ขนมไทยที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ

ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ

ข้าวยิ่งนุ่ม ยิ่งหอม น้ำตาลก็มากตาม ในยุคที่เทรนด์อาหารสุขภาพมาแรง ผลิตภัณณ์จากข้าวก็ควรพัฒนาด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อสุขภาพ ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถผลิตได้เองจากเทคโนโลยีไม่ซับซ้อน

ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ วิจัยตอบโจทย์ท้องถิ่น

ข้าวเป็นอาหารหลักของคนทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทย เราบริโคข้าวเป็นอาหารหลักมานานแล้ว ถึงขนาดมีคำพูดทักทายที่ติดปากกันว่า “กินข้าวมาหรือยัง”

อาหารหลักของคนไทยรวมถึงคนเอเชียด้วย ที่สำคัญคือข้าว เป็นอาหารคาร์โบไฮเดรต และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมบริโภคเป็นลำดับต้นๆ แล้วก็เริ่มขยายไปหลายส่วนทั่วโลก

ผลิตภัณฑ์จากข้าวมักจะมีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (High Glycemic Index) โดยเฉพาะข้าวนุ่มๆ เช่น ข้าวหอมมะลิ ซึ่งคนไทยนิยมบริโภคอยู่แล้ว เมื่อรับประทานข้าวชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเกิดกระบวนการย่อยเป็นน้ำตาล ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

แม้จะมีการรณรงค์ให้คนไทยหันมาบริโภคข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอรรี่ หรือข้าวมีสี ที่มีเม็ดแข็ง เนื่องจากค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า และมีวิตามินที่ดีต่อร่างกาย ความนิยมข้าวประเภทนี้ยังจำกัดขอบเขตในกลุ่มผู้รักษาสุขภาพเป็นส่วนใหญ่

“สิ่งที่มีในธรรมชาติมักจะสวนทางกัน รสชาติกับความอร่อยมักจะสวนทางกันกับสุขภาพ อย่างทุกวันนี้เราบริโภคน้ำตาลเยอะมาก บางทีเราอาจจะคิดว่าน้ำตาลที่เราบริโภคเกิดจากน้ำตาลที่เราเติมเข้าไป ความเป็นจริง อาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตทุกชนิดสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้หมด”

เส้นก๊วยเตี๋ยวอบแห้งน้ำตาลต่ำ

งานวิจัยตอบโจทย์ท้องถิ่น

“ผมเป็นนักวิจัยที่อยู่ในภูมิภาคภาคเหนือตอนล่าง ผมทำงานให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ซึ่งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกมียุทธศาสตร์เรื่องข้าว และเป็นภูมิภาคที่มีการปลูกข้าวกันเยอะ พิษณุโลก พิจิตร จังหวัดต่างๆ เหล่านี้ก็มีผลิตภัณฑ์จากข้าวจำนวนมาก และพื้นฐานผมมาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มีความสนใจและมีผู้ประกอบการหลายรายมาขอคำปรึกษา”

รองศาสตราจารย์ ดร.คงศักดิ์ ศรีแก้ว คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม นำเอาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวให้มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในพื้นที่ ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าว เป็นสินค้าแปรรูปที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ และตอบโจทย์ผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ และต้องการรับประมานอาหารที่มีรสชาติอร่อยด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.คงศักดิ์ ศรีแก้ว

“ในมุมมองของนักวิจัยเอง นักวิจัยต้องมองทั้ง 2 ส่วน คือในมุมของผู้ประกอบการเองต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าวให้มีความใหม่ เพื่อไปตอบโจทย์ใหม่ๆ เพิ่มมูลค่าของข้าว เราต้องช่วยผู้ประกอบการพัฒนาสิ่งใหม่เพื่อผู้บริโภค โดยที่ไม่เปลี่ยนอะไรเกินไป ในมุมมองของผู้บริโภคแน่นอนว่าต้องการบริโภคอาหารที่มีรสชาติอร่อย เขายังพึงพอใจในสิ่งนั้นอยู่”

จากการศึกษาวิจัยในช่วงแรก พบว่าปัจจัยที่ทำให้ข้าวแต่ละชนิดมีค่าดัชนีน้ำแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของแป้งที่อยู่ในข้าว โดยแบ่งแป้งได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ อะไมโลส (Amylose) และกับอะไมโลเพคติน (Amylopectin)

ข้าวหอมมะลิมีอะไมโลสที่ 17% พอดี ขณะที่ข้าวเสาไห้ และข้าวพิษณุโลก 2 ที่มีเนื้อสัมผัสแข็ง ร่วนซุย และหุงขึ้นหม้อ มีอะไมโลสประมาณ 20% ในบ้านเราใช้อะไมโลสเป็นตัวกำหนดคุณภาพของข้าว ยิ่งนุ่ม หอม และหวาน ปริมาณของสัดส่วนอะไทโลสจะน้อยลง

รศ. ดร.คงศักดิ์ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แปรรูปให้มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ผ่านการปรับคุณภาพของแป้งให้มีกระบวนการย่อยช้าลง ร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่หลายโครงการ องค์ความรู้เกิดการพัฒนา ร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ได้รับการทดลองจนประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ารักสุขภาพแต่อยากบริโภคอาหารรสชาติอร่อย

ผลิตภัณฑ์แรกๆ ที่ทำร่วมกับผู้ประกอบการ เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยวจากแป้งข้าวจ้าว เส้นขนมจีนจากแป้งข้าวเหนียว

“เราเริ่มอีกอันหนึ่งก็คือขนมไทยเพราะขนมไทยใช้แป้งข้าวเหนียวเยอะเลย มีการปรับส่วนประกอบ การปรับชนิดน้ำตาล ใช้เทคนิคคล้ายๆ กัน เรามีงานวิจัยออกมาเรื่อยๆ ตีพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ และผลิตบัณฑิตออกไปเรื่อยๆ”

ความก้าวหน้าของงานวิจัยอีกส่วนหนึ่ง คือการต่อยอดไปยังขนมไทยที่ทำจากข้าว เมนูขนมมีรสชาติหวาน และมัน ทั้งยังมีค่าดัชนีน้ำตาลสูง จึงกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการทำ

ขนมไทยที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ

งานวิจัยร่วมกับนักศึกษา และต่อยอดไปอีกขั้น เพื่อพัฒนาวิธีการตรวจวัดค่าดัชนีน้ำตาลให้ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ควบคุมคุณภาพได้เอง

“ในช่วง 2-3 ปีหลังผมมุ่งไปที่การพัฒนาวิธีการของการตรวจ ผมมุ่งไปที่การพัฒนาวิธีการของการตรวจวัดค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic index) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ในช่วงที่เขาผลิตเองด้วย ก็จะเป็นการพัฒนาวิธีการอย่างง่าย มากกว่าจะหาวิธีการที่มันยากเกินไป ผู้บริโภคสามารถที่จะวัดได้ ผู้ประกอบการสามารถที่จะนำไปใช้เพื่อควบคุมคุณภาพของเขาได้”

กินให้พอดี สร้างสมดุลให้ร่างกาย

“ร่างกายของคนเราต้องรักษาสมดุล เขาจึงต้องทำงานหนักมากเพื่อดึงระดับน้ำตาลให้คงที่ โดยที่เราไม่รู้ตัว เราอาจจะสนุก ชื่นชอบในรสชาติตามใจปาก แต่กลไกข้างใน เราไม่รูเลยว่าจะต้องดึงระดับน้ำตาลในเลือดขนาดไหนเพื่อดึงให้สม่ำเสมอ ให้ร่างกายอยู่ในสภาวะสมดุลตลอดเวลา”

การกินอาหาร หากตามใจปากจนเกินไป แน่นอนว่าร่างกายต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อรักษาสมดุลให้คงที่ แต่เมื่อเกิดตุการณ์ซ้ำๆ จนร่างกายต้องทำงานหนักซ้ำๆ ไม่นานร่างกายจะเสียสมดุล และเกิดโรคตามมาได้

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารกำลังขยับขึ้นไปทีละขั้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของตนเองได้ และผู้บริโภคสายรักสุขภาพ สามารถมีทางเลือกบริโภคอาหารหลากหลายขึ้น ให้ข้าวคงความอร่อย ทรงคุณค่า แต่ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ

อ้างอิงงานวิจัย

ผลิตภัณฑ์จากข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ

รองศาสตราจารย์ ดร.คงศักดิ์ ศรีแก้ว คณะเทคโนโลยีเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

สนับสนุนการวิจัยโดย สกสว.

ผลิตโดย บริษัท บาบูนฮับ จำกัด ภายใต้การรับทุน “โครงการผลิตสื่อสารคดีดิจิตอลเพื่อสื่อสารงานวิจัย (ปีที่ 2)”

ข้อมูลเพิ่มเติมจากงานวิจัย

Glycemic Index (GI) หรือดัชนีน้ำตาล เป็นค่าที่ทำให้เราทราบว่าอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตต่างๆ ที่รับประทานเข้าไปนั้น ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดมากน้อยเพียงใด โดยจัดแบ่งประเภทอาหารตามค่าดัชนีน้ำตาลได้ 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ มีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 55
  • กลุ่มที่มีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลาง อยู่ในช่วง 56-75
  • กลุ่มที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง มีค่ามากกว่า 75

อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตจากอาหารชนิดนั้นถูกย่อยและดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว การบริโภคอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงในปริมาณมากและสม่ำเสมอ จะทำให้ร่างกายต้องควบคุมระดับน้ำตาลที่สูงนั้นให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะทำให้มีโอกาสอ้วนได้ง่ายจากการที่ร่างกายเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นไขมันสะสม ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยเฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ดังนั้น การบริโภคอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำในปริมาณที่พอเหมาะ จึงเป็นคำแนะนำสำหรับผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย เนื่องจากส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว

Baboonhub

Baboonhub

บริษัทผลิตสื่อที่มีพลังกระตือรือร้น สร้างสรรค์ผลงาน และเล่าเรื่องที่มีความเฉพาะทาง โดยเฉพาะการสื่อสารองค์ความรู้ของผู้คน องค์กร ชุมชน และโครงการ (วิจัย) ระดับประเทศ

Articles: 94