ในปี ค.ศ.1688 นักปรัชญา William Molyneux (วิลเลียม โมลีนิวซ์) เขียนจดหมายไปถึง John Locke (จอห์น ล็อก) นักปรัชญาที่ปรากฏในหนังสือเรียนคุณบ่อยๆ เขามีคำถามพิสดารแต่ก็ท้าทายให้คิดตามว่า
“หากคนตาบอดตั้งแต่เกิด เรียนรู้ที่จะแยกแยะวัตถุโดยการ “จับ” (touch) มาทั้งชีวิต ถ้าวันหนึ่งคนตาบอดสามารถมองเห็นได้ขึ้นมา เขาจะจำวัตถุด้วยการมองเห็น (sight) ได้ไหม โดยไม่สัมผัสวัตถุนั้นเลย”
พอคำถามนี้ได้เอ่ยขึ้นใน ศตวรรษที่ 17 มันก็เลยท้าทายมากๆ ซึ่งนักปรัชญารวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์ก็พยายามหาคำตอบนี้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะว่าคำถามไปแตะกับ concept เรื่องการรับรู้วัตถุ สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องใช้การเรียนรู้ฝึกฝน หรือเรามีทักษะนี้ตั้งแต่เกิด ถ้าจู่ๆคนตาบอดมองเห็นได้ขึ้นมา เขาจะจำวัตถุได้ไหม ในยุคนั้นคนตาบอดจะกลับมามองเห็นได้ก็คงเป็นเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เท่านั้น
มาสู่ช่วงเวลาปัจจุบัน มีงานวิจัยที่พยายามแก้ปริศนานี้ โดยทดสอบกับเด็กพิการทางสายตาตั้งแต่กำเนิด แต่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดกระจกตา ผลปรากฏว่า เด็กๆไม่รู้จักวัตถุโดยทันที เห็นแล้วยังไม่รู้ว่าคืออะไร แต่พวกเขามีศักยภาพที่เรียนรู้ได้รวดเร็วโดยทำความคุ้นเคยไม่กี่นาที
แล้วสำหรับสัตว์ล่ะ? พวกมันรู้จักการแยกแยะวัตถุด้วยหรือไม่ แล้วเราจะทดสอบอย่างไรกับพวกมัน?
งานวิจัยจาก Queen Mary University of London ได้ทดสอบกับผึ้งบัมเบิลบี (Bumblebee) โดยทีมวิจัยฝึกมันให้รู้จักกับรูปทรงกลม (sphere) และทรงลูกบาศก์ (cube) ผ่านการให้รางวัลด้วยน้ำตาล ผึ้งพวกนี้จะสอนให้รู้จักกับรูปทรงในห้องที่มืดสนิท ไม่มีแสงแม้แต่นิดเดียว แต่ผึ้งสามารถเดินไปเกาะรูปทรงนั้นได้
คราวนี้เพื่อความท้าทายอีกขั้น นักวิจัยจะฝึกผึ้งให้รู้จักกับวัตถุในห้องที่มีแสงสว่าง พวกมันมองเห็นวัตถุได้ แต่ไปเกาะไม่ได้ ทำได้เพียงมองระยะไกล งานวิจัยจึงทำให้คล้ายปริศนาของ วิลเลียม โมลีนิวซ์ ที่กล่าวข้างต้น จากนั้นสังเกตการตอบสนองของผึ้ง
พวกเขาพบผลที่น่าสนใจว่า ผึ้งใช้เวลานานในการเรียนรู้ว่าวัตถุเห็นอยู่คืออะไร พวกมันจำไม่ได้แม้จะเคยสัมผัสมาแล้วบ้างในห้องมืด ยังต้องใช้เวลานานในการแยกแยะระหว่างทรงกลมและทรงลูกบาศก์ ทั้งที่สัตว์พวกนี้น่าจะพึ่งพาการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสมากกว่าการมองเห็น
ตรงกันข้ามกับผึ้งกลุ่มที่เคยเห็นวัตถุมาก่อนในห้องสว่าง พวกมันสามารถระบุความแตกต่างของวัตถุได้ในเวลาไม่นานแม้ภายหลังจะย้ายมาอยู่ในห้องมืด
นั้นหมายความว่า ผึ้งใช้ทักษะการมองเห็นในการดำรงชีวิตที่ซีเรียสกว่า โดยนักวิจัยให้เหตุผลว่า แมลงกลุ่มที่จำเป็นต้องหาเกสรดอกไม้ พวกมันมีการรับรู้ทางการมองเห็นเพื่อระบุสีสันที่หลากหลายของหมู่ดอกไม้ พวกมันแยกแยะดอกไม้ที่ซับซ้อนได้ รู้ว่าดอกอะไรจะให้น้ำหวาน และที่สำคัญพวกมันรู้จักใบหน้าของมนุษย์อีกต่างหาก
Jonathan Birch นักวิจัยด้านพฤติกรรมสัตว์จากต่างสถาบันเพิ่มเติมว่า ผึ้งน่าจะรู้จักกับรูปทรงต่างๆตั้งแต่พวกมันอยู่ในรัง เวลาพวกคุณดูรังผึ้งนั้น มันล้วนเต็มไปด้วยรูปทรงเลขคณิต เช่น ทรงหกเหลี่ยมในรัง ความโค้งและเว้าในช่องทางเดิน ซึ่งพวกผึ้งเองก็จำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านการใช้ผัสสะที่หลากหลาย (cross-sensory integration) มากกว่าที่เกิดมาปุ๊บแล้วรู้จักรูปทรงเลยโดยทันที
คำถามที่ท้าทายต่อไปของนักวิจัยคือการหาคำตอบว่า ผึ้งมีจิตสำนึก (Consciousness) ไหม หรือพวกมันเป็นเพียงการผลิตซ้ำของธรรมชาติ เพราะปัจจุบันเราพบว่าผึ้งสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆได้ เช่น เลี้ยงลูกฟุตบอลเล็กๆไปเข้าประตู เพื่อรับรางวัล สอนให้จำรูปทรงได้ นี่แสดงว่าผึ้งมีความสามารถในการเรียนรู้และความจำที่ยอดเยี่ยม
หากวิทยาศาสตร์สามารถหาคำตอบได้ว่า จิตสำนึกของสัตว์คืออะไร อาจทำให้เรามองสัตว์โลกรอบๆตัวเปลี่ยนไป
อ้างอิงงานวิจัย
Bumble bees display cross-modal object recognition between visual and tactile senses
https://science.sciencemag.org/content/367/6480/910abstract_id=3194