Leaning Human Anatomy photo

ไม่ต้องเรียนหมอ ก็ผ่าศพจริงได้

ในยุคที่ทุกคนสามารถหาความรู้ได้เท่าเทียมกัน แม้คุณจะเป็นคนธรรมดาที่เพียงแต่หลงใหลความลับของร่างกาย ไม่ได้อยากเป็นแพทย์รักษาคน คุณก็มีสิทธิเรียนรู้ความมหัศจรรย์ของร่างกายผ่าน ‘ศพจริง’ เพราะร่างกายมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของทุกคน มิใช่สิ่งที่สงวนไว้เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยกระแสความนิยมอันแสนเปิดกว้างนี้ จึงทำให้เกิดสถาบัน Cadaver School for non medical หลายแห่งในต่างประเทศ ที่สามารถเรียนรู้กายวิภาคสำหรับบุคคลทั่วไปที่ดูน่าหลงใหลไม่ต่างจากเรียนโยคะ ทำสมาธิ หรือไปเรียนชงกาแฟ มาผ่าศพกันเลย ถ้าคุณใคร่รู้และใจถึงพอ

ความลับของร่างกายทุกคนมีสิทธิไขร่วมกัน

เมื่อถึงช่วงเวลาที่ชีวิตถูกอิทธิพลของโรคภัยรุมเร้า คุณจะเริ่มตั้งคำถามเล็กๆ ในใจว่า กลไกอะไรในร่างกายที่มันทำงานไม่ปกติเอาเสียเลย กล้ามเนื้อ อวัยวะ หลอดเลือด กระดูก ฯลฯ ทำงานผสานสัมพันธ์กันอย่างไรในวันที่ดีและร้าย แม้เราจะเรียนรู้ร่างกายมาอย่างคร่าวๆ แล้วในระดับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่หากอยากศึกษาให้ลึกกว่านี้ เป็นไปได้ไหมที่คุณไม่จำเป็นต้องเรียนแพทย์?

ความรู้สึกอยากสำรวจอวัยวะภายในอาจดูแปลกและฮาร์ดคอร์ไปนิด แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกมองพิลึก เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่สนใจร่างกายของมนุษย์ ซึ่งพวกเขามี ‘จิตแข็ง’ พอสมควร จนหนังสือกายวิภาคตื่นเต้นน้อยไป ละเอียดน้อยไป และไม่สามารถสัมผัสได้จริง ถ้าคุณคือคนที่ใช่ สถาบันสอนกายภาพจาก ‘ศพจริง’ เป็นสิ่งที่คุณต้องการ และสังคมเราควรริเริ่มให้มีได้เช่นกัน

“เป็นครั้งแรกที่ฉันรู้สึกว่า สิ่งที่เรียนรู้มาตลอดทั้งชีวิตมันคลิกก็ต่อเมื่ออยู่หน้าศพ”

ครูสอนโยคะได้กล่าวความประทับใจไว้ เมื่อได้มาเรียนคอร์สสั้นๆ กับสถาบัน Colorado Learning Center of Human Anatomy ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยที่นี่เป็นหนึ่งในสถาบันอีกหลายสิบแห่งที่เปิดสอนให้คนทั่วไปศึกษาร่างกายมนุษย์ด้วยศพจริง มีนักเรียนต่างอายุจากหลากหลายอาชีพมาเรียนรู้ร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านแพทย์ พวกเขามีโอกาสหยิบชิ้นอวัยวะด้วยตนเอง ปอด ตับ หัวใจ กระดูก ซึ่งการมีโอกาสสัมผัสอวัยวะภายในจริงๆ ได้เปลี่ยนผัสสะในการมองชีวิตไปตลอดกาล ราวกับได้เพ่งอสุภะ (การเพ่งศพ) แต่เน้นให้เกิดการระเบิดทางความรู้มากกว่าปลงสังเวชของชีวิต ร่างกายของพวกเราเป็นพื้นที่อันกว้างใหญ่ของความลับที่เหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด

ในอดีตความรู้ด้านกายวิภาคเป็น ‘ของหวง’ ในสายตาบุคลากรทางการแพทย์ มีคนเพียงหยิบมือเดียวในสังคมท่านั้นที่ได้เห็นอวัยวะภายในร่างกายจริงๆ แต่ปัจจุบันแนวโน้มความเปิดกว้างทางการศึกษาทำให้เกิด platforms เรียนรู้ใหม่ๆ ในเชิงพาณิชย์ที่ไม่จำกัดสายวิชาชีพต่อการเรียนรู้กายวิภาค

ซึ่งในคลาสของบุคคลทั่วไป อาจไม่ได้ลงรายละเอียดซับซ้อนเพื่อให้คุณไปรักษามนุษย์เป็นๆ แบบเดียวกับแพทย์ (ถึงคุณจะมาเรียนคอร์สกายวิภาคแล้ว ก็ไม่มีสิทธิจะอ้างไปผ่าคนอื่นได้) แต่เน้นการทำความเข้าใจกลไกร่างกายในบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยสอดแทรกความรู้เรื่อง กล้ามเนื้อ ระบบประสาทในร่างกาย ระบบโลหิต กลไกทำงานของหัวใจ ข้อต่อในการเคลื่อนไหว จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อทุกอย่างทำงานผิดพลาดร่างกายจะแสดงออกอย่างไร ทุกสัปดาห์มีผู้เรียนจากหลายสาขาสายอาชีพจะมาชุมนุมกันที่สถาบัน พวกเขาเป็นทั้งนักกฎหมาย นักสื่อสาร ครูสอนโยคะ วิศวกร หรือแม้กระทั้งพ่อบ้านแม่บ้านที่อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมในวันสุดสัปดาห์ โดยที่ไม่ต้องลางานมาหรือทำข้อสอบส่งท้ายชั่วโมง ซึ่งศพที่ให้ผู้เรียนชันสูตรนั้นล้วนมาจากมีผู้ประสงค์บริจาคร่างกายให้กับสถาบัน Colorado Learning Center of Human Anatomy

ทุกคนที่ลงสมัครเรียนคอร์สสั้นๆ แม้จะมีจิตแข็งแค่ไหน เมื่อเผชิญหน้ากับศพจริงก็มีหวั่นไหวบ้างเป็นธรรมดา ซึ่งนักเรียนจะได้รับชุดมาตรฐานที่ต้องใส่ระหว่างกิจกรรม ชุดกาวน์ ถุงมือยาง หน้ากากชุบน้ำมันยูคาลิปตัสที่ช่วยลดกลิ่นฉุนจัดของศพที่รักษาไว้ด้วยน้ำยาฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) หรือคุ้นกันในชื่อฟอร์มาลิน (Formalin) จากนั้นวิทยากรจะเริ่มพลิกศพโดยการนำสำรวจร่างกายต่างๆ ที่ถูกผ่าไว้ก่อนหน้า ขึ้นอยู่กับว่าคอร์สนั้นมีวัตถุประสงค์เรียนรู้เรื่องอะไรเป็นสำคัญ

ความตายที่อดีตไม่ต้องการ แต่ปัจจุบันสนใจ

การยุ่งเกี่ยวกับความตายเป็น taboo ของทุกสังคมมาอย่างเนิ่นนาน ไม่ค่อยมีใครอยากข้องแวะกับคนที่มีธุระกับคนตาย เช่น มือประหาร สัปเหร่อ คนจัดงานศพ เพราะผู้คนมักกลัวว่าจะนำเสนียดจัญไรติดตัวทำอะไรก็ไม่ขึ้น จึงทำให้ชีวิตนักเรียนแพทย์ไม่ง่าย พวกเขาเป็นกลุ่มคนน้อยนิดที่มีโอกาสผ่าศพเพื่อศึกษาโครงสร้างร่างกายมนุษย์ แต่หากมองย้อนไปมันก็ไม่ได้สะดวกเหมือนทุกวันนี้ที่เรามีเทคโนโลยี MRI ในการสแกนร่างกายมนุษย์

แพทย์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ยังต้องขวนขวายหาสื่อการเรียนด้วยตัวเอง จนกระทั่งต้องทำเรื่องผิดกฎหมายและหลักศีลธรรมอยู่บ่อยครั้งในการ ‘ขุดขโมยศพ’ (cadaver robbery) จากสุสาน ซื้อศพต่อจากนักขโมยมืออาชีพ หรือขอซื้อเอาดื้อๆ จากคนจนในเขตสลัม ทางเลือกในการศึกษามีไม่มากและล้วนทำกันในเงามืดของสังคม จนต้องยอมรับว่า แพทย์ที่มีชื่อเสียงในช่วงศตวรรษที่ 19 ล้วนศึกษาศพจากแหล่งที่มาไม่โปร่งใสนัก แต่ก็ได้กรุยทางศาสตร์แห่งการแพทย์ไว้อย่างมากมาย

แม้ในยุคปัจจุบันที่เรามีสื่อการสอนการแพทย์นำสมัยเป็นกุรุสแล้ว ทั้งภาพจำลอง 3 มิติความละเอียดสูงโมเดลเสมือนการสวมใส่ VR เข้าไปสำรวจอวัยวะภายใน ภาพสแกน MRI แบบ real-time ที่เห็นกลไกการทำงานของร่างกาย แต่จากความเห็นของคนในแวดวงแพทย์แล้วของเหล่านี้ยังเทียบไม่ได้กับศพจริงที่ยากจะถูกจำลองให้เหมือน ทั้งผิวสัมผัส น้ำหนัก รูปทรง เมื่ออวัยวะแต่ละชิ้นมาอยู่รวมกันรูปทรงสัณฐานจะเปลี่ยนไปอย่างไร ศพจริงจึงเป็นสื่อการเรียนการสอนอันเป็นธรรมชาติที่สุดหาเทคนิคใดๆ เทียบได้ยาก

ศพที่สถาบัน Cadaver School for nonmedical เหล่านี้นำมาให้คนทั่วไปศึกษามีแหล่งที่มาอย่างไร?

โชคดีที่ทุกอย่างทำถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีใครเสี่ยงคุกเพื่อไปขุดศพจากสุสานเก่าๆ อีกแล้ว (ระยะหลังชาวคริสต์ก็ไม่นิยมฝังศพ พวกเขาเลือกที่จะเผา หรือนำร่างตัวเองเป็นแหล่งเพาะชำปลูกต้นไม้ผ่านบริษัท start-up ใหม่ๆ ที่ทำธุรกิจจัดงานศพแบบเป็นมิตรกับธรรมชาติโดยไอเดีย 108) ศพทั้งหมดล้วนมาจากการบริจาคของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวโคโลราโด สหรัฐอเมริกาฯ ที่ค่อนข้างมีทัศนคติเปิดกว้างต่อความตายมากขึ้น พวกเขาเชื่อว่าร่างกายมนุษย์นั้นยังมีประโยชน์อยู่มาก ไม่ควรฝังทิ้งไปเฉยๆ ยอดบริจาคศพเพื่อการศึกษาจึงสูงกว่าในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งคนบริจาคส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากสายวิทย์ฯ โดยตรง ล้วนมาจากคนอาชีพทั่วไป ทั้งทนาย แรงงานก่อสร้าง เจ้าหน้าที่หน่วยราชการ ที่สามารถพบปะได้ทั่วไปในสังคม แต่พวกเขาก็ยังเห็นแง่มุมที่งดงามจากการศึกษาวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตามผู้บริจาคทุกคนสามารถเขียนความประสงค์ (ขณะยังมีชีวิต) ว่าพวกเขาอยากให้ร่างกายของตนเองถูกใช้เพื่อศึกษาในด้านอะไรบ้าง จัดอยู่ในคลาสไหน อนุญาตให้ผ่าส่วนไหนได้ โดยผู้ฝึกสอนจะบอกข้อมูลละเอียดให้กับผู้เรียนได้รู้ว่าร่างที่เรากำลังใช้ศึกษา เจ้าของเป็นใคร ทำอาชีพอะไรมาขณะมีชีวิต ทำให้เกิดความเคารพในร่างกาย และปฏิบัติอย่างให้เกียรติกันแม้กับผู้วายชนม์ที่จากไปแล้ว เหลือร่างอุทิศไว้เพื่อการเรียนรู้

ศพที่ทำการศึกษาในคลาสจะถูกเรียกว่า teacher (อาจจะคล้ายกับที่นักศึกษาแพทย์ไทยเรียก ‘อาจารย์ใหญ่’) โดยเมื่อเลิกคลาสแล้ว ผู้สอนจะกล่าวประโยคปิดท้าย “Please, thank the teachers in your own way tonight” เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแต่ละคนเลือกทำความเคารพอาจารย์ในหนทางของพวกเขาเอง ถอดชุดกาวน์ ถุงมือ และหน้ากากที่หน้าห้องเรียน แล้วกลับไปใช้ชีวิตของตัวเองต่อไป สัปดาห์หน้าค่อยมาพบกันใหม่ ทุกอย่างเรียบง่าย สงบนิ่ง แต่หนักแน่นและติดค้างในความทรงจำยากที่จะลืมเลือน

โลกแห่งการเรียนรู้ยุคใหม่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปอย่างมาก แม้กระทั่งต่อ ‘ความตายและการมีชีวิต’ ถึงพวกเราจะมีชีวิตมายาวนานแต่กลับรู้น้อยมากเกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง สิ่งละอันพันละน้อยที่ทำให้คุณเป็น ‘คนพิเศษ’ มนุษย์ไม่ได้จู่ๆ ก็กระโดดดึ๋งมาพร้อมความสมบูรณ์แบบ (และเราก็ยังไม่ได้ใกล้เคียงนัก) พวกเราล้วนถูกเสริมเติมแต่งด้วยชิ้นส่วนแห่งวัฒนาการจากสิ่งละอันพันละน้อยตลอดเวลานับล้านๆ ปี ทุกพื้นที่บนตัวคุณคือพื้นที่แห่งการเรียนรู้อันไม่มีวันจบสิ้น ร่างกายมนุษย์จึงเป็นหนังสือที่ไม่มีวันอ่านจบ และไม่มีทางเบื่อ

Thanet Ratanakul

Thanet Ratanakul

ผู้ร่วมก่อตั้ง Baboonhub ที่สนใจอ่านงานวิจัยและอยากให้ Research Based Content เป็นที่นิยมมากขึ้น

Articles: 27