สรุปผลการวิจัย “โครงการศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง ตามแผนพัฒนาเมืองและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ”

การมีที่อยู่อาศัยคือสิทธิที่พึงมีของมนุษย์ เราทุกคนล้วนต้องการบ้าน และปรารถนาคุณภาพชีวิตที่ดี “บ้าน” จึงเกี่ยวข้องกับพวกเราตลอดเวลา ทั้งเพื่อการที่พักผ่อน ปลอบประโลมจิตใจยามทุกข์ยาก เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเป็นรากฐานของความมั่นคงทางครอบครัว การมีบ้านจึงเป็นสิทธิพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง ซึ่งได้รับการยอมรับไว้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25 กล่าวว่า “ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ดีของตนและครอบครัว”

แต่ทว่า ในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย มีผู้คนจำนวนค่อนข้างมากไม่มีบ้านที่อยู่อาศัยของตนเอง ต้องเช่าอาศัย หรือมีบ้านที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ประชาชนจำนวนไม่น้อยเป็นคนไร้บ้าน บวกกับท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ทรัพยากรที่ลดลง ความแออัดของผู้คนในเมืองใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การมีบ้านของมนุษย์นั้น กลายเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของศตวรรษที่ 21

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2560 ตอนที่เราจัดทำแผนแม่บทที่อยู่อาศัย พบว่ามีประชาชนกว่า 5.87 ล้านครัวเรือน ที่ยังไม่บ้านของตนเอง การเคหะแห่งชาติรับมาดูแล 2.27 ล้านหน่วย ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยภายในระยะเวลา 20 ปี ให้เป็นไปตามการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เนื่องจากเราเชื่อมโยงอยู่กับ SDGs ตัวที่ 11 ในเรื่องของการพัฒนาเมือง และพัฒนาชุมชนให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ท่ามกลางเมืองหลวงที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด “เคหะชุมชนบ่อนไก่” ตั้งอยู่บริเวณถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นโครงการที่ตั้งอยู่ใจกลางความเป็นเมือง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม พื้นที่แห่งนี้มีจุดเด่นที่การเดินทางสะดวก มีแหล่งงานอยู่โดยรอบ และมีค่าใช้จ่ายเพื่ออยู่อาศัยไม่สูงมาก ทำให้เคหะชุมชนบ่อนไก่ยึดโยงผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น ค่อย ๆ กลายเป็นสังคมที่ใหญ่ขึ้น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไปกว่า 50 ปี เคหะชุมชนบ่อนไก่เริ่มมีสภาพแวดล้อมที่ทรุดโทรม สภาพตึกอาคารที่ก่อสร้างเก่าล้าสมัย มีปัญหาขยะจำนวนมากที่เก็บทิ้งอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ ที่จอดรถไม่เพียงพอต่อผู้อยู่อาศัย และมีสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าดู ปัญหาเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวชุมชนบ่อนไก่ลดลง และหากปล่อยไปเรื่อย ๆ จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยและชุมชนข้างเคียง

เมืองที่พัฒนาไปแล้ว พอผ่านระยะเวลาหนึ่งสัก 40 – 50 ปี จะเริ่มมีความเก่า เกิดความทรุดโทรมตามกาลเวลา เพราะฉะนั้นในเรื่องของการฟื้นฟูเมืองคือจะเป็นภารกิจหนึ่งของการเคหะแห่งชาติ

การฟื้นฟูเมืองในรูปแบบใหม่ได้พัฒนาหลักการและแนวคิดไปมากกว่าในอดีต คือ ไม่ได้ใช้แนวคิดรื้อไล่ แล้วสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ทับของเดิม  แต่เป็นการปรับปรุงของเดิมที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า และพยายามรองรับคนกลุ่มเดิมได้ แต่ว่าต้องเป็นไปตามกลไกตลาด คำนึงถึงความคุ้มค่าในการก่อสร้าง เพื่อเปิดพื้นที่ให้รองรับคนกลุ่มอื่น ๆ ที่เป็นคนกลุ่มระดับรายได้ปานกลางเข้ามาด้วย เพื่อให้เกิดความคุ้มทุนในการลงทุน เป็นต้น

ตลอดหลายทศวรรษ การเจริญเติบโตของเมืองและชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการขยายตัวของประชากร กลายเป็นเมืองโตเดี่ยว นำมาซึ่งปัญหาด้านที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต ระบบนิเวศ รวมทั้งทางด้านสังคม การฟื้นฟูเมือง จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในการพัฒนาที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองในอนาคต ปัญหาความซับซ้อนของเมือง ที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขอนามัย ความล้าสมัยของขนส่งสาธารณะ ระบบสุขาภิบาลไม่ทั่วถึง และสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ เกิดความแออัด และความเสื่อมโทรม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นที่บ่อนไก่ และพร้อม ๆ กับชุมชนเมืองทั่วโลก

การเคหะแห่งชาติปีนี้เราเข้าสู่ปีที่ 49 แล้ว เรามีอาคารที่สร้างมาตั้งปี พ.ศ. 2516 ไม่ว่าจะเป็นชุมชนดินแดง ชุมชนรามอินทรา ชุมชนทุ่งสองห้อง หรือแม้กระทั่งชุมชนบ่อนไก่ เพราะฉะนั้นความจำเป็นที่ต้องฟื้นฟูเมือง เนื่องจากอายุของอาคารค่อนข้างมาก และเทคโนโลยีสมัยก่อนก็ไม่เหมือนสมัยนี้ เพราะฉะนั้นเรามีความจำเป็นที่ต้องฟื้นฟูเมืองก่อนที่อาคารจะชำรุดทรุดโทรมไปมากกว่านี้

การเคหะแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการศึกษา “แนวทางและความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง ตามแผนพัฒนาเมืองและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ” จึงได้ร่วมกับสำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ในการจัดทำฐานข้อมูลระดับเมืองและพื้นที่ เพื่อศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-feasibility) ในการฟื้นฟูชุมชนและเมืองทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาฟื้นฟูเมืองร่วมกับองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

อีกสิ่งสำคัญที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกคือ Open Data ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเมืองล้วนสร้างชุดข้อมูล ทำให้เห็นพลวัตรที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นี่เองข้อมูลจึงกลายเป็นมูลค่า​ทางเศรษฐกิจและสังคมใหม่ เป็นตัวแทนในการทำความเข้าใจสังคมอย่างร่วมสมัย

การที่เอาข้อมูลที่มีหน้าตาหลากหลายรูปแบบเอามาเปรียบเทียบกันได้ คือต้องสร้างฐานในการวิเคราะห์แบบเดียวกัน Grid เป็นการวางตัวของ Units of Analysis ลงไปในพื้นที่ เพื่อที่จะให้เกิดการเปรียบเทียบเชิงพื้นที่ให้ง่ายขึ้น

เพื่อให้บรรลุผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำแผนที่ชุมชนเมือง และฐานข้อมูลชุมชนเมืองในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นการสำรวจและรวบรวมข้อมูลโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับพื้นที่ และข้อมูลพื้นฐานเมืองเชิงพื้นที่ที่ปรากฎในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2563

จากงานวิจัยมีข้อค้นพบที่โดดเด่น 3 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 ความสามารถในการเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการกระจายตัวของศูนย์การค้า ตลาด สถานศึกษา สวนสาธารณะ และสถานพยาบาลอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะตลาดและตลาดนัดมีการกระจายเข้าไปอยู่ในทุกชุมชน

ประเด็นที่ 2 ความสามารถในการเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายถนน ข้อมูลทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงจำนวนบ้าน พบว่าเมืองมีการขยายตัวตามโครงข่ายรถไฟฟ้า 13 สาย แต่คนกรุงเทพฯ ไม่สามารถเดินเท้าถึงรถไฟฟ้าได้ภายใน 15 นาที เนื่องจากโครงข่ายของถนนไม่อำนวยความสะดวกเพียงพอ การอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองชั้นในมีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น คนที่อยู่กลางเมืองสามารถเข้าถึงแหล่งงานได้ง่ายกว่า และมีค่าเดินทางที่น้อยกว่าคนที่อาศัยอยู่นอกเมือง  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2564 จำนวนบ้านที่พักอาศัยมีการเพิ่มขึ้นและลดลงตามรูปแบบเศรษฐกิจและสังคม แต่น่าสนใจว่าในพื้นที่เมืองเก่า มีจำนวนบ้านลดน้อยลง เพราะคนย้ายออกไปมากขึ้น

ประเด็นที่ 3 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเมืองจากการวิจัย พบว่า การขยายตัวของเมืองเกี่ยวข้องกับโครงข่ายรถไฟฟ้ามีการย้ายออกในพื้นที่เมืองเก่า เช่น พระนคร ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย และสัมพันธวงศ์ ส่วนพื้นที่กลางเมืองที่มีความน่าสนใจ เพราะมีการย้ายเข้าในอัตราร้อยละที่ดี ได้แก่ ย่านบางรัก สี่พระยา และพื้นที่ใหม่น่าจับตามองคือ ย่านปิ่นเกล้า และจรัญสนิทวงศ์

จากการศึกษาค้นพบว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูเมือง ภายใต้กรอบแนวคิดการสร้างความสมดุลระหว่างแหล่งงานและที่อยู่อาศัย ได้แก่

  • เคหะห้วยขวาง
  • เคหะดินแดง
  • เคหะบ่อนไก่
  • บ้านพิบูลเวศม์
  • ชุมชนทุ่งมหาเมฆ
  • การพัฒนาและฟื้นฟูชุมชนยมราช และชุมชนโค้งรถไฟยมราช
  • การพัฒนาและฟื้นฟูชุมชนริมน้ำ และชุมชนหนาแน่น ชุมชนวัดเครือวัลย์ ชุมชนปรกอรุณ ชุมชนวัดหงส์รัตนาราม
  • ชุมชนซอยพิพัฒน์ 2
  • ชุมชนศรีเวียง

ในกระบวนการศึกษา เรามีการศึกษาศักยภาพในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ในเขตชั้นในเป็นหลัก ซึ่งจริง ๆ มีหลายพื้นที่ และบ่อนไก่เป็นหนึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพมาก เพราะเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ มีความหนาแน่นระดับหนึ่ง แต่ว่ายังสามารถให้มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

จากการศึกษาวิจัยฐานข้อมูลต่าง ๆ พบว่าเคหะชุมชนบ่อนไก่มีศักยภาพในด้านที่ตั้ง ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องอาคารที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา อีกทั้งยังมีการหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในเคหะชุมชนบ่อนไก่ การเคหะแห่งชาติ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จึงได้ 3 เป้าหมายหลักในการฟื้นฟูเคหะชุมชนบ่อนไก่ คือ

  • ต้องเพิ่มหน่วยที่อยู่อาศัย
  • คงความเป็นชุมชน และมีทางเลือกของที่อยู่อาศัยหลากหลาย
  • ส่งเสริมเศรษฐกิจเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งงาน

การวิจัยแบ่งแนวทางและความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง ในพื้นที่นำร่องออกเป็น2 ทางเลือกหลัก คือ การเก็บอาคารบางส่วน หรือการพัฒนาโครงการใหม่ทั้งหมด

  • การพัฒนาโครงการใหม่ทั้งหมด เมื่อตัวอาคารเดิมค่อนข้างทรุดโทรมแล้วก็จะเป็นการ​รื้อออกแล้วก็พัฒนาใหม่​ จะมีความยืดหยุ่นในการวางโซนมากกว่าว่าส่วนใดจะเป็น พาณิชยกรรม​ โซนใดจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหรือจะเป็นผสมผสาน
  • การเก็บอาคารบางส่วน โดยเฉพาะอาคารที่​ยังมีอายุใช้งานไม่มากนัก​ (ตัวอย่างเช่น โครงการ​บ้านพระราม 4 พลัส ที่มีอายุไม่ถึง 25 ปี) ​เมื่อเก็บอาคารบางส่วนไว้จะส่งผลให้ผู้เช่ากลุ่มเดิมบางส่วนสามารถอยู่ในพื้นที่เดิมได้​ แต่ว่าโซนพัฒนาตรงนั้นก็จะกลายเป็นโซนสำหรับผู้อยู่อาศัยเดิม​ และที่เหลือก็จะพัฒนาเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยที่เข้ามาใหม่​

และ 2 ทางเลือกย่อย คือ รูปแบบการพัฒนาโครงการเดียว (ใช้งานพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน) หรือพัฒนาแบบแยกกลุ่มอาคาร (ตอบรับกับกลุ่มคนต่างระดับรายได้)

  • การพัฒนาโครงการเดียว (ใช้งานพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน) จะมีการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน​ เช่น​ สวน​ หรือว่าตัวการใช้ประโยชน์สาธารณะอื่น​ ๆ​ ก็จะอยู่ตรงกลางที่ทุกคนเข้าถึงได้
  • การพัฒนาแบบแยกกลุ่มอาคาร (ตอบรับกับกลุ่มคนต่างระดับรายได้) คือแบ่งเป็นโครงการตามกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่จะอยู่อาศัย​ สำหรับกลุ่มอาคารหนึ่งก็จะมีพื้นที่ส่วนกลาง​ของตัวเอง​ ก็จะเป็นลักษณะของการพัฒนาโครงการแยกกันในแปลงที่ดินเดียว

ทางเลือกแรก คือการพัฒนาอาคารใหม่ทั้งหมด ตัวสภาพอาคารเดิมค่อนข้างทรุดโทรมแล้วก็จะเป็นการรื้อออกแล้วก็พัฒนาใหม่ และแนวทางที่ 2 เก็บอาคารบางส่วนไว้โดยเฉพาะอาคารที่ยังมีอายุใช้งานไม่มากนัก สอง แนวทางนี้ก็จะแตกย่อยออกไปอีก เรื่องรูปแบบการพัฒนาที่เป็นเหมือนโครงการเดียวกัน กับแยกกลุ่มอาคาร โดยที่สิ่งที่ต่างกันก็คือการใช้พื้นที่ส่วนกลาง

ทุก ๆ แนวทางออกมีทั้งข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป โดยเฉพาะในเรื่องของการที่พักอยู่อาศัยคือ เราจะต้องให้ความสำคัญกับคนอยู่อาศัยทุกกลุ่มอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยเดิมจะต้องได้สิทธิ์การอยู่อาศัย และมีภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่มากไปกว่าเดิมมากเกินไป อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำในทุก ๆ รูปแบบของการฟื้นฟูเมือง

การพัฒนาของโลกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราจะพัฒนาไปทิศทางไหนให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีส่วนออกแบบชีวิตของตนเอง ทำให้สังคมเกิดการเกื้อหนุน และยกศักยภาพของผู้คน ไปพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่

แม้โครงการจะเป็นเพียงการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้เบื้องต้น แต่เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะช่วยให้คนบ่อนไก่มองเห็นบ้านของตนเองในอนาคตร่วมกัน

จากแนวทางการฟื้นฟูเมือง นักวิจัยจะต้องนำแนวทางนี้ไปหารือร่วมกับชุมชนอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม และตรงกับความต้องการของผู้อยู่อาศัยในชุมชนเคหะบ่อนไก่

Baboonhub

Baboonhub

บริษัทผลิตสื่อที่มีพลังกระตือรือร้น สร้างสรรค์ผลงาน และเล่าเรื่องที่มีความเฉพาะทาง โดยเฉพาะการสื่อสารองค์ความรู้ของผู้คน องค์กร ชุมชน และโครงการ (วิจัย) ระดับประเทศ

Articles: 94