“เจ๊ะเห” ภาษาถิ่นตากใบ

“เจ๊ะเห” ภาษาถิ่นตากใบ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ

“มาจี๋กือไหน” คำทักทายภาษาเจ๊ะเห ที่เราอาจจะได้ยินบ่อย ๆ เวลาไปเที่ยวจังหวัดนราธิวาส แต่ภาษาเจ๊ะเหไม่ใช่สำเนียงใต้ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย อย่าง “กินข้าวแล้วหมีสู” เป็นภาษาเจ๊ะเห ส่วน “กินข้าวแล้วม้าย” เป็นภาษาถิ่นใต้ 2 ภาษาที่อยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง แต่สำเนียงการพูดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แล้วแบบไหนเรียกภาษาเจ๊ะเห?

เจ๊ะเห ภาษาไพเราะ อัตลักษณ์เฉพาะของคนตากใบ

“ภาษาเจ๊ะเห” หรือ “ภาษาตากใบ” มีลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ คือ สำเนียงที่เนิบช้าและนุ่มนวล เป็นวัฒนธรรมทางด้านภาษาของจังหวัดนราธิวาสในตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ ที่เชื่อกันว่าเกิดจากการผสมผสานภาษาระหว่างสุโขทัยโบราณ ภาษาใต้ และภาษามลายู เนื่องจากตอนที่สุโขทัยเป็นราชธานี ได้มีขุนนางและข้าราชบริพารมาปกครองอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส และได้เผยแพร่สำเนียงภาษาจนเกิดเป็นสำเนียงใต้แบบเจ๊ะเหขึ้น

ภาษาเจ๊ะเหถือว่ามีความโดดเด่นไม่แพ้สำเนียงใต้อื่น ๆ อย่างภาษามลายูหรือยาวี โดยภาษาเจ๊ะเหยังถือว่าเป็นภาษาของชาวไทยพุทธอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้พูดภาษาตากใบประมาณ 60,000-70,000 คน โดยกระจายตัวอยู่ในจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส นครศรีธรรมราช (บางส่วน) และพื้นที่บางส่วนในประเทศมาเลเซีย (ศิลปวัฒนธรรม, 2567)

ตัวอย่างภาษาเจ๊ะเห

  • โลกกือจี๋น แปลว่า พริก
  • ร็อดที้บ แปลว่า จักรยาน
  • โลกกึไต๋ แปลว่า สะตอ
  • พาร่าย แปลว่า ผ้าขี้ริ้ว
  • กือแจ๋ง แปลว่า ตะกร้า

นอกจากนี้ ประโยคคำถามในภาษาเจ๊ะเหจะต่างกับประโยคคำถามในภาษาถิ่นใต้ทั่วไป คือใช้คำว่า “หมี” หรือ “หมิ” เป็นคำลงท้ายแทนคำว่า “ไหม” หรือ “แล้วยัง” เช่น 

  • สูกินข้าวแล้วหมี แปลว่า คุณทานข้าวแล้วยัง
  • เราไปเรกันหมีไปแล่นต่ำกือนา แปลว่า ไปเที่ยวกันไหม ไปเล่นแถวทุ่งนา
  • กือหนมแอ๋หร่อยหมี แปลว่า ขนมอร่อยไหม

ภาษาเจ๊ะเหในทุกวันนี้ยังใช้กันอยู่แพร่หลายในจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะอำเภอตากใบที่อนุรักษ์เอาไว้ และเมื่อปี พ.ศ. 2556 กระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนภาษาเจ๊ะเหให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เป็นความภาคภูมิใจของชาวนราธิวาส เพื่อให้ภาษาเจ๊ะเหได้รับการดูแลและมั่นใจว่าจะไม่สูญหาย

ถ้ามีโอกาสได้ลงใต้มาเที่ยวตากใบ แล้วเจอภาษาเจ๊ะเหก็อย่าได้ตกใจกัน ลองพูดคุยกับคนในพื้นที่ เรียนรู้ความหมาย แล้วจะหลงเสน่ห์ภาษาของตากใบ

มาเต้อะมาเรตากใบกัน!

Thitiporn Maneesang

Thitiporn Maneesang

Project Coordinator ที่ถนัดการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้คนกับข้อมูล ชอบพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งใหม่ ๆ และมีความสนใจในการถ่ายทอดเรื่องราวเชิงพื้นที่

Articles: 9