young-students-sleeping-on-the-staircase featured image

คุณเป็นคนนอนดิ้นไหม สัญญาณลับที่ร่างกายพยายามส่งยามราตรีแต่ถูกมองข้าม

การเคลื่อนไหวในยามค่ำคืนอาจเป็นสะพานเชื่อมระหว่างรหัสปริศนาของความฝันและร่างกายที่ตื่น มากกว่าที่เราเคยรู้จัก เสมือนสัญญาณลับที่ร่างกายพยายามส่งยามราตรีที่มักถูกมองข้ามอยู่เสมอ

“คุณเป็นคนนอนดิ้นไหม?” ไม่มีใครหรอกที่ยอมรับว่าตัวเองนอนดิ้นหากไม่มีหลักฐานแน่นหนารัดตัว เราเชื่อว่าร่างกายควรจะอยู่ใต้อาณัติการควบคุมของเรามากที่สุด จนต้องให้ผู้ร่วมเตียงนั่นเองถ่ายมายืนยันถึงจะเห็นว่าตัวคุณอาจดิ้นจนเกินอาณาเขตเตียงควีนไซส์ หกคะเมนตีลังกา คอบิดคองอ เหมือนถูกภูตผี Exorcist สิงสู่อะไรอย่างนั้น

คุณมักคิดว่าเมื่อคุณหลับตาลง ค่อยๆ ผล็อยหลับไป ร่างกายคุณจะ shutdown เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ อาจมีความฝันระหว่างนั้น กล้ามเนื้อจะค่อยๆ คลายตัว เรียกว่า muscle atonia ที่ทำให้คุณเคลื่อนไหวน้อยลง แต่บางคนกลับมีร่างกายที่ทำงานแบบ autopilot ลุกขึ้นมาละเมอเดิน (sleepwalk) โดยมีสถิติว่า 1% ของประชากรทั้งหมด มักมีอาการละเมอเดินอยู่เป็นประจำ (ซึ่งก็ถือว่าน้อย) แต่เมื่อเทียบกับการพูดขณะนอนหลับ กลับมีสัดส่วนมากถึง 3 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว

เรายังเคลื่อนไหว เปลี่ยนท่านอน บ่นพึมพำ ที่ก่อนหน้านี้วิทยาศาสตร์มองข้ามสัญญาณทางร่างกายเหล่านี้มาโดยตลอด แต่ระยะหลังเราพบว่า มันเปรียบเสมือนการใส่รหัสสำคัญบางอย่างของเงื่อนไขทางร่างกายอันน่าสนใจในรากฐานของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตเลยทีเดียว

การเคลื่อนไหวระหว่างนอน ละเมือเดิน รับใช้เจตจำนงสำคัญอันเป็นตัวกำหนดรูปแบบการเดินหรือการพูดในระหว่างที่เราตื่นนั้นเอง

ลีลาบนเตียงนอน

ยิ่งวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปเท่าไหร่ เรายิ่งรู้ว่าการนอนหลับมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพมากเท่านั้น ซึ่งมันจำเป็นต่อสุขภาพองค์รวมของคุณเกือบทุกอย่าง เราเริ่มเข้าใจว่า สมองคุณละทิ้งโปรตีนในรูปแบบของเสียระหว่างวัน ร่างกายจึงใช้การนอนเพื่อเป็นการ ‘ปัดกวาด’ อันเป็นกลไกลดการก่อตัวของโปรตีนที่ก่อให้เกิดความถดถอยของการรับรู้ และงานวิจัยอีกจำนวนมากตอบคำถามเรื่องความฝัน ที่เผยให้เห็นว่าสมองของเราเองมีกลไกในการทบทวน หรือจำลองภาวะอันเป็นภัยต่อชีวิตที่หากเกิดในชีวิตจริงผ่านความฝัน

แต่การ ‘นอนดิ้น’ เองก็น่าจะมีบทบาทลับ ๆ บ้างใช่หรือไม่? นักวิจัยยืนยันว่าพวกเขาค้นพบกุญแจสำคัญของสมองที่พยายามทำงานร่วมกับส่วนการควบคุมการเคลื่อนไหว เพื่อ ‘ทบทวนการเคลื่อนไหว’ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมระหว่างวัน

เราพบว่า นักกีฬาที่ใช้ร่างกายในการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วฉับไวอย่าง นักเทนนิส นักบาสเกตบอล นักเทเบิลเทนนิส มีการเคลื่อนไหวระหว่างนอนในรูปแบบเดียวกับขณะที่พวกเขาตื่น สมองไม่ละเว้นเวลาในการทบทวนรูปแบบเคลื่อนไหวเหล่านี้ แล้วเขม็งตึงมากขึ้นแม้ในขณะเวลานอนหลับ

มีหลักฐานงานวิจัยในหนูทดลองที่สมองถูกฝังขั้วอิเล็กโทรดไว้เพื่อดูกิจกรรมของสมอง จากนั้นทดสอบมันโดยปล่อยให้วิ่งในเขาวงกตเพื่อหาทางออก พวกเขาพบว่า สมองมีกิจกรรมในส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่ควบคุมความทรงจำในขณะที่หนูพยายามจดจำเส้นทางออก เมื่อหนูนอนหลับในช่วงมีการเคลื่อนไหวของตาอย่างรวดเร็ว (Rapid eye movement: REM) หรือเป็นช่วงเข้าสู่ความฝัน กิจกรรมสมองในส่วนของฮิปโปแคมปัสเกิดขึ้นอีกครั้งในรูปแบบเดียวกับตอนที่มันทำขณะตื่นอย่างไม่ผิดเพี้ยน

หมายความว่า สมองของเจ้าหนูก็พยายามจะทบทวนสิ่งที่มันเรียนรู้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นหลักการของกลไกนี้ก็อาจไม่แตกต่างจากมนุษย์มากนัก เรียกว่าภาวะละเมอ (Parasomnia) ซึ่งของมนุษย์จะซับซ้อนกว่า (และอาจวิปลาสกว่า) ตั้งแต่ขั้นเบาะๆ อย่างการ ละเมอเดิน ลุกขึ้นมานั่ง กินอาหาร ขับรถ! หรือแม้กระทั่งมีเพศสัมพันธ์ขณะละเมอ (มีจริงนะ)

นักวิจัยด้านประสาทวิทยา Isabelle Arnulf และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Paris จึงเปิดศูนย์เชื้อเชิญอาสาสมัครที่มีพฤติกรรมละเมอเดินเป็นประจำถึง 19 รายมาร่วมการทดลอง ซึ่งในคืนแรกๆ มักปกติดี ไม่มีใครละเมอให้เห็น โดยในระหว่างวันอาสาสมัครจะเล่นเกมที่ต้องสัมผัสตัวบล็อกบนร่างกายที่อยู่แต่ละตำแหน่งโดยอาศัยความเร็วในการเคลื่อนไหว เหมือนเกมตีหัวตัวตุ่น (Whac–A-Mole)

คืนนั้นเอง Isabelle Arnulf รายงานว่า เธอเห็นอาสาสมัครหญิงคนหนึ่งเริ่มมีอาการละเมอ เอามือไปแตะตามตัวและแขนขาด้วยความรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ปิดตาอยู่ คล้ายกับเกมที่ทำการทดสอบระหว่างกลางวัน ทีมวิจัยลองเปลี่ยนแบบทดสอบเป็นการอ่านและการใช้ความทรงจำผ่านเรื่องเล่า อาสาสมัครอีกราย ก็ละเมอพูดออกมาเป็นเรื่องเป็นราวเช่นเดียวกัน

งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า พฤติกรรมทางกายภาพทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกที่เราตื่นรู้ มีอิทธิพลต่อโลกที่เราหลับใหลไปแล้ว ร่างกายพยายามทำซ้ำผ่านสถานะ ‘ลูกผสม’ (hybrid) ระหว่างการหลับ (sleep) และการตื่น (wakefulness) โดยมีทฤษฎีว่า สมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว Motor cortex ยังคงทำงานและควบคุมร่างกายได้ดี แม้คุณกำลังหลับ แต่กล้ามเนื้อที่คลายตัว (muscle atonia) ยับยั้งไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ให้คุณสวิงไปเต็มเหนี่ยวนัก

เพราะเอาเข้าจริง ไม่มีใครเลยที่นอนนิ่งตลอดทั้งคืน ร่างกายมีกลไกพิลึกอันซับซ้อนเช่นนี้ ทั้งการทบทวนการเรียนรู้ที่ผ่านมาตลอดวัน เปลี่ยนท่าเพื่อลดการกดทับของเส้นเลือด แต่จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยจำเพาะของแต่ละคน

การเรียนรู้อันแนบเนียนผ่านการดิ้น

พ่อแม่มือใหม่ที่อยากนอนกับลูกน้อยเหมือนในภาพ Shutterstock มักพบความหายนะเมื่อมีโอกาสนอนกับลูกจริงๆ เพราะพี่แกเล่นดิ้นกินอาณาบริเวณราวกับจะทำสวนเซน โดยเฉพาะเด็กทารกที่นอนในภาวะ REM นานถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน มันจึงจำเป็นที่ต้องมีการดิ้นอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวในยามราตรีช่วยให้สมองเชื่อมโยงกับเซลล์ประสาท (neurons) ในส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว Motor cortex ไขสันหลัง และกล้ามเนื้อให้มีความพร้อมก่อนที่จะถึงช่วงหัดเดิน ที่เสมือนเป็นแกนหลักให้มนุษย์ทรงตัวต้านแรงโน้มถ่วงได้

แต่สำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ การนอนดิ้นตามปกติเป็นการควบคุมกล้ามเนื้อ การทำงานร่วมกันของประสาทขณะที่เราตื่น และหลายครั้งเองเราสามารถเข้าสู่ภาวะความฝันที่สามารถควบคุมได้ (lucid dream) ที่สามารถกรอกตาไปมาตามทิศทางที่ต้องการแม้จะหลับอยู่ เคาะรหัสมอส หรือกายบริหาร อีกนัยหนึ่งคือ ร่างกายของเราเองที่สามารถควบคุมฝัน

สมองเองมิได้เป็นเพียงหุ่นเชิดของร่างกาย และร่างกายก็มิได้เป็นหุ่นเชิดของสมองเช่นกัน แต่มันกลับทำงานร่วมกันอย่างพิลึกพิลั่น ผสานกันแนบเนียนจนยากจะแยกออก เหมือนกรณีแพทย์ชาวฝรั่งเศส Alfred Maury เขียนในบันทึกของตนเองในปี 1800 ว่าฝันถึงศีรษะตัวเองถูกตัดขาดด้วยกิโยติน ขณะที่หัวเตียงหักมาทับคออย่างพอดิบพอดี หรือในกรณีทีมวิจัยจาก Dream and Nightmare Laboratory ลองบีบที่วัดความดันที่สวมบริเวณต้นขาของอาสาสมัครผู้กำลังหลับ แล้วเขาบอกว่าฝันว่ามีแมวตัวหนึ่งกระโดดมาข่วนขา

องค์ความรู้นี้เองทำให้เราทำความเข้าใจอุปสรรคของการนอน เพราะตามธรรมชาติแล้วการดิ้นหรือละเมอมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในวัยเด็ก แล้วค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่อเราแก่ตัวขึ้น แต่หลายคนยังคงประสบปัญหาที่รุนแรง สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ร่วมเตียง ครอบครัว อย่างเดินจนตกบันได ปีนป่ายโต๊ะตู้ ออกไปกลางถนนเสี่ยงรถชน ที่ทำให้คุณภาพชีวิตเลวลงจนอาจเป็นภัยถึงชีวิต และมีจำนวนไม่น้อยที่มีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงก้าวร้าว ชกต่อย เตะ จิกทึ้ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ 20 จนถึง 100 ครั้งต่อปี หรือในกรณีของผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยังมีอาการละเมออยู่อีก มักมีความเสี่ยงของโรคพาร์กินสันร่วมด้วย เสมือนเป็นสัญญาณลับที่ร่างกายกำลังจะสื่อสารถึงความผิดปกติ

แม้คุณจะปฏิเสธเสียงแข็งว่า ไม่เคยนอนดิ้นเลยให้ตายเถอะ แต่มันก็เป็นประโยชน์ไม่น้อยหากจะมีใครบอกว่าคุณมีธรรมชาติการนอนเช่นไร สัญญาณลับนี้จะถูกไขก่อนหรือไม่ ผ่านสภาวะลูกผสมอันมหัศจรรย์ครึ่งลับครึ่งตื่นของร่างกาย

…คืนนี้หลับให้สบาย แล้วเราไปวิ่งกันต่อในความฝัน

Thanet Ratanakul

Thanet Ratanakul

ผู้ร่วมก่อตั้ง Baboonhub ที่สนใจอ่านงานวิจัยและอยากให้ Research Based Content เป็นที่นิยมมากขึ้น

Articles: 27