Consumer drone in Ukraine

บทบาท Consumer Drone ในสงครามยูเครน “อัตราสังหารสูง-ในราคาย่อมเยา” เทคโนโลยีพลเรือนในภาวะสงคราม

Drone FPV ล่าสังหารที่มีราคาเพียง 15,000 บาท อาจได้ผลไม่ต่างจาก จรวดพิฆาตรถถัง FGM-148 Javelin ที่มีราคา 7 ล้านบาท สงครามที่ยืดเยื้อจะทำให้โดรนกลายเป็นยุทธภัณฑ์ที่มี
“อัตราสังหารสูง ในราคาย่อมเยา”

ในปี 2024 กองทัพทั่วโลกจะมีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) พร้อมประจำการที่มีกำลังพลมากกว่าทหารมนุษย์ “โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี” ประธานาธิบดียูเครน ประกาศถึงทิศทางสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียในปีต่อไปว่า กองทัพยูเครนจะมี Drone ใช้ในปฏิบัติการมากถึง 1 ล้านตัว ซึ่งในสงครามที่เนิ่นนานนี้ ยูเครนใช้ Drone สังหารไปแล้วมากกว่าหมื่นตัว นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของเทคโนโลยีระดับพลเรือน ที่ใช้เป็นเครื่องมือภายใต้ความขัดแย้ง

Consumer drone

สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียเป็นฉากหลังที่มีการใช้ Drone ปฏิบัติการและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ Drone มีเปอร์เซ็นต์ประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง ทั้งภารกิจติดตามเป้าหมายทั้งทหารราบและยานเกราะ สามารถสังหารเป้าหมายเคลื่อนที่ด้วยความรวดเร็ว  ภายในไม่กี่ปีของสงครามระหว่าง 2 ชาติ ผลักดันให้ Drone สังหารมีอัตราความสำเร็จสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Drone ขนาดเล็กที่ขายในระดับ consumer ชนิดสี่ใบพัดถูกใช้เป็นเครื่องมือสังหารชั้นดี เพราะราคาไม่สูงเท่าโดรนทางการทหาร และใช้ได้ผลในหลายวัตถุประสงค์ เช่น ภารกิจสอดแนม ชี้เป้าเพื่อยิงสนับสนุนของปืนใหญ่ หรือสามรถดัดแปลงเพียงเล็กน้อยก็สามารถหย่อนระเบิดใส่ข้าศึกในแนวดิ่ง นอกจากนี้ยังมี Drone ชนิด “ใช้ครั้งเดียว” ที่ติดตั้ง Cruise Missiles เพื่อโจมตีเป้าหมายเคลื่อนที่เร็ว โดย Drone เหล่านี้มักถูกเรียกชื่อเล่นว่า Mavik ตามรุ่น Mavik Series ที่บริษัทของจีนอย่าง DJI ซึ่งเป็นผู้ผลิต

ในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา Drone ที่ควบคุมโดยใช้มุมมองบุคคลที่ 1 หรือที่เรียกว่า FPV ซึ่งปกติเป็น Drone ใช้แข่งขันมีลีลาการบินผาดโผนหวือหวา ทำความเร็วสูง เมื่อนำมาดัดแปลงเป็นอาวุธสงคราม Drone FPV สามารถบรรทุกจรวดต่อต้านรถถังที่มีน้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม จากนั้นผู้ควบคุมบังคับให้บินติดตามเป้าหมายที่เป็นยานพาหนะ เข้าไปในอาคาร บังเกอร์ หน้าต่าง ประตู เมื่อผนวกกับผู้ควบคุมที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ทำให้ Drone FPV มีอัตราความสำเร็จที่สูงเป็นพิเศษและมีการทำลายล้างค่อนข้างรุนแรง

Consumer drone

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างข้อถกเถียงต่ออนาคตที่น่าสนใจ ประการแรก คือ Drone เป็นเครื่องมือที่พกพาสะดวก ซื้อง่ายขายคล่อง และมอบให้กันอย่างสะดวกโดยไม่ต้องมีเอกสารรับรองยุ่งยาก ประการที่สอง การใช้ Drone ก่อเกิดอาสาสมัครเข้าร่วมสงครามในฐานะ “ผู้ควบคุม” มากขึ้น เพราะไม่ต้องปะทะกับข้าศึกโดยตรง และใช้การควบคุมที่รวดเร็วฉับไว ทำให้ดึงดูดเยาวชนเข้าสู่สงครามได้ง่าย  ซึ่งในปี 2023 ที่ผ่านมา ประเทศยูเครนใช้ Drone ไปทั้งสิ้นกว่า 2 แสนตัว ทั้งรุ่น FPV และ  Mavik  ทั้งสองเป็นอุปกรณ์ที่ราคาไม่สูงมาก สามารถแกะจากกล่องมาประกอบแล้วใช้งานได้ทันที ต่างจากยุทธปัจจัยที่ใช้เวลาเตรียมค่อนข้างนาน Drone จึงผลักดันให้สงครามมีการตัดสินที่ฉับไวขึ้นและหวังผลได้มากขึ้น ยูเครนระบุว่า ยุทธปัจจัยและกำลังพลในสงครามกว่า 50% ของรัสเซียนั้นถูกทำลายโดย Drone หรือมีการสนับสนุนการโจมตีด้วย Drone

สงครามขยับ โดรนยิ่งปรับตัว

แม้ Drone ระดับ Consumer จะเข้ามาประจำการในสงคราม แต่ปัญหาหนึ่งที่หลีกเลี่ยงยากคือ การถูกรบกวนด้วยคลื่นสัญญาณวิทยุที่ขัดขวางการรับส่งข้อมูลระหว่าง Drone และผู้บังคับ ถึงอย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้าน Drone พยายามหาวิธีในการต่อต้านอยู่เสมอ โดยติดตั้งตัวกรองสัญญาณ (Filter) ในขณะผู้ที่ขัดขวางก็พยายามปรับปรุงการรบกวนให้รุนแรงขึ้นที่เสมือนการเล่นเกม “แมวจับหนู” ที่ต่างคนต่างหาวิธีมาเอาชนะกันแบบยิบตา

หนึ่งในกลวิธีที่นำมาแก้ปัญหาคลื่นสัญญาณ คือการทำให้ Drone เป็น autonomous หรือสั่งให้ทำงานโดยเป็นอิสระ ไม่ต้องมีผู้ควบคุม สามารถป้อนคำสั่งให้ออกไปปฏิบัติการได้ทันที ผู้ควบคุมอาจล็อคเป้าหมายไว้ นอกนั้นระบบที่ตรวจจับโดยระบบปัญญาประดิษฐ์ AI จะประมวลผลตามที่ได้รับคำสั่ง วิธีนี้ทำให้ Drone สามารถหลีกเลี่ยงการถูกรบกวนสัญญาณ ได้มากขึ้น

Consumer drone

“ไต้หวัน” ได้แรงบันดาลใจจากยูเครน – ทีมงาน Thunder Tiger Group สัญชาติไต้หวันสาธิตการใช้ Drone ในงาน Asia UAV AI Innovation ที่เมืองเจียอี้ ประเทศไต้หวัน / ภาพ สำนักข่าวรอยเตอร์

แม้ระบบ Autonomous System จะมีการพูดถึงกันมากขึ้น แต่ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นแรกเริ่ม อีกทั้งยังมีศักยภาพไม่แน่นอน และยังไม่สามารถเทียบความสำเร็จจากการควบคุมของมนุษย์ แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ นั่นคือความหวั่นวิตกกังวลของเครื่องจักรสังหารอัตโนมัติ ที่เพียงป้อนข้อมูลก็สามารถออกปฏิบัติการทันทีไม่ต้องพึ่งพาทักษะของมนุษย์

ดังนั้น สงครามที่ยืดเยื้อ จะเป็นตัวแปรให้ Drone พัฒนาอย่างรุดหน้า และทำให้เห็นภาพความขัดแย้งในอนาคตตที่เราจะเลือกพึ่งพาอาวุธไฮเทคที่มีราคาย่อมเยา สามารถผลิตได้จำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่า ในอีกไม่นาน โดรน FPV  ที่มีราคาเพียง 15,000 บาท อาจได้ผลไม่ต่างจาก จรวดพิฆาตรถถัง FGM-148 Javelin ที่มีราคา 7 ล้านบาท สงครามในอนาคตจึงพึ่งพา Drone มากขึ้นในมิติของความคุ้มค่าและอัตราความสำเร็จสูง เมื่อการทำลายซึ่งกันและกันอาจสะดวกกว่าการทำความเข้าใจความขัดแย้งของมนุษย์ การเลือกหนทางทำลายล้างยังคงดำเนินภายใต้ความขัดแย้งที่ดูเหมือนจะไม่มีจุดสิ้นสุด

Thanet Ratanakul

Thanet Ratanakul

ผู้ร่วมก่อตั้ง Baboonhub ที่สนใจอ่านงานวิจัยและอยากให้ Research Based Content เป็นที่นิยมมากขึ้น

Articles: 27