เคยไหมเวลาที่ขึ้นรถเมล์ พอจ่ายตังค์ค่ารถพนักงานก็ให้ตั๋วใบเล็ก ๆ มา เพื่อที่บางครั้งก็จะมีพนักงานขึ้นมาตรวจตั๋ว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่โดนนะ เพราะเป็นการสุ่ม บางครั้งได้ตั๋วมาก็เก็บไว้ในกระเป๋า ถุงกางเกง ถุงเสื้อ หรือขยำทิ้งไป พอมีพนักงานขึ้นมาตรวจทีก็ต้องมานั่งลุ่นว่าจะโดนสุ่มตรวจหรือเปล่า แต่กระดาษใบเล็ก ๆ นี้ ถ้าเก็บไว้ให้ดีจะมีค่ามากกว่าที่คุณคิด
ตั๋วรถเมล์เริ่มใช้กันตั้งแต่ตอนไหนนะ
ในอดีตไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นคนเริ่มใช้ตั๋วรถเมล์ก่อน จากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเมื่อมีบริษัทเอกชนเริ่มให้บริการรถเมล์มากขึ้น จำนวนรถของแต่ละบริษัทก็เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้รถเมล์ทุกคันจะมีสายรถเมล์ เส้นทางผ่าน และหมายเลขของรถแต่ละคันการใช้ตั๋วรถเมล์ก็เพื่อจะได้รู้ว่าพนักงานเก็บค่าโดยสาร ในแต่ละเที่ยวได้จำนวนเงินเท่าไหร่ โดยดูหลักฐานจากการตัดตั๋ว และเพื่อป้องกันการทุจริตในการเก็บค่าโดยสารของพนักงานด้วยข้อความที่อยู่บนตั๋วทุกใบ ตัวเลข ตัวหนังสือ สัญลักษณ์ สี สามารถบอกถึงความหมายและรายละเอียดของตั๋วใบนั้น ๆ ได้ แถมยังเป็นประโยชน์ทั้งผู้ที่ออกตั๋วและผู้ที่รับตั๋วอีกด้วย แม้ว่าตั๋วบางชนิดจะมีแต่ตัวเลข ที่ดูแล้วยังไงก็ไม่มีความหมายแน่นอน แต่รู้หรือไม่ว่าตัวเลขเหล่านั้นซ่อนความหมายไว้มากมายอย่างที่คุณคาดไม่ถึงเลยทีเดียวความสำคัญของตั๋วรถเมลล์ในปัจจุบันผู้คนเริ่มหันมาใช้รถเมล์กันมากขึ้น สำหรับใครที่ลืมของหรือสัมภาระที่สำคัญไว้ในรถเมลล์ แต่ไม่รู้ว่าต้องไปตามหาที่ไหนอย่ามองข้ามตั๋วรถเมล์ใบเล็ก ๆ ที่เหมือนจะเป็นแค่กระดาษธรรมดา เพราะของที่ลืมไว้คุณอาจจะได้คืนจากตั๋วใบนี้ เพียงแค่คุณนำตั๋วรถไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่เท่านั้น
โค้ดตัวเลขบนตั๋วรถเมล์
- เลข 1-15 หมายถึง ตัวเลขแทนช่วงระยะทาง คือระยะทางที่กรมการขนส่งได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน ซึ่งรถเมล์ทุกสายไม่ว่าจะเป็นเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หรือรถร่วมบริการต้องใช้ร่วมกัน ยังสามารถบอกให้กับผู้โดยสารและพนังานตรวจตั๋วได้รู้อีกว่าผู้โดยสารขึ้นจากรถเมล์ป้ายไหน นับเป็นช่วงระยะทางที่เท่าไหร่ และถ้าเป็นรถเมล์ที่จ่ายเงินตามระยะทาง ก็จะบอกถึงราคาในแต่ละระยะทางอีกด้วย
- โลโก้ของบริษัท ที่ให้บริการผู้โดยสารขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท ว่าจะใช้โลโก้แบบไหน ถ้าหากเป็นรถของขสมก. ก็จะเป็นตราของขสมก. แต่ถ้าเป็นบริษัทเอกชน ก็จะมีตราบริษัทที่ต่างกันออกไป
- เลขรหัสม้วนตั๋ว เป็นเลข 3-4 หลักแรก (ซึ่งในแต่ละองค์กรที่ให้บริการจะกำหนดไม่เท่ากัน) ใน 7 หลัก ซึ่งจะแทนเส้นทางการเดินรถที่ทางขสมก. กำหนดขึ้น รวมทั้งยังแทนสายรถเมล์สายนั้น ๆ ด้วย
- เลขจำนวนผู้โดยสาร เป็นเลข 3-4 หลักต่อท้ายจากเลขรหัสม้วนตั๋ว ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 000 ในทุก ๆ ม้วนตั๋ว และจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามจำนวนผู้โดยสารในแต่ละวัน
- เลขหมวดตั๋ว เป็นเลขที่แทนรอบการผลิตตั๋วและแทนรถเมล์สายนั้น ๆ ซึ่งจะมีตั้งแต่ 1-1000 เลยทีเดียว
- สีของตั๋ว นอกจากจะบอกถึงราคาแล้ว สำหรับรถเมล์ปรับอากาศคำนวณราคาตามระยะทาง ยังสามารถบอกถึงช่วงระยะในการเดินทางของผู้โดยสารอีกด้วย
หลาย ๆ คนอาจมองข้ามกระดาษใบเล็ก ๆ ไป เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วจะเห็นได้ว่าตั๋วหนึ่งใบสามารถบอกอะไรกับเราได้มากมาย ทั้งเรื่องของระยะทาง ราคา และรู้แม้กระทั่งเราขึ้นมาจากป้ายไหน คือสิ่งที่คิดว่าไม่มีความหมาย แต่มีความหมายซ่อนอยู่ อย่าเพิ่งมองข้ามสิ่งเล็ก ๆ เพราะบางครั้งก็มีความสำคัญกับเราอย่างไม่รู้ตัว