บอร์ดเกม

“เกมกระดาน เกมรุ่นเก๋า แต่ไม่เคยเก่าเลย”

“เกมกระดาน เกมรุ่นเก๋า แต่ไม่เคยเก่าเลย”
“นักสืบของอดีต” บอร์ดเกมชุดที่จะพาไปรู้จักเสน่ห์ในความหลากหลายของชาติพันธุ์
 
ในยุคสมัยที่เกมออนไลน์กำลังได้รับความนิยม แต่เสน่ห์ของบอร์ดเกมกลับไม่เคยจางหายไปไหน เพราะความน่าหลงไหลของเกมประเภทนี้ คือการเล่นแข่งเพื่อนแบบซึ่ง ๆ หน้า แบบชิงไหวชิงพริบกันภายใต้กติกา และบ่อยครั้งที่ความมั่ว ความแอบเล่นนอกกติกาของเพื่อนฝูงจะเรียกเสียงหัวเราะในระหว่างเล่นบอร์ดเกม ด้วยเสน่ห์ของเกมกระดานนี้เอง ทีมพัฒนาบอร์ดเกมชุด “นักสืบของอดีต” Double Vision – MHS ได้มองเห็นว่าบอร์ดเกมก็สามารถสื่อสารงานวิจัยทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยาของ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดชและคณะ ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญต้องสนุกโดนใจคนเล่นบอร์ดเกมอีกด้วย ในฐานะที่ทีมบาบูนฮับก็เล่นบอร์ดเกมเวลาพักเหมือนกัน งานนี้เราจะขออาสาพาชมบอร์ดเกมชุด “นักสืบของอดีต” ที่ให้ได้มากกว่าความบันเทิง เพราะเติมความรู้ในงานวิจัยประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ได้อย่างน่าสนใจ โครงการออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกม “นักสืบของอดีต” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และ วัฒนธรรมชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
งานวิจัยวัฒนธรรมโลงไม้

เมื่อโจทย์ใหญ่คือการนำงานวิจัยด้านโบราณคดี โดยเฉพาะ “งานวิจัยวัฒนธรรมโลงไม้” มาแปรรูปเป็นบอร์ดเกมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะทีมงานพัฒนาบอร์ดเกมไม่ได้ต้องการสร้างเกมให้จบ ๆ ไป โปรเจ็คนี้คืองานวิจัยเพื่อให้ได้บอร์ดเกมที่ต้องสนุกและยังสามารถคงหัวใจของงานวิจัยไว้ได้ นับเป็นนวัตกรรมในการออกแบบเกมที่พิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียดอย่างมาก ที่สำคัญคือต้องมีการทดสอบเกมจากกลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์ชาวไทใหญ่ ลาหู่แซแล ลาหู่ญี ลเวือะ ลีซู ปกาเกอะญอ คนเมืองและปะโอ เพื่อสร้างบอร์ดเกมที่มีความสมดุลระหว่างความสนุกและความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายทั้งคนชาติพันธุ์และคนเมืองถึง 3 เกม คือ เกมนักสืบชาติพันธุ์ เกมปริศนาโลงไม้ และเกมนักสืบของอดีต

นักสืบชาติพันธุ์

นักสืบชาติพันธุ์ เป็นเกมกระดานที่แฝงความรู้เชิงคติชนวิทยา (Folklore) ที่นำเสนอเสน่ห์ความหลากหลายของชาติพันธุ์ ออกมาเป็นเกมแนว Hidden Identity ผู้เล่นจะต้องสวมบทบาทเป็นหนึ่งชนเผ่า และแอบสืบหาประเพณีและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ของผู้เล่นคนอื่นให้เจอ โดยที่ไม่เปิดเผยชนเผ่าของตนเองให้ใครได้รู้ ด้วยกลไกของเกมที่เข้าใจง่าย ทำให้เกิดความสนุกได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่วยให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมผ่านตัวเกมได้อย่างกลมกลืนอีกด้วย

ปริศนาโลงไม้

ปริศนาโลงไม้ เป็นเกมจำลองภาพวิถีชีวิตวัฒนธรรมโลงไม้ใน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก ราว 1,000-2,300 ปีมาแล้ว ที่นำเสนอเกมในรูปแบบการควบคุมพื้นที่ (Area Control) ผู้เล่นจะได้จำลองการใช้ชีวิตเสมือนคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ผ่านเกมกระดาน มีลูกเล่นในการให้ผู้เล่นต้องหาของกิน และทำกิจกรรมให้ตัวเองอยู่รอด แถมยังต้องทำพิธีกรรมให้บรรพบุรุษในพื้นที่ และเก็บทรัพยากรเพื่อสร้างโลงไม้อีกด้วย นับเป็นเกมที่หยิบเอางานวิจัยด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์มาสะท้อนให้เห็นภาพในอดีตได้อย่างน่าสนใจ

นักสืบของอดีต

นักสืบของอดีต เป็นเกมที่เน้นเรื่องการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม ตัวเกมจะเป็นแนวควบคุมทรัพยากร (Resource Management) ที่ผู้เล่นแต่ละคนได้สวมบทเป็นนักโบราณคดี และต้องสร้างภาพในอดีตผ่านโครงการขุดค้น เกมนี้จะใช้ทักษะการแก้ไขปัญหาด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อสะสมคะแนนภายในรอบการเล่นที่จำกัด ผู้เล่นจะเพลิดเพลินกับการชิงไหวพริบในการตัดสินใจเพื่อชิงแต้มกับเพื่อน ๆ และได้เรียนรู้จัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่เป็นส่วนของการทํางานของโบราณคดีอีกด้วย

บอร์ดเกม

“สิ่งที่ผมหลงไหลในการเล่นบอร์ดเกม คือการได้เล่น ได้ปะทะสังสรรค์กับผู้อื่น ผมมองว่าบอร์ดเกมเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ อย่างหนึ่งที่ผมเชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูง และมีศักยภาพมากพอที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารงานวิจัย และยิ่งนักออกแบบไทยเองก็มีความสามารถทางด้านนี้กันอยู่แล้ว นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่บอร์ดเกมไทยสามารถช่วยขยายความรู้ได้กว้างขวางมากขึ้น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะเข้าใจงานวิจัยได้ง่ายขึ้นผ่านบอร์ดเกม” หนุ่มอารมณ์ดี คุณวริศ โดมทอง นักวิจัยด้านการพัฒนาเกม กล่าว 

บอร์ดเกม

“เพราะความรู้ของวัฒนธรรมโลงไม้ หรืองานวิจัยของ ศ. ดร. รัศมี ชูทรงเดช ไม่ได้แค่สร้างความรู้ให้กับประเทศไทยเท่านั้น นี่คือความรู้ในระดับภูมิภาค ที่ผมอยากจะส่งต่อให้กับเยาวชนและคนทุกวัย ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้งานวิจัยนี้เคี้ยวง่าย เข้าถึงได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพยายามแก้ปัญหาตอนนี้ก็คือ อยากให้บอร์ดเกมชุด “นับสืบของอดีต” สามารถทำราคาได้มากกว่านี้ เนื่องจากชุดต้นแบบที่เราผลิตยังมีราคาที่สูง หากได้ผู้สนับสนุนอาจจะสร้างโอกาสใหม่ ที่บอร์ดเกมจะเป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เกิดความเข้าอกเข้าใจในความหลากหลาย และหันมาดูแลซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น” นักออกแบบคารมดี คุณศุภร ชูทรงเดช หัวหน้าโครงการออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกมชุดกล่าว

Baboonhub

Baboonhub

บริษัทผลิตสื่อที่มีพลังกระตือรือร้น สร้างสรรค์ผลงาน และเล่าเรื่องที่มีความเฉพาะทาง โดยเฉพาะการสื่อสารองค์ความรู้ของผู้คน องค์กร ชุมชน และโครงการ (วิจัย) ระดับประเทศ

Articles: 93