม และสร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้กับการตัดสินใจพัฒนาเมือง
อาคารสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 ปัจจุบันก็ร่วม 60 ปีแล้ว ดังนั้นสภาพอาคาร สภาพผนังของห้องยุ่ยมาก เมื่อลองใช้มือขูดก็จะเป็นรอยออกมา แสดงให้เห็นว่าอาคารถึงเวลาจะต้องฟื้นฟู ปรับปรุงแล้ว
ประภาส สัมมาชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง
เคหะชุมชนดินแดงมีอาคารแปลง G ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของความสำเร็จในการฟื้นฟูเมือง ที่ใช้เวลาหลายปีเพื่อสำรวจความต้องการของผู้อยู่อาศัยอย่างรอบด้าน และทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองได้ดีมากขึ้น โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง แบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 และ 2 ของโครงการ จะเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากแฟลตดินแดง และระยะที่ 3 และ 4 จะเป็นการพัฒนาทั้งผู้อยู่อาศัยเดิมและผู้อยู่อาศัยใหม่พร้อมกัน
การเคหะแห่งชาติ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยทุกคนให้มีความมั่นคง คุณภาพชีวิตที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดี และมาจากความต้องการของผู้อยู่อาศัย
สมฤดี ทองสมบูรณ์ อาสาสมัครสาธารณสุข ศูนย์สุขภาพชุมชนแปลง G
อาคารแปลง G ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนดินแดงมีความปลอดภัยในเรื่องของชีวิตและทรัพย์สิน อาคารมีความมั่นคง มีพื้นที่สีเขียวที่ให้ผู้อยู่อาศัยได้ร่วมกันดูแล ผู้สูงอายุ กลุ่มคนหลายช่วงวัยได้เข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมไปถึงการเดินทางไปยังสถานที่ทำงาน หรือไปจับจ่ายใช้สอยมีความสะดวกมากขึ้น
การเคหะแห่งชาติมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง เพื่อให้ประชาชน ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดี มุ่งเน้นฟื้นฟูเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่รองรับการเจริญเติบโตของเมือง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถพัฒนาคนในชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้
เมื่อเวลาผ่านไปเมืองจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและความต้องการของผู้คน การพัฒนาเมืองเป็นความท้าทายอย่างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจกันในการผลักดันที่จะฟื้นฟูเมือง เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยที่สามารถตอบโจทย์ให้กับทุกคนได้ และเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์อยู่ร่วมกับเมืองอย่างกลมกลืนมากยิ่งขึ้น