ant photo

มดจะไม่กัด หากมันไม่ได้กลิ่น ความซับซ้อนของ Receptor รับกลิ่น ที่เปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร

กลิ่นถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในชีวิตมด ถ้าคุณมีกลิ่นที่ไม่ใช่เพียงนิดเดียว แม้พวกเดียวกันก็อาจคิดว่าเป็นศัตรู นี่ทำให้ “มด” (Ant) จำเป็นต้องอาศัยกลิ่นในการแยกแยะสมาชิกในระดับซีเรียสกว่าที่พวกเราคิด 

นักวิจัยพยายามศึกษาธรรมชาติของมดต่อความสัมพันธ์ด้านกลิ่นมาสักพักแล้ว พวกมันมีชีวิตร่วมกันเป็นรังขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกพันๆตัว แต่เมื่อมีมดจากรังอื่นบุกรุกหรือหลงเข้ามา เจ้าถิ่นก็พร้อมคัดกรองและขับไล่ด้วยกำลัง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า มดแยกแยะกลิ่นของสมาชิกในฝูงและศัตรูได้อย่างไร

งานวิจัยล่าสุดจาก Vanderbilt University พบว่า มดมีตัวรับกลิ่น (Receptors) บริเวณปลายหนวด หากมันสูญเสียตัวรับนี้เท่ากับว่ามันตาบอด และแยกแยะไม่ได้ว่าใครคือศัตรูที่แท้จริง

จากความรู้เดิมว่า มดมีกฎง่ายๆหากอะไรที่แปลกปลอมเข้ามาในรัง มดพร้อมจะจู่โจม แต่งานวิจัยล่าสุดใน Journal of Experimental Biology ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า พฤติกรรมมดไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น เพราะแม้จะมีผู้บุกรุกเข้ามา แต่หากตัวรับกลิ่น Receptor สูญเสียการทำงาน ผู้บุกรุกก็สามารถเข้ามาในรังได้สบายๆโดยไม่ถูกตอบโต้ใดๆทั้งสิ้น   เพราะมดไม่สามารถแยกแยะผู้บุกรุกออกจากสมาชิกในฝูง

นักวิจัยทดลองโดยสร้างสนามปะลองขนาดจิ๋วแบบ Arena เพื่อให้มดสู้กัน แล้วนำมดทั้งจากรังเดียวกันและหลายแหล่งมาเผชิญหน้ากันเป็นการ Battle น่าจะดุเดือด มดคู่อริต่างรังปกติเจอหน้ากันจะเข้าซัดนัวเนีย แต่นักวิจัยทดลองรบกวนตัวรับกลิ่น Receptor กลายเป็นว่า พวกมันไม่สู้กัน ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว แถมยังคิดว่าเป็นพวกเดียวกันอีก

น่าสนใจว่า มดมีตัวรับกลิ่นมากถึง 400 Receptors แม้จะมีความสามารถในการรับกลิ่นมากมาย แต่หากถูกรบกวนก็ทำให้มดสับสนได้ งานวิจัยนี้กรุยทางสู่การทำความเข้าใจเรื่อง สัตว์สามารถระบุพวกเดียวกันได้อย่างไร  น่าจะมีอะไรซับซ้อนในเชิงเคมีกว่าที่พวกเราคิด

หรือหากเราจำลองกลิ่นที่มดคุ้นเคยได้ เราอาจไม่ต้องถูกกัด หรือมากไปกว่านั้นหากเราทำให้มดไม่ได้กลิ่น มันอาจสูญเสียความสามารถในการป้องกันรังไปเลยก็ได้!  แล้วจะดีกับมดไหมเนี้ย

อ้างอิงงานวิจัย
Functional characterization of odorant receptors in the ponerine ant, Harpegnathos saltator
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/28696298

Thanet Ratanakul

Thanet Ratanakul

ผู้ร่วมก่อตั้ง Baboonhub ที่สนใจอ่านงานวิจัยและอยากให้ Research Based Content เป็นที่นิยมมากขึ้น

Articles: 27