ในยุคที่ประเทศต้องการองค์ความรู้ กำลังคน และเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนฐานเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ การวิจัยทุกแขนงจึงมีบทบาทสำคัญด้านการค้นคว้า ศึกษา พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อหาแนวทางและวิธีการใหม่ ๆ แก้ไขปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคม
‘งานวิจัยเชิงพื้นที่’ เป็นหนึ่งในแขนงการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับบริบทพื้นที่เป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายสร้างผลกระทบระดับพื้นที่ให้ชุมชนมีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ภาครัฐพยายามผลักดัน โดยหยิบนำทุนนิเวศแวดล้อมในพื้นที่ขึ้นมาสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งมิติของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. เป็นผู้จัดสรรทุนสนับสนุนงานวิจัยดังกล่าว
บพท.
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่
PMUA
Program Management Unit on Area Based Development
บพท. เป็นหนึ่งในหน่วยงานบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ เช่น ชุมชน หรือท้องถิ่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ธุรกิจขนาดเล็ก วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคมในระดับพื้นที่ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) และแหล่งทุนอื่น ๆ ของประเทศ
รูปแบบการจัดสรรทุนของ บพท.
บพท. สนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายสุดท้าย คือ คนและกลไกพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการทุนใน 3 แผนงาน ได้แก่
- ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
• กรอบการวิจัยที่ 1 ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
• กรอบการวิจัยที่ 2 Area-based Creative Economy การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ทุนวัฒนธรรมของพื้นที่ - มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ใช้โครงสร้างองค์ความรู้ที่กระจายอยู่ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในระดับอุดมศึกษา นำมาพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง
• กรอบการวิจัยที่ 1 Local Enterprises พัฒนาเศรษฐกิจและอาชีพของคนในพื้นที่
• กรอบการวิจัยที่ 2 แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ทาบทามสถาบันการศึกษาในพื้นที่ให้เข้ามาร่วมมือกัน
• กรอบการวิจัยที่ 3 Smart City เมืองน่าอยู่ พัฒนาระดับเมือง ใช้มหาวิทยาเข้ามาสนับสนุน - พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ใช้การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ออกเป็นพรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 นำร่อง 6 พื้นที่ 8 จังหวัด
• learning city เมืองแห่งการเรียนรู้ ใช้พื้นที่ระดับเมืองมาสร้างการเรียนรู้ ให้ประชาชนหรือเยาวชนนอกระบบ นำไปสู่การพัฒนาทักษะใหม่ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 หรือทักษะใหม่ที่จำเป็นเมื่อได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่าง ๆ
แนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยของ บพท.
การสนับสนุนทุนของ บพท. แบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญเริ่มตั้งแต่การตั้งโจทย์วิจัย การร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมติดตาม ผนวกกับความคิดเห็นและมุมมองจากผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เชี่ยวชาญ ในการปรับปรุงข้อเสนอโครงการกระบวนการทำงานวิจัย เพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพและเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ดังนี้
- ระยะต้นน้ำ (Upstream Management)
กำหนดโจทย์วิจัย โดยจัดประชุมสัมมนา (Consortium) ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่ต้องการในการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนากรอบและแผนการวิจัยร่วมกัน - ระยะกลางน้ำ (Midstream Management)
ติดตามความก้าวหน้าของโครงการ ผ่านเวทีการพิจารณารายงานความก้าวหน้า โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้านเป็นผู้พิจารณา และมีการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงของโครงการวิจัย เพื่อกำกับและติดตามเป็นระยะๆ - ระยะปลายน้ำ (Downstream Management)
ผลักดันผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในด้านต่าง ๆ คือ
– ทั้งด้านเศรษฐกิจ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย
– ด้านนโยบาย เกิดการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายผลักดันสู่แผนท้องที่/ท้องถิ่น
– ด้านสังคม เกิดนวัตกรรมที่นำไปสู่การแก้ปัญหาของคน ชุมชน ท้องถิ่น สังคม
– ด้านสิ่งแวดล้อม สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมที่ดีขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
– ด้านวิชาการ มีการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ผลงานทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนได้ทราบ
ตัวอย่างงานวิจัยที่ได้รับทุน บพท.
สมุทรสงครามอยู่ดี (Living Better Samutsongkram)
โครงการสมุทรสงครามอยู่ดี โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท. มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสมุทรสงครามสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวคิด “เศรษฐกิจฐานความคิดสร้างสรรค์ (Creative Economy)” เป็นแนวทางขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ที่ภาครัฐต้องการให้เป็นเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Framework – (Bio Economy – Circular Economy – Green Economy) ที่ใช้ต้นทุนด้านต่างๆ จากธรรมชาติแวดล้อมในพื้นที่มาใช้อย่างคุ้มค่า เต็มศักยภาพ และขับเคลื่อนตามกรอบแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) เพื่อต่อยอดสู่ “อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (The Cultural and Creative Industries)”
โครงการฯ ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยต้นทุนทางวัฒนธรรมของพื้นที่สมุทรสงคราม โดยเก็บรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ ให้เป็นระบบที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงได้ โดยจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศแผนที่นิเวศวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ และหนุนเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม เช่นศิลปิน ช่างฝีมือท้องถิ่น และผู้สืบทอดทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการทางวัฒนธรรม ยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการสร้างความร่วมมือกับภาคีและเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้สมุทรสงครามเป็นถิ่นฐานที่ยั่งยืนทั้งในระดับชุมชนและเมือง
ย่านเก่าเล่าเรื่อง ตลาดใต้พิษณุโลก
“ตลาดใต้” ตลาดแห่งแรกของเมืองพิษณุโลก ย่านการค้าคนจีนที่มีแม่น้ำน่านพาดผ่านกลางเมืองมานับร้อยปี จนกระทั่งเริ่มมีทางรถไฟ และถนนตัดเข้ามาในตัวเมือง จนค่อย ๆ ก่อเกิดสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ และศาลเจ้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ย่านแห่งนี้จึงมีประวัติศาสตร์ของตัวตลาดที่เติบโตผ่านยุคสมัย และร้อยเรียงวัฒนธรรมความเป็นชาวจีนกับคนไทยได้อย่างลงตัว
ยุคสมัยเปลี่ยนไป ตลาดใต้อาจมีความเงียบเหงาลง แต่เรื่องเล่า วิถีชีวิต ผู้คน และประวัติศาสตร์ยังคงอยู่ และสามารถนำมาเป็นจุดขายให้กับพื้นที่ได้ โครงการวิจัย “ย่านเก่าเล่าเรื่อง เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต” เทศบาลนครพิษณุโลก โดยอาจารย์ธนวัฒน์ ขวัญบุญ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงลงศึกษาพื้นที่ตลาดใต้ เพื่อหนุนเสริมให้ตลาดนี้กลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของพิษณุโลกอีกครั้ง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
นักวิจัยที่สนใจยื่นข้อเสนอโครงการวิจัย เพื่อขอทุน บพท. สามารถทำได้ผ่านระบบสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) โดยแนบ File ในรูปแบบ Word และ PDF ตามแบบฟอร์มหน่วย บพท. พร้อมแนบประวัติ รวมถึงเอกสารหลักฐาน เช่น หลักฐานแสดงความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคีผู้ใช้งาน/ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในระดับพื้นที่ โดยมีความร่วมมือในรูปแบบของงบประมาณสมทบหรือการสนับสนุนอื่น ๆ ตามเหมาะสม และเอกสารอื่นๆ เพื่อยืนยันคุณสมบัติและเงื่อนไง โดยดูข้อมูลและข่าวสารของ บพท. เพิ่มเติมได้ที่
Website: https://pmua.or.th/
Facebook: https://www.facebook.com/PMUA.THAI/
YouTube: https://www.youtube.com/@PMUA.OFFICIAL
ตัวอย่างผลงาน
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
บพท. หน่วยงานให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ชุมชน และท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีและขีดความสามารถของผู้ประกอบการระดับพื้นที่
สมุทรสงครามอยู่ดี
จากต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่เป็นฐานสำคัญสำหรับการต่อยอดสู่ “อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์"