ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเจริญเติบโตของเมืองและชุมชนในประเทศไทยโดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาแบบ “รวมศูนย์กลาง” มาตั้งแต่อดีต เกิดการขยายตัวของประชากรแบบก้าวกระโดดจนกลายเป็นเมืองโตเดี่ยว และยังคงขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรูปแบบการพัฒนาเมืองที่ผ่านมานั้น มุ่งเน้นไปที่ “การขยายเมืองแนวราบ” ไปยังแผ่ขยายไปยังพื้นที่ชานเมือง (Suburbanization)
กรุงเทพฯ ขยายตัวแบบแผ่กระจายเป็นแนวราบมาตลอด ตั้งแต่สมัยก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ทุก ๆ ครั้งที่เราขยายตัวออกมานอกเมืองที่เป็นเมืองแนวราบ เรากลับใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญที่จะต้องมุ่งเน้นการพัฒนา คือต้องทำให้เขตชั้นในของกรุงเทพฯ (ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ชานเมืองมาก่อน) ให้กลายเป็นพื้นที่ศักยภาพ เข้าไปฟื้นฟู และสร้างความหนาแน่นเพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสให้คนเมืองมีที่อยู่อาศัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงหนาท แสงสีหนาท อาจารย์ประจำจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้อํานวยการศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง หรือ Urban Ally
สิ่งสำคัญที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกคือ Open Data ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเมืองล้วนสร้างชุดข้อมูล ทำให้เห็นพลวัตรที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่ข้อมูลเหล่านี้ต้องบริหารจัดการ และจัดเก็บอย่างเป็นระบบ นี่เองข้อมูลจึงกลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมใหม่ เป็นตัวแทนในการทำความเข้าใจสังคมอย่างร่วมสมัย เราจึงเรียกยุคนี้ว่า “ยุคแห่งการขับเคลื่อนและชี้นำด้วยข้อมูล (Datafication) และเศรษฐกิจจากข้อมูล (Information Economy)”
เราจำเป็นต้องเอาข้อมูลที่มีหน้าตาหลากหลายรูปแบบมาเปรียบเทียบกันได้ ก็คือต้องสร้างฐานในการวิเคราะห์แบบเดียวกัน Grid เป็นการวางตัวของ Units of Analysis ลงไปในพื้นที่ เพื่อที่จะให้เกิดการเปรียบเทียบเชิงพื้นที่ให้ง่ายขึ้น เนื่องจากข้อมูลมีทั้งแบบจุด แบบเส้น แบบอื่น ๆ หน่วยงานไหนที่ดูแลพื้นที่ตรงไหน สามารถทราบได้เลยว่า มีปัญหาอะไร ศักยภาพเป็นยังไง ควรจะชี้นำไปสู่แนวทางการพัฒนาเป็นแบบไหน
อาจารย์ ดร. พีรียา บุญชัยพฤกษ์ อาจารย์ประจำจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และรองผู้อํานวยการศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง หรือ Urban Ally
จากงานวิจัยมีข้อค้นพบที่โดดเด่น 3 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 ความสามารถในการเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก พบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการกระจายตัวของศูนย์การค้า ตลาด สถานศึกษา สวนสาธารณะ และสถานพยาบาลอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะตลาดและตลาดนัดมีการกระจายเข้าไปอยู่ในทุกชุมชน ส่วนศูนย์การค้า สถานศึกษา และสถานพยาบาลมีการกระจุกตัวมากในพื้นที่ชั้นใน
ขณะที่สวนสาธารณะ ลานกีฬา และพื้นที่สาธารณะ แม้จะกระจายอย่างทั่วถึงแต่มีระยะทางไกล ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินภายใน 15 นาที ฝั่งธนบุรีดูเหมือนมีพื้นที่เกษตรกรรมเยอะ แต่ไม่ใช่พื้นที่สีเขียวที่เราจะไปใช้พักผ่อนได้ เพราะเป็นที่เอกชนเจ้าของไม่ได้เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ
ประเด็นที่ 2 ความสามารถในการเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายถนน ข้อมูลทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงจำนวนบ้าน พบว่าเมืองมีการขยายตัวตามโครงข่ายรถไฟฟ้า 13 สาย แต่คนกรุงเทพฯ ไม่สามารถเดินเท้าถึงรถไฟฟ้าได้ภายใน 15 นาที เนื่องจากโครงข่ายของถนนไม่อำนวยความสะดวกเพียงพอ
ประเด็นที่ 3 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเมือง จากการวิจัยพบว่า การขยายตัวของเมืองเกี่ยวข้องกับโครงข่ายรถไฟฟ้า
ฝั่งธนบุรี อยู่ในย่านท่าพระ บางแค วุฒากาศ และบางหว้า
ฝั่งตะวันออก อยู่ในย่านพระโขนง อุดมสุข
ทิศเหนือ คือ สะพานควาย จตุจักร และบางเขน แต่กลับชะลอตัวลงในเขตกลางเมือง
มีการย้ายออกในพื้นที่เมืองเก่า เช่น พระนคร ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย และสัมพันธวงศ์
ส่วนพื้นที่กลางเมืองที่มีความน่าสนใจ เพราะมีการย้ายเข้าในอัตราร้อยละที่ดี ได้แก่ ย่านบางรัก สี่พระยา
และพื้นที่ใหม่น่าจับตามองคือ ย่านปิ่นเกล้า และจรัญสนิทวงศ์ ที่มีการเติบโตค่อนข้างดี
ข้อมูลตอนนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่พูดว่า Data is the new oil มีมูลค่าสูงมาก การที่เรามีข้อมูลรอบด้านจะทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น การตัดสินใจที่ไม่ได้เป็นลักษณะของ Objective กับ Subjective ตัดสินใจอยู่บนหลักการ ตัดสินใจอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้อง ก็ทำให้เราสร้างแนวคิด สร้างผลลัพธ์ที่ตอบและก็ตรงต่อสถานการณ์ได้ดีขึ้น
อาจารย์ ดร. พีรียา บุญชัยพฤกษ์
การอ่านข้อมูลเมืองโดยเปิดให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก นับเป็นก้าวที่สำคัญให้เกิดความสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนเมือง เมื่อข้อมูลมีความถูกต้อง รอบด้าน ทำให้การตัดสินใจอยู่บนหลักการ ช่วยให้เกิดความโปร่งใสในการทำงาน และเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น การศึกษานี้จะนำไปสู่การวางรากฐานของการฟื้นฟูพื้นที่เมืองชั้นใน ให้ใช้งานพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น พัฒนาและแก้ปัญหาเมืองให้ตอบรับการเปลี่ยนแปลงของเมืองในอนาคต