“หลับฝัน ฉันยังร้องเป็นเพลง” เรื่องน่ารักของธรรมชาตินก แม้ยามหลับนกยังซ้อมร้องเพลง

แม้ดวงตาของเราจะปิดสนิทแล้ว แต่สมองของเรายังเดินทางต่อในโลกแห่งความฝัน ใครเคยเลี้ยงหมาก็คงเคยเห็น “หมาละเมอ” ที่มันพยายามวิ่งขากระแด่ว ๆ ทั้งที่นอนอยู่บนเบาะ (มันหนีอะไรสักอย่างเหรอ?) หรือแม้แต่มนุษย์เวลาเราพยายามเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ เราถึงขั้นเก็บไปฝันว่าพูดภาษานั้นอยู่ แล้วนกที่ชอบร้องเจื้อยแจ้ว ขณะที่พวกมันหลับ นกฝันถึงการร้องเพลงด้วยหรือเปล่านะ?
นกจำนวนมากในกลุ่ม “นกเสียงเพลง” (songbirds) มีสมองส่วนเฉพาะไว้สำหรับการเรียนรู้เสียงเพลงใหม่ ๆ นี่จึงทำให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัย University of Buenos Aires ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างความฝันของนกและการสร้างเสียงเพลง โดยนกที่ทำการศึกษาคือ นกฟินช์ม้าลาย (Zebra Finches) และ นกคิสกาดีใหญ่ (Great Kiskadees) ซึ่งนก 2 ชนิดนี้มีธรรมชาติการเรียนรู้เสียงใหม่ ๆ อันเป็นไปตามสัญชาตญาณของนกนักร้อง
ก่อนหน้านี้มีงานศึกษาว่า เมื่อนกหลับจะมีการขยับปากและร่างกายเหมือนกับการ “ลิปซิงก์” ในครั้งนี้ทีมวิจัยจึงเพิ่มการติดตั้งอิเล็กโทรดบนหัวของนก เพื่อบันทึกและเปรียบเทียบกิจกรรมของเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อของนกในขณะหลับ
พบว่าเมื่อนกฟินช์ม้าลายอยู่ในช่วงตื่น พวกมันจะร้องเพลงเป็นจังหวะคงที่ด้วยโน้ตแบบสั้นๆ ที่เรียกว่า “โน้ตสั้น staccato” และเมื่อพวกมันอยู่ในช่วงหลับ กิจกรรมทางสมองยังคงดำเนินต่อเนื่องคล้ายกับ “นกกำลังฝัน”
ผลที่พบน่าสนใจเพราะ ดูเหมือนนกพวกนี้จะซ้อมร้องเพลงทั้งวันจนเก็บไปฝัน พวกมันสามารถเรียนรู้ที่จะร้องโน้ตใหม่ทั้งที่กำลังหลับอยู่ เป็นจังหวะใกล้เคียงกัน
ส่วนนกนกคิสกาดีใหญ่ซึ่งมีธรรมชาติค่อนข้างหวงถิ่น ทีมวิจัยได้นำผลของการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อของนกชนิดนี้ขณะหลับเทียบกับกิจจกรรมทางสมอง แล้วเปลี่ยนให้เป็นเสียงที่มนุษย์เรา ๆ ท่าน ๆ ได้ยิน ผลปรากฏว่า เสียงที่ได้กลับดังและก้าวร้าวมาก เหมือนกับ “นกกำลังฝันร้าย” แถมมีการขยับขนหัวในลักษณะขู่ ซึ่งคล้ายกับพฤติกรรมปกป้องอาณาเขต
นี่แสดงว่า แม้ช่วงเวลานอนของนก พวกมันยังฝึกซ้อมและส่งเสียงในสมองด้วยเช่นกัน
การศึกษาในอนาคตคือ การติดตามพฤติกรรมการหลับแบบ REM ซึ่งหาว่าช่วงการนอนหลับของนกนั้นสัมพันธ์นั้นกับความฝันในสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เพื่อเราจะเข้าใจเงื่อนไขและกลไกของสมองสัตว์โลก (และสมองเราเอง) ได้มากขึ้น
Song Replay During Sleep and Computational Rules for Sensorimotor Vocal Learning
Thanet Ratanakul

Thanet Ratanakul

ผู้ร่วมก่อตั้ง Baboonhub ที่สนใจอ่านงานวิจัยและอยากให้ Research Based Content เป็นที่นิยมมากขึ้น

Articles: 29