ฐานข้อมูลการศึกษาแนวทางการฟื้นฟูชุมชนเมือง

เมืองที่เราอยู่อาศัยได้เติบโตขึ้นทุกวินาที การเติบโตนี้ถูกเร่งเร้าเพื่อรองรับความต้องการของผู้คน ความฝัน และความปรารถนา ซึ่งเมืองควรพัฒนาให้สอดคล้องกับคุณภาพชีวิตของมนุษย์  จึงจะก่อให้เกิดกิจกรรม การใช้สอย การหารายได้ และการพักผ่อน

แต่ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเจริญเติบโตของเมืองและชุมชนในประเทศไทยโดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร  มีการพัฒนาแบบ “รวมศูนย์กลาง” มาตั้งแต่อดีต เกิดการขยายตัวของประชากรแบบก้าวกระโดดจนกลายเป็นเมืองโตเดี่ยว และยังคงขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรูปแบบการพัฒนาเมืองที่ผ่านมานั้น มุ่งเน้นไปที่ “การขยายเมืองแนวราบ” ไปยังแผ่ขยายไปยังพื้นที่ชานเมือง (Suburbanization) ในขณะที่พื้นที่เมืองชั้นในหลายพื้นที่เริ่มมีความเสื่อมโทรมอย่างเห็นได้ชัดตามกาลเวลา และไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  เพราะขาดแผนแม่บทในการกำหนดยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเมืองอย่างรอบด้าน

กรุงเทพฯ ขยายตัวแบบแผ่กระจายเป็นแนวราบมาตลอด ตั้งแต่สมัยก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ทุก ๆ ครั้งที่เราขยายตัวออกมานอกเมืองที่เป็นเมืองแนวราบ เรากลับใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญที่จะต้องมุ่งเน้นการพัฒนา คือต้องทำให้เขตชั้นในของกรุงเทพฯ (ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ชานเมืองมาก่อน) ให้กลายเป็นพื้นที่ศักยภาพ เข้าไปฟื้นฟู และสร้างความหนาแน่นเพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสให้คนเมืองมีที่อยู่อาศัย

หลายทศวรรษได้ผ่านไปนั้นส่งผลให้พื้นที่เมืองชั้นในของกรุงเทพฯ เผชิญกับปัจจัยท้าทายมากมาย สภาพเมืองเริ่มปรากฏความเสื่อมโทรมอย่างเห็นได้ชัด ทั้งปัญหาการจัดการขยะ การจราจรที่ติดขัด ปัญหาด้านสาธารณสุข รวมไปถึงความปลอดภัยต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่ลดลง

พื้นที่ชั้นในของเมืองไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้ง ๆ ที่พื้นที่เหล่านี้มีศักยภาพสูงในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นความท้าทายของศตวรรษก็ว่าได้ ที่มนุษย์จะต้องหาแนวทางการฟื้นฟูเมืองบนฐานข้อมูล ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ด้วยความท้าทายนี้หน่วยงานการเคหะแห่งชาติ จึงเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการศึกษา “แนวทางและความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง ตามแผนพัฒนาเมืองและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ” นำไปสู่การพัฒนาชุมชนและเมืองอย่างยั่งยืน เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ปัจจุบัน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยภายในชุมชนเมือง ให้ตอบสนองกลยุทธ์การพัฒนา โครงการที่อยู่อาศัย โดยคำนึงถึงคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองหลวง เป็นพื้นที่เป้าหมายหลักในการที่เราต้องพัฒนาทางเลือกทางเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งกรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก มีความต้องการทางด้านที่อยู่อาศัยสูง โดยเฉพาะงานวิจัยครั้งนี้ เรามุ่งเป้าเพื่อที่จะฟื้นฟูเมือง และทำเป็นกรณีศึกษาฟื้นฟูเมืองเพื่อการอยู่อาศัย ก็ต้องนำข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์ดูร่วมกันว่าเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปทิศทางไหน

ด้วยความท้าทายนี้ “การเคหะแห่งชาติ” จึงเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการศึกษา “แนวทางและความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง ตามแผนพัฒนาเมืองและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ”  นำไปสู่การพัฒนาชุมชนและเมืองอย่างยั่งยืน เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ปัจจุบัน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยภายในชุมชนเมือง ให้ตอบสนองกลยุทธ์การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เพื่อให้บรรลุผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว การจัดทำฐานข้อมูลชุมชนเมือง และจัดทำแผนที่ชุมชนเมือง รวมไปถึงการจัดทำแผนที่โครงการนำร่องและฐานข้อมูลโครงการนำร่อง และการจัดทำผังแสดงความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูชุมชน เป็นขั้นตอนการดำเนินงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อนำไปสู่การศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาเชิงพื้นที่ของชุมชนเมืองในกรุงเทพมหานคร ที่อาจเป็นอุปสรรคให้การพัฒนาไม่เป็นไปตามเป้าหมายของการพัฒนา หรือไม่สอดคล้องกับการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ พร้อมทั้งลำดับความสำคัญของพื้นที่ เพื่อคัดเลือกพื้นที่นำร่องในการศึกษา การดำเนินงานจัดแผนที่ชุมชนเมืองและการจัดทำฐานข้อมูลชุมชนเมืองจะเป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อใช้ในการศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง ตามแผนพัฒนาเมืองและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ

“โครงการฟื้นฟูเมืองค่อนข้างเป็นโครงการใหม่ของการเคหะแห่งชาติเพราะฉะนั้นข้อมูลต่าง ๆ ต้องครบถ้วน แล้วก็บ่งบอกถึงความพร้อมว่าเราจะทำโครงการนี้หรือไม่ และจะประสบความสำเร็จแค่ไหน เราต้องประยุกต์ใช้หลายข้อมูล อย่างเช่นข้อมูลเกี่ยวกับด้านกายภาพ ว่าสภาพเดิมของพื้นที่ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง และอีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของสังคมในเชิงลึก เราต้องลงไปสำรวจข้อมูลพวกนี้ สิ่งที่ได้รับคือการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้อยู่อาศัยในชุมชน” อาจารย์ ดร. พีรียา บุญชัยพฤกษ์ กล่าว

Big Data เผยหน้าตาของเมือง

อีกสิ่งสำคัญที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกคือ Open Data ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเมืองล้วนสร้างชุดข้อมูล ทำให้เห็นพลวัตรที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่ข้อมูลเหล่านี้ต้องบริหารจัดการ และจัดเก็บอย่างเป็นระบบ นี่เองข้อมูลจึงกลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมใหม่ เป็นตัวแทนในการทำความเข้าใจสังคมอย่างร่วมสมัย เราจึงเรียกยุคนี้ว่า “ยุคแห่งการขับเคลื่อนและชี้นำด้วยข้อมูล (Datafication) และเศรษฐกิจจากข้อมูล (Information Economy)”

การศึกษาในครั้งนี้ก็เช่นกัน นับเป็นการสำรวจและรวบรวมข้อมูลโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับพื้นที่ และข้อมูลพื้นฐานเมืองเชิงพื้นที่ที่ปรากฎในช่วงปี 2558 – 2563 จากนั้นแปลงเป็นแผนที่ดิจิทัลข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS โดยแบ่งข้อมูลระดับชุมชนเมืองออกเป็น 9 กลุ่มข้อมูล ได้แก่

  1. โครงข่ายการคมนาคมและการเข้าถึงของเมืองทั้งรูปแบบถนน รถไฟฟ้า เรือ และอื่น ๆ
  2. จุดบริการสาธารณะและระบบสาธารณูปการของเมือง ที่แสดงให้เห็นความเป็นศูนย์กลางของชุมชนเมือง
  3. ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน การตั้งถิ่นฐาน ตำแหน่งชุมชน รูปแปลงที่ดิน และกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน
  4. โครงข่ายพื้นที่สีเขียว และโครงสร้างเมืองตามธรรมชาติ
  5. โครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับพื้นที่ของภาครัฐทั้งระดับประเทศและท้องถิ่นในพื้นที่ศึกษา
  6. กฎหมายผังเมืองรวมและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน
  7. สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย และแนวโน้มการพัฒนาเชิงพื้นที่ของการอยู่อาศัยในอนาคต
  8. คุณภาพของโครงข่ายถนนและสัณฐานของเมืองด้วยเทคนิคสเปซซินแทกซ์
  9. ข้อมูลเชิงพื้นที่บนรูปแบบการเปรียบเทียบด้วยรูปแบบ grid layout และ hexagon ที่สามารถนำไปสู่การวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบปัญหาและศักยภาพ

ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเมืองที่มีประสิทธิภาพ และตอบรับกับปัญหาเชิงพื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี

“เราจำเป็นต้องเอาข้อมูลที่มีหน้าตาหลากหลายรูปแบบมาเปรียบเทียบกันได้ ก็คือต้องสร้างฐานในการวิเคราะห์แบบเดียวกัน Grid เป็นการวางตัวของ Units of Analysis ลงไปในพื้นที่ เพื่อที่จะให้เกิดการเปรียบเทียบเชิงพื้นที่ให้ง่ายขึ้น เนื่องจากข้อมูลมีทั้งแบบจุด แบบเส้น แบบอื่น ๆ หน่วยงานไหนที่ดูแลพื้นที่ตรงไหน สามารถทราบได้เลยว่า มีปัญหาอะไร ศักยภาพเป็นยังไง ควรจะชี้นำไปสู่แนวทางการพัฒนาเป็นแบบไหน” อาจารย์ ดร. พีรียา บุญชัยพฤกษ์ กล่าว 

จากงานวิจัยมีข้อค้นพบที่โดดเด่น 3 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 ความสามารถในการเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก พบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการกระจายตัวของศูนย์การค้า ตลาด สถานศึกษา สวนสาธารณะ และสถานพยาบาลอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะตลาดและตลาดนัดมีการกระจายเข้าไปอยู่ในทุกชุมชน ส่วนศูนย์การค้า สถานศึกษา และสถานพยาบาลมีการกระจุกตัวมากในพื้นที่ชั้นใน

ขณะที่สวนสาธารณะ ลานกีฬา และพื้นที่สาธารณะ แม้จะกระจายอย่างทั่วถึงแต่มีระยะทางไกล ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินภายใน 15 นาที ฝั่งธนบุรีดูเหมือนมีพื้นที่เกษตรกรรมเยอะ แต่ไม่ใช่พื้นที่สีเขียวที่เราจะไปใช้พักผ่อนได้ เพราะเป็นที่เอกชนเจ้าของไม่ได้เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ

03

ประเด็นที่ 2 ความสามารถในการเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายถนน ข้อมูลทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงจำนวนบ้าน พบว่าเมืองมีการขยายตัวตามโครงข่ายรถไฟฟ้า 13 สาย แต่คนกรุงเทพฯ ไม่สามารถเดินเท้าถึงรถไฟฟ้าได้ภายใน 15 นาที เนื่องจากโครงข่ายของถนนไม่อำนวยความสะดวกเพียงพอ

04

“ในขณะที่เมืองขยายไปตามพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้า มีจำนวนบ้านเปลี่ยนแปลงมากจนน่าสนใจ อย่างเช่น พื้นที่บางหว้า ท่าพระ เป็นเรื่องของการเปิดรถไฟฟ้าใหม่ มีทั้งสายสีเขียว มีทั้งสายสีน้ำเงิน และมีการสร้างคอนโดมิเนียมเยอะมาก แต่กลายเป็นก้อนที่กระจุกตัวและเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่หนาแน่นค่อนข้างมาก อีกประเด็นคือพื้นที่ที่เข้าถึงรถไฟฟ้าได้จริง ๆ ในการเดินเท้าได้มีอยู่จำนวนน้อยมาก หรือจะไปถึงได้ภายใน 15 นาที หรือ 2 กิโลเมตรก็น้อยมากเช่นกัน เพราะฉะนั้นแม้ว่า เรามีรถไฟฟ้า 13 สายแล้ว แต่กลับไม่สามารถที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงระบบมวลชนหลักนี้ได้อย่างง่ายดาย เพราะว่ารูปแบบโครงข่ายของถนนเราไม่สอดคล้อง หรือกระทั่งไม่เปิดพื้นที่ใหม่” อาจารย์ ดร. พีรียา บุญชัยพฤกษ์ กล่าว 

ประเด็นที่ 3 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเมือง  จากการวิจัยพบว่า การขยายตัวของเมืองเกี่ยวข้องกับโครงข่ายรถไฟฟ้า

05

ฝั่งธนบุรีเกิดขึ้นในย่านท่าพระ บางแค วุฒากาศ และบางหว้า ขณะที่ฝั่งตะวันออก อยู่ในย่านพระโขนง อุดมสุข

การขยายตัวที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในทิศเหนือ คือ สะพานควาย จตุจักร และบางเขน แต่กลับชะลอตัวลงในเขตกลางเมือง

มีการย้ายออกในพื้นที่เมืองเก่า เช่น พระนคร ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย และสัมพันธวงศ์

ส่วนพื้นที่กลางเมืองที่มีความน่าสนใจ เพราะมีการย้ายเข้าในอัตราร้อยละที่ดี ได้แก่ ย่านบางรัก สี่พระยา และพื้นที่ใหม่น่าจับตามองคือ ย่านปิ่นเกล้า และจรัญสนิทวงศ์ ที่มีการเติบโตค่อนข้างดี

จากการสำรวจเชิงข้อมูลในมิติต่าง เราจะได้ข้อสรุปของพื้นที่ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูเมือง ภายใต้กรอบแนวคิดการสร้างความสมดุลระหว่างแหล่งงานและที่อยู่อาศัย ได้แก่ เคหะห้วยขวาง เคหะดินแดง เคหะบ่อนไก่ บ้านพิบูลเวศม์ ชุมชนทุ่งมหาเมฆชุมชนยมราช และชุมชนโค้งรถไฟยมราช ชุมชนริมน้ำ และชุมชนวัดเครือวัลย์ ชุมชนปรกอรุณ ชุมชนวัดหงศ์รัตนาราม ชุมชนซอยพิพัฒน์ และชุมชนศรีเวียง

จากการศึกษา “แนวทางและความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง ตามแผนพัฒนาเมืองและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ” พบว่าเคหะชุมชนบ่อนไก่เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง เหมาะสมสำหรับศึกษาเป็นโครงการนำร่อง เนื่องจากตั้งอยู่กลางเมือง มีแหล่งงานอยู่โดยรอบ

การอ่านข้อมูลเมืองโดยเปิดให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก นับเป็นก้าวที่สำคัญให้เกิดความสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนเมือง เมื่อข้อมูลมีความถูกต้อง รอบด้าน ทำให้การตัดสินใจอยู่บนหลักการ ช่วยให้เกิดความโปร่งใสในการทำงาน และเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น การศึกษานี้จะนำไปสู่การวางรากฐานของการฟื้นฟูพื้นที่เมืองชั้นใน ให้ใช้งานพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น พัฒนาและแก้ปัญหาเมืองให้ตอบรับการเปลี่ยนแปลงของเมืองในอนาคต

Baboonhub

Baboonhub

บริษัทผลิตสื่อที่มีพลังกระตือรือร้น สร้างสรรค์ผลงาน และเล่าเรื่องที่มีความเฉพาะทาง โดยเฉพาะการสื่อสารองค์ความรู้ของผู้คน องค์กร ชุมชน และโครงการ (วิจัย) ระดับประเทศ

Articles: 93