การเคลื่อนไหวในยามค่ำคืนอา
“คุณเป็นคนนอนดิ้นไหม?” ไม่มีใครหรอกที่ยอมรับว่าตัวเองนอนดิ้นหากไม่มีหลักฐานแน่นหนารัดตัว เราเชื่อว่าร่างกายควรจะอยู่ใต้อาณัติการควบคุมของเรามากที่สุด จนต้องให้ผู้ร่วมเตียงนั่นเองถ่ายมายืนยันถึงจะเห็นว่าตัวคุณอาจดิ้นจนเกินอาณาเขตเตียงควีนไซส์ หกคะเมนตีลังกา คอบิดคองอ เหมือนถูกภูตผี Exorcist สิงสู่อะไรอย่างนั้น
คุณมักคิดว่าเมื่อคุณหลับตาลง ค่อยๆ ผล็อยหลับไป ร่างกายคุณจะ shutdown เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ อาจมีความฝันระหว่างนั้น กล้ามเนื้อจะค่อยๆ คลายตัว เรียกว่า muscle atonia ที่ทำให้คุณเคลื่อนไหวน้อยลง แต่บางคนกลับมีร่างกายที่ทำงานแบบ autopilot ลุกขึ้นมาละเมอเดิน (sleepwalk) โดยมีสถิติว่า 1% ของประชากรทั้งหมด มักมีอาการละเมอเดินอยู่เป็นประจำ (ซึ่งก็ถือว่าน้อย) แต่เมื่อเทียบกับการพูดขณะนอนหลับ กลับมีสัดส่วนมากถึง 3 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว
เรายังเคลื่อนไหว เปลี่ยนท่านอน บ่นพึมพำ ที่ก่อนหน้านี้วิทยาศาสตร์มองข้ามสัญญาณทางร่างกายเหล่านี้มาโดยตลอด แต่ระยะหลังเราพบว่า มันเปรียบเสมือนการใส่รหัสสำคัญบางอย่างของเงื่อนไขทางร่างกายอันน่าสนใจในรากฐานของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตเลยทีเดียว
การเคลื่อนไหวระหว่างนอน ละเมือเดิน รับใช้เจตจำนงสำคัญอันเป็นตัวกำหนดรูปแบบการเดินหรือการพูดในระหว่างที่เราตื่นนั้นเอง
ลีลาบนเตียงนอน
ยิ่งวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปเท่าไหร่ เรายิ่งรู้ว่าการนอนหลับมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพมากเท่านั้น ซึ่งมันจำเป็นต่อสุขภาพองค์รวมของคุณเกือบทุกอย่าง เราเริ่มเข้าใจว่า สมองคุณละทิ้งโปรตีนในรูปแบบของเสียระหว่างวัน ร่างกายจึงใช้การนอนเพื่อเป็นการ ‘ปัดกวาด’ อันเป็นกลไกลดการก่อตัวของโปรตีนที่ก่อให้เกิดความถดถอยของการรับรู้ และงานวิจัยอีกจำนวนมากตอบคำถามเรื่องความฝัน ที่เผยให้เห็นว่าสมองของเราเองมีกลไกในการทบทวน หรือจำลองภาวะอันเป็นภัยต่อชีวิตที่หากเกิดในชีวิตจริงผ่านความฝัน
แต่การ ‘นอนดิ้น’ เองก็น่าจะมีบทบาทลับ ๆ บ้างใช่หรือไม่? นักวิจัยยืนยันว่าพวกเขาค้น
เราพบว่า นักกีฬาที่ใช้ร่างกายในการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วฉับไวอย่าง นักเทนนิส นักบาสเกตบอล นักเทเบิลเทนนิส มีการเคลื่อนไหวระหว่างนอนในรูปแบบเดียวกับขณะที่พวกเขาตื่น สมองไม่ละเว้นเวลาในการทบทวนรูปแบบเคลื่อนไหวเหล่านี้ แล้วเขม็งตึงมากขึ้นแม้ในขณะเวลานอนหลับ
มีหลักฐานงานวิจัยในหนูทดลองที่สมองถูกฝังขั้วอิเล็กโทรดไว้เพื่อดูกิจกรรมของสมอง จากนั้นทดสอบมันโดยปล่อยให้วิ่งในเขาวงกตเพื่อหาทางออก พวกเขาพบว่า สมองมีกิจกรรมในส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่ควบคุมความทรงจำในขณะที่หนูพยายามจดจำเส้นทางออก เมื่อหนูนอนหลับในช่วงมีการเคลื่อนไหวของตาอย่างรวดเร็ว (Rapid eye movement: REM) หรือเป็นช่วงเข้าสู่ความฝัน กิจกรรมสมองในส่วนของฮิปโปแคมปัสเกิดขึ้นอีกครั้งในรูปแบบเดียวกับตอนที่มันทำขณะตื่นอย่างไม่ผิดเพี้ยน
หมายความว่า สมองของเจ้าหนูก็พยายามจะทบทวนสิ่งที่มันเรียนรู้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นหลักการของกลไกนี้ก็อาจไม่แตกต่างจากมนุษย์มากนัก เรียกว่าภาวะละเมอ (Parasomnia) ซึ่งของมนุษย์จะซับซ้อนกว่า (และอาจวิปลาสกว่า) ตั้งแต่ขั้นเบาะๆ อย่างการ ละเมอเดิน ลุกขึ้นมานั่ง กินอาหาร ขับรถ! หรือแม้กระทั่งมีเพศสัมพันธ์ขณะละเมอ (มีจริงนะ)
นักวิจัยด้านประสาทวิทยา Isabelle Arnulf และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Paris จึงเปิดศูนย์เชื้อเชิญอาสาสมัครที่มีพฤติกรรมละเมอเดินเป็นประจำถึง 19 รายมาร่วมการทดลอง ซึ่งในคืนแรกๆ มักปกติดี ไม่มีใครละเมอให้เห็น โดยในระหว่างวันอาสาสมัครจะเล่นเกมที่ต้องสัมผัสตัวบล็อกบนร่างกายที่อยู่แต่ละตำแหน่งโดยอาศัยความเร็วในการเคลื่อนไหว เหมือนเกมตีหัวตัวตุ่น (Whac–A-Mole)
คืนนั้นเอง Isabelle Arnulf รายงานว่า เธอเห็นอาสาสมัครหญิงคนหนึ่งเริ่มมีอาการละเมอ เอามือไปแตะตามตัวและแขนขาด้วยความรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ปิดตาอยู่ คล้ายกับเกมที่ทำการทดสอบระหว่างกลางวัน ทีมวิจัยลองเปลี่ยนแบบทดสอบเป็นการอ่านและการใช้ความทรงจำผ่านเรื่องเล่า อาสาสมัครอีกราย ก็ละเมอพูดออกมาเป็นเรื่องเป็นราวเช่นเดียวกัน
งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า พฤติกรรมทางกายภาพทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกที่เราตื่นรู้ มีอิทธิพลต่อโลกที่เราหลับใหลไปแล้ว ร่างกายพยายามทำซ้ำผ่านสถานะ ‘ลูกผสม’ (hybrid) ระหว่างการหลับ (sleep) และการตื่น (wakefulness) โดยมีทฤษฎีว่า สมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว Motor cortex ยังคงทำงานและควบคุมร่างกายได้ดี แม้คุณกำลังหลับ แต่กล้ามเนื้อที่คลายตัว (muscle atonia) ยับยั้งไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ให้คุณสวิงไปเต็มเหนี่ยวนัก
เพราะเอาเข้าจริง ไม่มีใครเลยที่นอนนิ่งตลอดท
การเรียนรู้อันแนบเนียนผ่านการดิ้น
พ่อแม่มือใหม่ที่อยากนอนกับลูกน้อยเหมือนในภาพ Shutterstock มักพบความหายนะเมื่อมีโอกาสนอนกับลูกจริงๆ เพราะพี่แกเล่นดิ้นกินอาณาบริเวณราวกับจะทำสวนเซน โดยเฉพาะเด็กทารกที่นอนในภาวะ REM นานถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน มันจึงจำเป็นที่ต้องมีการดิ้นอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวในยามราตรีช่วยให้สมองเชื่อมโยงกับเซลล์ประสาท (neurons) ในส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว Motor cortex ไขสันหลัง และกล้ามเนื้อให้มีความพร้อมก่อนที่จะถึงช่วงหัดเดิน ที่เสมือนเป็นแกนหลักให้มนุษย์ทรงตัวต้านแรงโน้มถ่วงได้
แต่สำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ การนอนดิ้นตามปกติเป็นการควบคุมกล้ามเนื้อ การทำงานร่วมกันของประสาทขณะที่เราตื่น และหลายครั้งเองเราสามารถเข้าสู่ภาวะความฝันที่สามารถควบคุมได้ (lucid dream) ที่สามารถกรอกตาไปมาตามทิศทางที่ต้องการแม้จะหลับอยู่ เคาะรหัสมอส หรือกายบริหาร อีกนัยหนึ่งคือ ร่างกายของเราเองที่สามารถควบคุมฝัน
สมองเองมิได้เป็นเพียงหุ่นเชิดของร่างกาย และร่างกายก็มิได้เป็นหุ่นเชิดของสมองเช่นกัน แต่มันกลับทำงานร่วมกันอย่างพิลึกพิลั่น ผสานกันแนบเนียนจนยากจะแยกออก เหมือนกรณีแพทย์ชาวฝรั่งเศส Alfred Maury เขียนในบันทึกของตนเองในปี 1800 ว่าฝันถึงศีรษะตัวเองถูกตัดขาดด้วยกิโยติน ขณะที่หัวเตียงหักมาทับคออย่างพอดิบพอดี หรือในกรณีทีมวิจัยจาก Dream and Nightmare Laboratory ลองบีบที่วัดความดันที่สวมบริเวณต้นขาของอาสาสมัครผู้กำลังหลับ แล้วเขาบอกว่าฝันว่ามีแมวตัวหนึ่งกระโดดมาข่วนขา
องค์ความรู้นี้เองทำให้เราทำความเข้าใจอุปสรรคของการนอน เพราะตามธรรมชาติแล้วการดิ้นหรือละเมอมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในวัยเด็ก แล้วค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่อเราแก่ตัวขึ้น แต่หลายคนยังคงประสบปัญหาที่รุนแรง สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ร่วมเตียง ครอบครัว อย่างเดินจนตกบันได ปีนป่ายโต๊ะตู้ ออกไปกลางถนนเสี่ยงรถชน ที่ทำให้คุณภาพชีวิตเลวลงจนอาจเป็นภัยถึงชีวิต และมีจำนวนไม่น้อยที่มีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงก้าวร้าว ชกต่อย เตะ จิกทึ้ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ 20 จนถึง 100 ครั้งต่อปี หรือในกรณีของผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยังมีอาการละเมออยู่อีก มักมีความเสี่ยงของโรคพาร์กินสันร่วมด้วย เสมือนเป็นสัญญาณลับที่ร่างกายกำลังจะสื่อสารถึงความผิดปกติ
แม้คุณจะปฏิเสธเสียงแข็งว่า ไม่เคยนอนดิ้นเลยให้ตายเถอะ แต่มันก็เป็นประโยชน์ไม่น้อยหากจะมีใครบอกว่าคุณมีธรรมชาติการนอนเช่นไร สัญญาณลับนี้จะถูกไขก่อนหรือไม่ ผ่านสภาวะลูกผสมอันมหัศจรรย์ครึ่งลับครึ่งตื่นของร่างกาย
…คืนนี้หลับให้สบาย แล้วเราไปวิ่งกันต่อในความฝัน