เมื่อไหร่ก็ตามที่แสงตกกระทบดวงตาไม่เหมือนกัน ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า อาจเป็นภาพปลอม!
เดี๋ยวนี้ภาพ AI -generated มีเยอะมาก บางรูปทำขำ ๆ ดูหางตาก็รู้ว่าปลอม แต่บางรูปก็พยายามเลียนแบบให้สมจริง ยิ่งระยะหลัง Deepfakes มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนแยกแทบไม่ออก อันไหนภาพคนจริงหรือ AI ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันใหญ่โต หรือทำให้คนเสื่อมเสียชื่อเสียงเลยก็มี แต่ยังไงธรรมชาติมนุษย์นักจับผิด เราต้องไม่ยอมให้ AI เหนือกว่าอยู่แล้ว
มันต้องมีวิธีสังเกตที่มีหลักมีการหน่อยสิ!
ว่าแล้วเราก็พบวิธีจับผิดที่เรียกว่า “ดัชนีจีนนี” (Gini Coefficient) เดี๋ยวนะนี้มันเครื่องมือทางสถิติ ใช้ได้ด้วยเหรอ? วิธีนี้มีหลักคิดอย่างไร เรียนเชิญทุกท่านอ่านต่อ…
เรื่องของเรื่องคือ มีนักวิจัยภายในงานเสวนาของราชสมาคมดาราศาสตร์ (Royal Astronomical Society) ในอังกฤษ กล่าวว่า “AI ไม่สามารถหลอกสิ่งหนึ่งได้ สิ่งนั้นคือ ฟิสิกส์” โดยผู้นำเสนอไอเดียคือ Kevin Pimbblet นักดาราศาสตร์จาก University of Hull และสิ่งนั้นอยู่ในดวงตาของพวกเราทุกคน โดยปกติภาพถ่ายบุคคลนั้น แสงตกกระทบดวงตาจะต้องตรงกันทั้ง 2 ข้าง แต่ภาพ AI นั้น แสงตกกระทบจะมีความคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกัน
นักดาราศาสตร์ประยุกต์ใช้เทคนิค “ดัชนีจีนนี” (Gini Coefficient) ว่าด้วยการกระจายแสงในกาแล็กซี ซึ่งค่า Gini Coefficient ช่วยระบุว่าความสว่างของกาแล็กซีมีการกระจุกตัวอยู่ในใจกลางมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับพื้นที่โดยรอบ เช่น ค่าใกล้ 0: แสงกระจายอย่างเท่าเทียม (วัตถุที่มีแสงกระจายสม่ำเสมอ) และค่าใกล้ 1: แสงกระจุกตัวสูง (วัตถุที่มีจุดกำเนิดแสงเด่นชัด เช่น กาแล็กซีที่มีใจกลางสว่างหรือมีหลุมดำมวลยิ่งยวด) จากนั้นเอาเทคนิคนี้มาใช้กับรูปภาพบุคคลโดยเทียบเป็น 1 pixel ของแสงตกกระทบในภาพ
นักวิจัยพบว่า เมื่อป้อนข้อมูลนี้ให้คอมพิเตอร์วิเคราะห์ด้วยดัชนีจีนนีจากภาพบุคคลจะพบว่า เกิดความต่างระหว่างแสงตกกระทบกับดวงตาทั้ง 2 ข้าง ที่ช่วยให้วิเคราะห์ได้ว่า รูปไหนรูปปลอม AI หรือรูปจริง ซึ่งในรูปคนจริงแสงตกกระทบดวงตาจะต้องตรงกันเสมอ (ยกเว้นมีกรณีอื่นที่เห็นภาพดวงตาไม่ชัด หรือหลับตาข้างใดข้างหนึ่ง) ส่วนใหญ่เมื่อใช้ ดัชนีจีนนี” มาร่วมประเมินจะช่วยเพิ่มความถูกต้องในการวิเคราะห์มากขึ้น
อย่างไรก็ตามนักวิจัยยืนยันว่า “นี่เป็นเพียงหนึ่งในกลวิธีเท่านั้น” เราควรมีเทคนิคอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้ในการตรวจจับภาพ AI เพิ่มเติมอีกในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องใช้ศาสตร์หลายแขนงมาร่วมด้วยช่วยกัน
*เพิ่มเติมสิ่งที่น่าสนใจ*
นอกจากในด้านดาราศาสตร์แล้ว ดัชนีจีนนี (Gini Coefficient) ยังใช้ในด้านประชากรศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นตัวชี้วัดทางสถิติที่ใช้วัดความไม่เท่าเทียมกันในด้านรายได้หรือความมั่งคั่งของประชากรในสังคมได้อีกด้วย มันช่างเยี่ยมยอดจริง ๆ นะเจ้า Gini Coefficient