สำหรับมนุษย์นั้นการให้อาหารสัตว์ด้วยมือมักทำให้เราหลงเชื่อไปว่า สัตว์พวกนี้ “เชื่อง” ไม่ดุร้าย มีท่าทีดูน่ารักโดยเฉพาะกับสัตว์ป่า และเราก็ยังดันรู้สึกว่าเป็นคนใจบุญสุนทาน ขนาดสัตว์ป่ายังเห็นความโอบอ้อมอารีย์ของเราเสียอย่างนั้น
แต่ในความเป็นจริง การให้อาหารสัตว์ป่าผ่านมือเป็นเรื่องที่อันตราย นอกจากจะเสี่ยงเจ็บตัว ถูกสัตว์ทำร้าย (และเราอาจทำร้ายสัตว์) แต่อาจมีผลกระทบต่อศักยภาพในการเข้าสังคมของสัตว์ฝูงนั้นด้วย แม้พวกมันเข้าหามนุษย์บ่อยขึ้นก็จริง แต่มันอาจปฏิเสธพวกพ้องในฝูง และอาจเรียนรู้ว่าความสัมพันธ์ในฝูงมันไม่จำเป็นเสียแล้ว
มีรายงานว่า โลมาในแหล่งธรรมชาติของประเทศออสเตรเลีย ที่มนุษย์มักให้อาหารด้วยมือบ่อยๆ พวกมันเติบโตขึ้นโดยการขาดทักษะทางสังคมที่จำเป็นในฝูง และมีโอกาสตายมากขึ้นถึง 3 เท่า เพราะโลมาสูญเสียความสามารถในการเอาชีวิตรอดที่พึ่งพาการอยู่ร่วมกันของฝูงโลมา
โลมาปากขวด (Tursiops aduncus) มักพบได้บ่อยบริเวณชายฝั่งของประเทศออสเตรเลีย โดยเฉพาะบริเวณโซนนักท่องเที่ยว พวกมันมักได้รับอาหารจากผู้คนโดยตรง และธุรกิจท่องเที่ยวก็บูมมาก นำการให้อาหารโลมาด้วยมือ (hand-feeding) เป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว
แต่ผลปรากฏว่า โลมาปากขวดเพศผู้มีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น จากการต่อสู้กันเองเพื่อแย่งอาหารจากมือมนุษย์ และมีรายงานว่า โลมาเพศผู้ทำร้ายมนุษย์ด้วย ทางธุรกิจทัวร์จึงจำกัดกิจกรรมให้อาหารเฉพาะโลมาเพศเมียแทน
งานวิจัยพบว่า ลูกโลมาที่มักได้รับอาหารจากมือมนุษย์มีโอกาสรอดชีวิตถึงอายุ 3 ปีเพียง 38% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตรารอดชีวิตของลูกโลมาที่หากินในธรรมชาติอยู่ที่ 77% และพวกเขาพบว่า โลมามักมีพฤติกรรมแตกกลุ่มกัน ไม่ล่าปลาเป็นฝูง แต่จะพยายามเข้าหาฝั่ง หรือว่ายขนาบเรือเพื่อรอโอกาสที่มนุษย์จะให้อาหาร ทำให้พวกมันเสี่ยงบาดเจ็บจากการถูกเรือชน เกยตื้น และสูญเสียทักษะการสื่อสารในฝูงซึ่งจำเป็นมากต่อการรอดชีวิต
ดังนั้นการให้อาหารสัตว์ในธรรมชาติด้วยมือของมนุษย์นั้นสร้างข้อเสียที่ตามมาหลายประการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แม้พวกมันจะมีท่าทีออดอ้อนขออาหารน่ารักแค่ไหนก็ตาม มนุษย์ไม่ใช่แหล่งอาหารที่ยั่งยืนแม้แต่น้อย