มองรอบตัววให้เป็นไอเดีย photo

มองรอบตัวให้เป็น ไอเดีย

มองรอบตัวให้เป็นไอเดีย

พูดคุยกับผู้ชนะเลิศการประกวด Young Maker Contest ปี 3

“ไอเดีย” อยู่ตรงไหนกันนะ บางครั้งเวลาเราอยากหากลับไม่เจอ แต่พอนั่งเพลินๆ ไอเดียก็จู่โจมฉับพลัน

บางคนอาจเริ่มต้นหาไอเดียจากสิ่งที่ชื่นชอบ หรือปมปัญหาเล็กๆ ที่ใครๆ ต่างมองข้าม แต่หากไอเดียเกิดขึ้นมาแล้วไม่ทำอะไรเลย ไอเดียของคุณก็ละลายเป็นอากาศธาตุไปในบันดล

ทำไอเดียให้เป็นงานสร้างสรรค์คือ นิยามของเหล่า Maker ที่แตกต่างจากนักเฟ้อฝัน

เราได้พูดคุยกับเหล่าผู้ชนะเลิศการประกวด Young Makers Contest ปี 3 เกี่ยวกับการมองหาไอเดีย รอบตัว และความประทับใจจากการไปร่วมงาน Maker Faire ที่สหรัฐอเมริกา

นี่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้คุณเปลี่ยนไอเดียมาเป็นผลงานที่สร้างสรรค์บ้างก็ได้

young maker contest photo

การพูดคุยกับผู้ชนะเลิศการประกวด Young Makers Contest ปี 3 จากโรงเรียนสตรีพัทลุง จังหวัดพัทลุง พบว่าจุดเริ่มต้นการสร้างสรรค์ไอเดียเกิดจากปัญหาใกล้ตัว อย่างเรื่องแหล่งน้ำเสียใกล้โรงเรียน จากเรื่องที่ดูเล็กๆ แต่พวกเขามองว่าไม่เล็กและต้องแก้ไขให้ได้

“แรงบันดาลใจเกิดจากปัญหารอบตัว ทำให้เราคิดไอเดียมาแก้ และทุกครั้งจะได้ประสบการณ์ใหม่เสมอ” สุรศักดิ์ ทองหิรัญศิริกล่าว

เมื่อผู้ประกวดมองเห็นปัญหาแหล่งน้ำเน่าเสียข้างโรงเรียน มาจากคราบน้ำมันของโรงงาน และปั๊มน้ำมัน ทำให้พวกเขาอยากจะกำจัดต้นตอของกลิ่น และน้ำเน่าเสีย นั่นคือคราบน้ำมัน เกิดเป็นไอเดีย “หุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ”
จากปัญหา สู่ไอเดีย และการสร้างสรรค์จริง ด้วยการสนับสนุนของ Young Makers Contest ปี 3 และทีมพี่เลี้ยง ทำให้จากไอเดียใกล้ตัว สู่ชิ้นงานประดิษฐ์จริง

“ผมชอบตอนที่คณะกรรมการลงมาที่โรงเรียน เพราะเขาทำการบ้านมาอย่างดี เขาจะถามตรงจุด ตรงประเด็น และแนะนำว่าตรงไหนควรปรับปรุง ตรงไหนควรดูเพิ่มเติม เขาใจดีและแนะนำหลายอย่างมาก ทำให้เราสามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขหุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกอย่างตรงจุด และสามารถใช้งานได้จริง” มานพ คงศักดิ์กล่าว

young maker contest photo

วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความพิเศษตรงที่ รุ่นพี่ของพวกเขาเคยชนะ Young Makers Contest ปี 2 ทำให้พวกเขาอยากได้รับโอกาสดีๆ เหมือนรุ่นพี่ และปรึกษาอาจารย์เพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการปี 3

“ปัญหามีมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าเวลากินหอย คนกินมักจะท้องเสีย เพราะกินกันสดๆ อยากทำให้ปัญหาที่มีมานานๆ แก้ไขให้หายไป” วัฒนพงศ์ เพชรรัตน์กล่าว

การหาไอเดียเริ่มต้นจากรอบๆ ชุมชน โดยพวกเขาคิดว่าต้องเกี่ยวกับธรรมชาติ และให้ประโยชน์กับชุมชนของตัวเองด้วย นูรุดดีน เจะปี ผู้ร่วมโครงการ สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของตนเองที่คนในครอบครัว และเครือญาติ ทำประมง ขณะที่วัฒนพงศ์ เพชรรัตน์ ชอบกินหอยนางรม ของดีขึ้นชื่อเมืองสุราษฎร์ธานี แต่ติดปัญหาเรื่องความสะอาดของหอยที่มักจะมีเศษดินปนเปื้อนทำให้ท้องเสีย เมื่อทั้งสองมาจับคู่กันจึงเกิดเป็นไอเดียสร้างสรรค์ “เครื่องล้างหอยนางรม หรือ Clean Oyster”

การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ไม่ได้มีแค่นักเรียน กับครู ที่ช่วยกันทำ แต่ชุมชนประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือและให้คำแนะนำ ทำให้เครื่องล้างหอยนางรมถูกพัฒนาตอบโจทย์ผู้ใช้ และใช้ประโยชน์ได้จริงๆ

“ประทับใจที่เครื่องได้ใช้จริง คนขายชอบใจ คนซื้อก็มั่นใจ” นูรุดดีนกล่าว

young maker contest photo

ผลจากความสำเร็จของนักเรียนที่ชนะการประกวด Young Makers Contest ปี 3 คือ การตอบโจทย์ความฝัน ให้เข้าร่วมงาน Maker Faire Bay Area 2019 ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมา

งาน Maker Faire คือการรวบรวมสิ่งประดิษฐ์ ความคิดสร้างสรรค์ และความกล้าคิด กล้าลงมือทำ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างโลกแห่งอนาคตร่วมกัน

มาดูกันว่าผู้ชนะการประกวด เมื่อพวกเขาได้ไปเห็นผลงานของคนอื่นบ้างจะเป็นอย่างไร

young maker contest photo

“Maker Faire เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากมีความรู้ด้านหุ่นยนต์มากขึ้น เพื่อนำความรู้มาเป็นผลงานอีกในอนาคต” มานพกล่าว

มานพ คงศักดิ์ ขณะที่เขาเข้าร่วมโครงการนั้น ยังอยู่ระดับชั้น ม.6 แต่ในวันนี้ เขาคือว่าที่นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การเข้าไปร่วมงาน Maker Faire ทำให้เขาเห็นนวัตกรรมทางด้านหุ่นยนต์ เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากพัฒนาตนเองให้มีความรู้ ความสามารถด้านหุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้น เพื่อที่ว่าในอนาคตเขาจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานด้านหุ่นยนต์ออกมาเพิ่มได้

“การเข้าร่วมงาน Maker Faire เป็นสิ่งที่ประทับใจที่สุด ผมชอบหุ่นยนต์ตัวใหญ่ที่ให้คนเข้าไปบังคับได้ คิดว่าเจ๋งที่สุดแล้ว” สุรศักดิ์กล่าว

เช่นเดียวกับ สุรศักดิ์ ทองหิรัญศิริ ที่กำลังเตรียมศึกษาต่อปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขาชอบเรื่องหุ่นยนต์ และกลไก ทำให้เมื่อได้เข้าร่วมงาน Maker Faire Bay Area 2019 เขาจึงชื่นชอบ Prosthesis หุ่นยนต์เคลื่อนที่บนทางวิบากที่มนุษย์ควบคุม 100%

young maker contest photo

“สิ่งประดิษฐ์บางอย่างเหมือนไม่มีประโยชน์มาก แต่เมื่อชอบ ลงมือทำ คนทำก็มีความสุข” นูรุดดีนกล่าว

นูรุดดีน เจะปี มีความตั้งใจก่อนเข้าร่วมโครงการว่าเขาอยากจะไปงาน Maker Faire เหมือนกับรุ่นพี่ในปีที่ผ่านๆ มา เมื่อได้ไปถึงงานทำให้ได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่หลากหลาย บางชิ้นงาน มองจากมุมคนข้างนอกอาจจะคิดว่ามีประโยชน์ไม่มากนัก แต่นูรุดดีนเชื่อว่าการได้ลงมือทำสิ่งที่ชอบ ส่งผลให้คนทำมีความสุขได้

“เราไม่ต้องทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เสมอ เพียงลงมือทำ เราก็คือ Maker แล้ว” วัฒนพงศ์กล่าว

วัฒนพงศ์ เพชรรัตน์ พบว่างาน Maker Faire คือพื้นที่เปิดกว้างให้เหล่า Maker โชว์สิ่งที่พวกเขาทำให้โลกเห็น ไม่ว่าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนั้นจะเล็ก ใหญ่ มีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์ เขาก็นำมาเผยแพร่ เพื่อบอกว่าการเป็น Maker ไม่ต้องทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เพียงแค่ทำสิ่งที่อยากทำ และทำสิ่งนั้นออกมาก็พอแล้ว

young maker contest photo

ถ้าคุณมีไอเดียเจ๋งๆ อย่าปล่อยให้มันละลายเป็นอากาศธาตุ ถึงเวลาเราที่จะต้องลงมือทำ
สู่การเป็น Maker คนต่อไป

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Young Makers Contest ปี 4 กับการค้นหานวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน สนใจรายละเอียด เข้าไปดูได้ที่ https://www.facebook.com/Chevron3D/ สมัครเข้าร่วมโครงการได้เลยตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 กรกฎาคม 2562 ที่ https://www.nstda.or.th/sims/login/

สังคมจะยั่งยืนได้อย่างไร อาจขึ้นอยู่กับความเป็น Maker ของคุณ

Sutthida Muangrod

Sutthida Muangrod

ผู้ร่วมก่อตั้ง Baboonhub ที่ต้องการเชื่อมช่องว่างระหว่างงานวิจัยเชิงวิชาการ สู่การรับรู้ของสังคมอย่างสร้างสรรค์ บนฐานคิดที่เป็นเหตุและผล ชื่นชอบการมองหาโอกาสใหม่ในการสร้างสรรค์โครงการ และการลงพื้นที่เพื่อนำเรื่องราวออกมาสื่อสาร

Articles: 6