‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ภาระรับผิดชอบของสังคมไฮเทค
ถอดบทเรียนร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ข้อค้นพบ/ข้อเสนอแนะ
- ไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นปีละ 4 แสนตัน แต่มีการกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้องเพียงร้อยละ 20
- ข้อจำกัดของร่าง พรบ. ที่ผ่านมาคือ มีคณะกรรมการจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว อาจทำให้การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ไม่ครอบคลุมทั้งวงจรชีวิต
- รัฐควรให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้ามีส่วนร่วมในความรับผิดชอบ และสนับสนุน อปท. เพิ่มศักยภาพในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ในชุมชน
ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นับล้านชิ้นถูกผลิตขึ้นทุกวัน ความไฮเทคถูกส่งถึงมือผู้บริโภค เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ขณะเดียวกันความรวดเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยีก็ก้าวกระโดดจน ผู้บริโภคต้องตามให้ทัน จนกลายเป็น ‘ของเก่าไป ของใหม่มา’ ซึ่งของเก่ามักถูกทิ้งให้เป็น ‘ขยะ’ ที่ยากจะทำลาย
“การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยทำให้ผู้บริโภค มีการเปลี่ยนตัวผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ บ่อยครั้งมากขึ้น พอเปลี่ยนแล้วบางทีก็ไม่รู้จะไปทิ้งไว้ที่ไหน ก็มีการถอดแยกชิ้นส่วน บางส่วนเพื่อเอาบางส่วนไปขาย แล้วก็บางส่วนที่ทิ้งก็เอาไปเผาบ้าง หรือไม่ก็ไปทิ้งในถังขยะที่มีอาจจะไม่ได้ถูกหลักวิชาการเท่าที่ควร ก็เลยทำให้ก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น”
รองศาสตราจารย์ ดร.พรเพ็ญ ไตรพงษ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงต้นตอของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่หากปล่อยปละละเลยไปนานวันเข้า จะนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพ ระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหารของสรรพชีวิต จึงเป็นที่มาของ ‘ร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์’ เพื่อให้จัดการขยะเหล่านี้อย่างเป็นระบบและถูกวิธี แต่หากยังมีอุปสรรคและปัญหาของการจัดการซากผลิตภัณฑ์ ฯ ที่จำเป็นต้องศึกษาวิเคราะห์จากบทเรียนต่างประเทศเพิ่มเติม
แล้วตรงไหนคือจุดอ่อนของการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่ไทยควรแก้ไข?
การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนตัวผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ บ่อยครั้งมากขึ้น ส่งผลให้ก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.พรเพ็ญ ไตรพงษ์
‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ เศษซากพฤติกรรมการบริโภค ในยุคไฮเทคโนโลยี
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 53.6–54 ล้านตันต่อปี นับเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นพร้อมกับกำลังการผลิตที่มีมากขึ้น เรื่อย ๆ โดยยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั่วโลกเติบโตขึ้นถึงปีละ 2 ล้านตัน เป็นผลจากพฤติกรรมการบริโภคของคนยุคนี้ ที่นิยมเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บ่อยครั้ง ส่งผลให้อายุ การใช้งานของเหล่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สั้นลง จากเดิมที่อายุการใช้งานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีค่าเฉลี่ย 5-6 ปี แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2-3 ปีเท่านั้น ซึ่งมีคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2573 ทั่วโลกจะมีปริมาณของเสียที่เกิดจากผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถึง 74 ล้านเมตริกตัน
จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ ปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยเอง ก็มีซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ถึง 435,187 ตัน และของเสียอันตรายประเภทอื่น ๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์จำนวน 234,331 ตัน แต่มีการเก็บรวบรวมและ นำไปกำจัดอย่างถูกต้องแค่ 70 ตันเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่ยังมีค่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จะถูกขายให้แก่ซาเล้ง รถเร่ หรือ ร้านรับซื้อของเก่า ส่วนซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่ไม่มีค่า จะถูกทิ้งรวมกับขยะชุมชนทั่วไป กลายเป็นของเสียอันตรายในชุมชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 4 แสนตันต่อปี แต่มีการกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้องเพียงร้อยละ 20 ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก หากเทียบกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลของสารพิษ สารอันตราย หรือโลหะหนักที่อยู่ในซากผลิตภัณฑ์ฯ เช่น โครเมียม แคดเมียม สารตะกั่ว ซึ่งสารเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้เวลาในการย่อยสลายที่ยาวนาน และหากรื้อหรือถอดแยกไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้สารอันตรายรั่วไหล และปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ดิน น้ำ จนนำไปสู่ ผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท ส่วนกลาง ระบบโลหิต การทำงานของไต รวมถึงระบบสืบพันธุ์
นอกจากนนี้ การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เป็นระบบ ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ โดยมีรายงานในกลุ่มประเทศยุโรประบุว่า การถอดแยกชิ้นส่วนที่สามารถทำให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกวิธี สามารถประหยัดต้นทุนการผลิตใหม่ได้มากกว่า 1.8 พันล้านยูโรต่อปี ทั้งยังเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองด้วย การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อย่างถูกวิธีจึงเป็นเรื่องที่หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ควรมีกรอบจัดการที่ชัดเจนและเป็นระบบ โดยจําเป็นต้องอาศัยมาตรการและแนวทางแบบบูรณาการอาศัยองค์ความรู้ทั้งทางด้านกฎหมาย ทางเศรษฐกิจ ทางเทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การผลิตหรือ นําเข้า การบริโภคสินค้า การเก็บรวบรวบ การคัดแยก การรีไซเคิล และการบําบัดหรือกําจัด
ร่างพระราชบัญญัติฯ สู่อนาคตการจัดการ ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ด้วยลักษณะเฉพาะของซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีส่วนประกอบสารพิษที่เป็นอันตราย และวัสดุที่ยังมีมูลค่าสูงสามารถบำบัดหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ต่างประเทศในแถบสหภาพยุโรป เยอรมนี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และเกาหลีใต้จึงใช้วิธีการตรากฎหมายเพื่อจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นโดยเฉพาะ โดยนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) หรือหลัก EPR มาเป็นแนวคิดพื้นฐานในการออกกฎหมาย เพื่อเป็นกลไกที่ครอบคลุมวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การเก็บรวบรวม การรับคืน การขนส่ง การบำบัด การรีไซเคิล และการกำจัด ซึ่ง หลักการนี้ประกอบไปด้วยความรับผิดชอบ 4 ด้านของ ผู้ผลิต ได้แก่
1. การรับผิดทางกฎหมาย (Liability) ความรับผิดทางแพ่งของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อชดใช้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำหรือซากผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต
2. ความรับผิดชอบทางการเงิน (Financial Responsibility) ความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดหรือบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับซากผลิตภัณฑ์ฯ เช่น การจ่ายค่ารวบรวม ค่าเก็บขน ค่าบำบัดและ/หรือค่ากำจัด ซาก ผลิตภัณฑ์ฯ
3. ความรับผิดชอบทางกายภาพ (Physical Responsibility) ผู้ผลิตรับผิดชอบที่จะดำเนินการต่าง ๆ ในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ หรือลดผลกระทบที่จะเกิดจากซากผลิตภัณฑ์ฯ เช่น การรวบรวม เก็บขน บำบัดและ/หรือกำจัดซากผลิตภัณฑ์ฯ การบำบัด การปนเปื้อนในดิน มลพิษทางอากาศหรือทางน้ำที่เกิดจากการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ
4. ความรับผิดชอบด้านข้อมูลข่าวสาร (Informative Responsibility) ความรับผิดชอบในการแสดงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความตระหนักให้กับ ผู้บริโภค เช่น การแสดงตำแหน่งของสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับ การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ แต่อาศัยกฎหมายที่มีอยู่มา ปรับใช้ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม วัตถุอันตราย และสาธารณสุข ซึ่งกฎหมายเหลานี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากหลายหน่วยงาน ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ และยังไม่ครอบคลุมวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะวงจรชีวิตตอนปลายที่มีการจัดการไม่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิซาการ โดยส่วนใหญ่จะมีการรับซื้อ แล้วนำไปเทกองรวมกันเพื่อรื้อหรือถอดแยกเอาวัสดุมีค่า ส่วนที่เหลือจะนำไป เผา ฝังกลบ หรือกองทิ้งซากตามพื้นที่พักอาศัย พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่รกร้าง ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนและระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมโดยรวม
จากปัญหาการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่ไม่เป็นระบบและไม่ถูกวิธี จึงเกิด “ร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อื่น” ขี้น เพื่อให้มีระบบการจัดการซาก ผลิตภัณฑ์ฯ ที่มีประสิทธิภาพ และกำหนดกลไก ในการจัดการ โดยอาศัยความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้นำเข้า ซึ่งมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ และมีการปรับแก้มาทั้งหมด 4 ฉบับ
“มีร่างมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว เป็นฉบับที่ 1 ซึ่งก็ปรับมาเรื่อย ๆ จนมาเป็นร่างปัจจุบัน คือ ฉบับที่ 4 กรมควบคุมมลพิษก็ได้เอามาประชาพิจารณ์อีกรอบหนึ่ง ซึ่งร่างทั้ง 4 ร่างนี้ก็มีการปรับมาตลอด โดยปี 2561 มีคณะกรรมการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ให้มีในรูปของกองทุน โดยบังคับให้มีคณะกรรมการ ซึ่งเอกชนเขาอยากจะทำเอง เพราะคิดว่าตัวเองมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำเองได้ ก็เลยมีการยับยั้งไปสักระยะหนึ่ง และก็ทำให้ทางกรมควบคุมมลพิษเองก็มาปรับร่างใหม่ เกิดประชาพิจารณ์ มีการฟังทางบริษัทเอกชนเหล่านี้”
ด้วยข้อจำกัดสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับ 2 และ 3 ที่แต่งตั้งให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษมีอำนาจ แต่เพียงผู้เดียวในการกำกับดูแลการจัดการซากผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ ในทางปฏิบัติกลับทำให้การจัดการไม่เกิดประสิทธิภาพ และไม่ครอบคลุมการจัดการตลอดวงจรชีวิตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่องค์กรภาคเอกชนเองก็เห็นว่า ตัวเองมีศักยภาพพอที่จะจัดการซากผลิตภัณฑ์ได้ และคิดว่า การจัดตั้งกองทุนเพื่อรับผิดชอบในซากผลิตภัณฑ์ของตนเองกับภาครัฐ ไม่มีระบบที่ไม่ชัดเจน ทั้งยังอาจทำให้การเบิกจ่ายเงินกองทุนยังล่าช้าตามระบบราชการ หรืออาจทำให้รู้สึกว่ากองทุนดังกล่าวดำเนินงานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไม่โปร่งใส หรือปัญหาการคอร์รัปชัน ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นข้อถกประเด็นที่ทุกภาคส่วนกำลังหาทางร่วมกัน
“เรามีแต่คณะกรรมการของรัฐอย่างเดียวที่เป็น คนดูแลก็อาจจะยังไม่ทั่วถึง และที่สำคัญก็คือบริษัทเอกชนเองเขามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำได้ เราก็ควรจะ เปิดโอกาสให้เขาได้สามารถจัดการซากผลิตภัณฑ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าของเขาเองได้ด้วย”
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ครอบคลุมวงจรชีวิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เพื่อให้แนวทางการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ของ ทุกภาคส่วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน “ร่างพระราชบัญญัติจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” ควรแก้ไขปรับปรุงในบางประเด็นให้สอดคล้องกับบริบทไทย โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้นำเข้าภาคเอกชน และเพื่อลด ข้อถกเถียงที่เกิดจากความคลุมเคลือของกฎหมาย งานวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะ คือ
1. ควรกำหนดชนิดและประเภทของ “ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” ในกฎหมาย อนุญัตติให้ชัดเจน เช่น หากเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าใน บ้านเรือนจะกำหนดโดยอาศัยขนาด และแยกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารไว้อีกประเภทหนึ่ง เนื่องจากมีส่วนประกอบของวัสดุที่มูลค่าสูง สามารถ นำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้
ทั้งนี้ ควรขยายขอบเขตไปถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เป็นของเสียอันตรายเพิ่มเติม เช่น แบตเตอรี่ สารเคมีในอุตสาหกรรม การเกษตร การประมง สารหล่อลื่นและน้ำมัน ยางรถยนต์ และยานพาหนะ (รถยนต์หรือ รถจักรยานยนต์) เพื่อไม่ให้มีกฎหมายมากเกินความจำเป็น
2. ควรแก้ไขบทนิยามคำว่า “ผู้ผลิต” “ผู้นำเข้า” และ “ผู้จัดจำหน่าย” ออกจากกันให้ชัดเจน เพราะพบว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ ไม่ครอบคลุมถึงผู้นำเข้าหรือผู้สั่งผลิตภัณฑ์ เข้ามาฯ แม้มีการร่างใน พรบ. ไว้แล้ว ประกอบกับในบทบัญญัติอื่น ๆ การใช้คำนิยามดังกล่าวยังมี ความคลุมเครืออยู่ ดังนั้น จึงเสนอให้แยกบทนิยามดังกล่าวให้ชัดเจน
3. กลไกในการกำกับดูแลการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ในรูปแบบของ “คณะกรรมการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” ควรมีกรรมการมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลากหลาย และควรเพิ่มเติมโครงสร้างคณะกรรมการจากภาคส่วนภาคเอกชนที่เป็น ผู้ผลิต ผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่าย และตัวแทนผู้ประกอบการรับซื้อของเก่า
4. ควรกำหนดให้มีกองทุนเพื่อเป็นมาตรการเสริม หรือเพื่ออุดหนุนการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่ผู้ผลิตเลิกกิจการไปแล้ว (Orphan waste) ซากผลิตภัณฑ์ฯ ในอดีต (Yesterday waste) และองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีศักยภาพดำเนินการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ
ส่วนซากผลิตภัณฑ์ฯ ในอนาคต (Future waste) ควรส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ฯ ของตนเป็นหลักโดยให้รวมกลุ่มเป็นองค์กรผู้ผลิต (Producer Responsibility Organization: PRO) รวมไปถึงควรกำหนดให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ได้มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตฯ ด้วย
5. ควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 30 ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดถอดแยก ชิ้นส่วนของซากฯ โดยเพิ่มเติมข้อยกเว้นใน “การดำเนินการเพื่อการศึกษา ทดลองและ วิจัยโดยหน่วยงานของรัฐหรือสถานศึกษาของรัฐ” ให้ภาคเอกชนได้รับยกเว้นด้วย
6. ควรเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนของการจัดตั้งศูนย์รับคืน ให้ผู้ประกอบการอิสระ (Informal sector) เช่น รถเร่รับซื้อของเก่า ซาเล้ง เข้ามาในระบบและสามารถถอดแยกซากฯ ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิซาการ เช่น การกำหนดให้เป็นผู้ช่วยของศูนย์รับคืน หรือกำหนดกลไกให้มีส่วนร่วม เช่น การเก็บ รวบรวมส่งศูนย์รับคืนจะได้ราคาสูงกว่าการถอดแยกเอง หรือกำหนดเป้าหมายการรับคืนเพื่อขอรับเงิน สนับสนุนจากกองทุนได้
นอกจากนี้ ควรกำหนดให้มีจุดรับคืนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ในแต่ละเขตพื้นที่อย่างครอบคลุม ทั่วถึง และสะดวกต่อการส่งคืนของประชาชน และนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้จูงใจในการส่งคืนอย่างถูกต้อง เช่น การให้เงินอุดหนุน การให้ส่วนลดทางภาษี ส่วนลดค่าธรรมเนียม
7. ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษบางประการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกฎหมายอื่นที่ใกล้เคียง เช่น ผู้ทิ้ง ทำลายซากผลิตภัณฑ์ฯ มีโทษปรับทางปกครอง ไม่เกิน 500 บาทในขณะที่ผู้ทิ้งขยะ มูลฝอยทั่วไปตามกฎหมายสาธารณสุข มีโทษ 2,000 บาท ทั้งนี้ อาจกำหนดเพดานขึ้นสูงไว้ เช่น มีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 50,000 บาท เป็นต้น
8. ควรพิจารณาเพิ่มเติมมาตรการทางกฎหมายบางประการที่สามารถเป็นกลไกเสริมในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ครอบคลุมวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การกำหนด เป้าหมายการเก็บรวบรวม เช่น การใช้มาตรการทางภาษี การลดค่าธรรมเนียมอัตราพิเศษ การปรับเงิน กระตุ้นให้ผู้ผลิต ผู้บริโภคร่วมมือกันในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ หรือการขึ้นทะเบียนผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อติดตามวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ฯ จากต้นทางไปจนถึงปลายทางที่ถูกบำบัด โดยให้มีระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยงสอดคล้องกันและสะดวกต่อการเข้าถึง
สำหรับบทบาทของภาครัฐเอง งานวิจัยเห็นว่า ภาครัฐควรเป็นฝ่ายหนุนเสริมผู้ผลิตและผู้นำเข้า ในการกำจัดซากอิเล็กทรอนิกส์ โดย
1. เพิ่มศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงงานที่มีความพร้อมในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงศึกษารายละเอียดของต้นทุนความคุ้มค่าในการเก็บ รวบรวม การขนส่ง การถอดแยก การบำบัดการนำกลับมาใช้ใหม่และ การกำจัด
2. ส่งเสริมให้ผู้ผลิตทั้งที่เป็นผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco design) ถอดแยกชิ้นส่วนได้งาย สะดวกต่อการนำไปใช้ซ้ำ การรีไซเคิล การนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนและทุกภาคส่วน ในการแยกทิ้งซาก ผลิตภัณฑ์ฯ ออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป รวมทั้งอันตรายจากการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิซาการที่จะมีต่อสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยการประชาสัมพันธ์แบบเชิงรุกในหลากหลายช่องทาง และสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก เช่น สื่อออนไลน์ เพิ่มข้อมูลในการเรียนการสอนทุกระดับและรณรงค์ผ่าน สื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
4. เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมลงทุน สนับสนุนให้เกิด โรงงานอุตสาหกรรมรีไซเคิลหรือโรงงานอุตสาหกรรมประเภทจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ โดยมีการสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ และงบประมาณช่วยเหลือ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยสถานที่ตั้งโครงการควรตั้งในพื้นที่ที่กำหนด เพื่อสะดวกในกำกับดูแลและการควบคุมสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องส่งเสริมให้มีระบบเก็บรวบรวมและกำจัด ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลในชุมชน ขยะมูลฝอยติดเชื้อ ของเสียอันตราย และกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล โดยแยกประเภทซาก ผลิตภัณฑ์ฯ ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ทองแดงที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลหรือหลอมเพื่อนำกลับไปผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ธุรกิจก่อสร้าง เครื่องจักร และยานยนต์ ซึ่งวิธีการรื้อถอดแยกจะต้องเป็นหลักวิชาการด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างมลพิษตามมา
แม้ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะยังไม่ถูกบังคับใช้ และอยู่ในกระบวนการประชาพิจารณ์ แต่การมีร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่ทำให้ทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดการซากผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจัง และครอบคลุมทุกวงจรชีวิตอย่างเป็นระบบ
“กฎหมายตัวนี้มีขึ้นเพื่อที่จะทำให้ซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ถูกทำลายไปอย่างถูกวิธี โดยผู้ผลิตและผู้นำเข้าควรมีบทบาท ในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้สมดุลจะได้ไม่เกิดมลพิษเกิดขึ้นในโลก”
อ้างอิงงานวิจัย
การศึกษาวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
รองศาสตราจารย์ ดร.พรเพ็ญ ไตรพงษ์ และคณะ
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
โดยการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)