ฟรีแลนซ์ไทย ชีวิตดีกว่านี้ได้ไหม?

ฟรีแลนซ์ไทย ชีวิตดีกว่านี้ได้ไหม?

เมื่อมองดูสภาพการจ้างานของตลาดแรงงานไทย พบว่ามีกลุ่มที่เรียกว่า แรงงานอิสระ หรือ แรงงานนอกระบบ อายุวัยทำงานระหว่าง 18-60 ปี อยู่ประมาณ 70% คำนิยามของกลุ่มแรงงานนอกระบบ คือแรงงานที่ไม่มีการจ้างงาน ไม่มีนายจ้าง และไม่มีเงินเดือนประจำ เดิมทีแรงงานนอกระบบ คือกลุ่มเกษตรกร แต่ในปัจจุบันมีการขยายตัวขึ้นไปยังกลุ่มผู้ใช้แรงงานอิสระ แรงงานรุ่นใหม่ แรงงานบริการ (เช่น ไรเดอร์) รวมถึงกลุ่มฟรีแลนซ์ ไม่ว่าจะเป็นดีไซเนอร์ นักวาด นักแต่งเพลง คนเขียนบท IT และ Finance
 
สิ่งที่เป็นผลกระทบตามมาต่อแรงงานนอกระบบ คือชั่วโมงการทำงานสูง แต่ค่าตอบแทนต่ำ และขาดการรวมตัวกันทำให้ถูกเอาเปรียบได้ง่าย ยิ่งเมื่อขึ้นชื่อว่าแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานอิสระ ทำให้คนกลุ่มนี้เหมือนอยู่นอกระบบ และได้รับสวัสดิการที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐกำหนด ไทยมีสวัสดิการที่มอบให้ตามกฎหมายที่เรียกว่า “ประกันสังคม” โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรา นั่นคือ มาตรา 33 สำหรับลูกจ้างในสถานประกอบการ มาตรา 39 ให้กับคนที่สมัครใจ โดยอาจจะเคยเป็นมาตรา 33 มาก่อน แต่ลาออกจากงานแล้ว และมาตรา 40 สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ
 
หากจะเล่าให้ละเอียดมากขึ้น ประกันสังคม มาตรา 40 ก็คือสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐจัดให้กับแรงงานนอกระบบ (คนที่เป็นฟรีแลนซ์ เป็นเจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการ) พวกเขาจะได้ความคุ้มครองเพียง 5 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร เท่านั้น โดยแรงงานอิสระจะมี 3 ทางเลือกเพื่อที่จะได้รับสิทธิประกันสังคม คือการจ่ายเงิน 70, 100 หรือ 300 บาท ซึ่งแต่ละทางเลือกจะให้สิทธิประโยชน์แตกต่างกันไปอีก หากเปรียบเทียบดูแล้ว เงินจำนวน 70, 100 และ 300 บาท ที่ต้องจ่ายต่อเดือนอาจจะเป็นจำนวนที่พอรับได้สำหรับบางคน แต่เมื่อเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำ การที่ประชาชนต้องควักเงินจ่าย 70 บาททุกเดือน อาจจะไม่จูงใจเพียงพอให้พวกเขาสมัครเข้าร่วมประกันสังคมมาตรานี้
 
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ศึกษาแนวทางการยกระดับประกันสังคมสู่ประกันสังคมถ้วนหน้า ผ่านการรีวิวโมเดลการคุ้มครองประกันสังคมแรงงานอิสระในต่างประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก เบลเยียม และเช็ก เนื่องจากทั้ง 4 ประเทศนี้ มีการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ในแง่ที่ว่าเปลี่ยนจากการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมสู่แรงงานสร้างสรรค์ และมีจำนวนแรงงานอิสระมากขึ้น
 
 
 
 
สาธารณรัฐเช็ก
พยายามดึงแรงงานเข้าสู่ระบบผ่านการลงทะเบียนเงื่อนไขต่าง ๆ ตามตัวแบบราชการรวมศูนย์ที่ใช้มาในศตวรรษที่ 20 แม้จะมีผลดีในการสร้างมาตรฐานเดียวกัน แต่ก็พบว่ายังไม่สอดคล้องกับรูปแบบการจ้างที่หลากหลาย ยืดหยุ่น และมีกลุ่มที่ตกหล่น
 
 
 
 
 
เบลเยียม
มีจุดเด่นคือการจัดสวัสดิการกลุ่มตามอาชีพ และก็พยายามจูงใจเยอะมากเลย ทำให้แรงงานเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมและผูกพันกับสวัสดิการที่จะได้รับ แต่ข้อจำกัดคือสิทธิประโยชน์มีความเหลื่อมล้ำตามกลุ่มอาชีพ และไม่สอดรับกับการเปลี่ยนสายอาชีพ
 
 
 
 
นอร์เวย์
มีสิทธิประโยชน์สำหรับแรงงานอิสระไม่มากนัก เพราะนอร์เวย์อาศัยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า (Welfare State) บวกกับรัฐสวัสดิการยืนพื้นที่ประกันรายได้ของผู้คน ทำให้ระบบรัฐสวัสดิการของประเทศมีความเข้มแข็ง มีเงินให้เด็ก ผู้สูงอายุ คนวันเรียน วัยทำงานสามารถเรียนฟรี และเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ได้เสมอ
 
 
 
 
เดนมาร์ก
มีทั้งระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และประกันสังคมส่วนเพิ่มสำหรับแรงงานอิสระ นั่นคือประเทศนี้มีช่องทางสำหรับแรงงานนอกระบบ (Self-employment) ที่เรียกว่า Flexicurity มาจากคำว่า Flexible บวกกับ Security ระบบ Flexicurity ทำให้ประชาชนในประเทศสามารถมี gap year ช่วงเวลาเปลี่ยนงานได้เยอะ เมื่อคนมีเวลาก็สามารถพัฒนาทักษะ reskill & upskill ไม่ต้องกังวลเรื่องหางานใหม่ทันที และได้งานที่เหมาะสมกับตนเอง เมื่อมองภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศก็จะเติบโต เพราะคนรู้สึกปลอดภัยเมื่อต้องเปลี่ยนงาน ว่างงานก็ยังมีสวัสดิการรองรับ

แต่ละประเทศพยายามพาคนเข้าสู่ระบบเพื่อบริหารจัดการได้อย่างทั่วถึง และครอบคลุม สำหรับประเทศไทยรูปแบบประกันสังคมยังไม่ดึงดูดพอ และคงต้องมองย้อนกลับไปว่าสิทธิประโยชน์ที่ให้กับคนสะท้อนถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้รับแล้วหรือยัง
Sutthida Muangrod

Sutthida Muangrod

ผู้ร่วมก่อตั้ง Baboonhub ที่ต้องการเชื่อมช่องว่างระหว่างงานวิจัยเชิงวิชาการ สู่การรับรู้ของสังคมอย่างสร้างสรรค์ บนฐานคิดที่เป็นเหตุและผล ชื่นชอบการมองหาโอกาสใหม่ในการสร้างสรรค์โครงการ และการลงพื้นที่เพื่อนำเรื่องราวออกมาสื่อสาร

Articles: 6