สถานที่เหล่านี้คือแหล่งมรดกโลก ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เป็นตัวแทนแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรม ความงามจากการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมวลมนุษย์ หรือเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่มีความโดดเด่นอันเป็นสากล งดงามหาที่อื่นไม่ได้ ปัจจุบันทั่วโลกมีแหล่งมรดกโลกกว่า 1,154 แห่ง
แหล่งมรดกโลก (World Heritage Sites) คือ พื้นที่หรือจุดหลักที่ได้รับคัดเลือกจาก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO มีลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่น ๆ ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามสนธิสัญญา สถานที่เหล่านี้ถือว่าสำคัญต่อประโยชน์โดยรวมของมนุษยชาติ
นับตั้งแต่มีการลงนามรองรับในอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ในปี พ.ศ. 2515 แหล่งบัญชีมรดกโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องสร้างแนวทางในการปฏิบัติตามอนุสัญญา เพื่อประเมินผลกระทบด้านต่าง ๆ ในบริบทของแหล่งมรดกโลก ให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และพร้อมรับมือกับภัยคุกคาม ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การท่องเที่ยวเกินขนาด และการพัฒนาที่ขาดประสิทธิภาพ
การประเมินผลกระทบด้านมรดก (Heritage Impact Assessments หรือ HIAs) เป็นการประเมินที่เน้นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคุณค่าโดนเด่นอันเป็นสากลของแหล่งมรดก
การขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อมรดกโลกจะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์อย่างน้อยหนึ่งในสิบเกณฑ์ของ คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value) พร้อมกับข้อกำหนด ความเป็นของแท้ดั้งเดิม (Authenticity) ความครบถ้วนสมบูรณ์ (Integrity) และการป้องกันและการจัดการ (Protection and Management)