กุเลาเค็ม

“ปลากุเลาเค็ม” ที่ทำให้ลืมทุกปลาเค็ม

ราชาแห่งท้องทะเลคือ “ปลากุเลา” และถ้าคุณเคยชิมปลากุเลาเค็ม คุณจะลืมทุกปลาเค็มที่เคยรู้จัก งานวิจัยท้องถิ่นที่ค้นหา “ทุนชุมชน” สู่รายได้ยั่งยืน

โอรังปันตัย อาหารทะเลจากชุมชน ที่คืนศักดิ์ศรีความเป็นคน

“อยากให้ไปถ่ายทำสารคดีวิจัยที่จังหวัดปัตตานีกันนะ” เป็นคำฝากฝังจากเจ้าหน้าที่ สกสว. ในความรู้สึกทั้งย้ำและกำชับให้ไปเยือนแหล่งงานวิจัย ทำให้เราขับรถจากกรุงเทพฯ ลงใต้ มีจุดมุ่งหมาย ต.ตันหยงเปาว์ จ.ปัตตานี พื้นที่ทับซ้อนกึ่งสีแดงนิด ๆ เราจะไปหาคำตอบว่าทำไมเจ้าหน้าที่ สกสว. ถึงได้ย้ำนักย้ำหนาอยากให้ไป

ย้อนกลับไปปี 2530 ปัญหาทรัพยากรเสื่อมโทรมเกิดขึ้นกับตอนใต้ของไทย โดยเฉพาะอ่าวปัตตานี เมื่อเรือประมงขนาดใหญ่ใช้เครื่องมือทำลายล้าง ประเภทอวนรุน และอวนลาก กวาดล้างทุกสิ่งในทะเลไปหมด ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่ชาวบ้านใช้ดำรงชีพลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

โอรังปันตัย

การแก้ไขปัญหาร่วมกันผ่านการประสานความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อขับดันเรือประมงขนาดใหญ่ออกนอกพื้นที่ โดยการเรียกร้องให้ออกกฎหมายห้ามใช้เครื่องมืออวนกับเครื่องยนต์ ในพื้นที่ของจังหวัดปัตตานีเป็นที่แรกที่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังทำการอนุรักษ์ และฟื้นฟู เช่น ปล่อยพันธุ์สัตว์ ปลูกประการังเทียม ส่งผลให้ทรัพยากรฟื้นคืนมา และอุดมสมบูรณ์กว่าวันวาน

“ปัญหาในชุมชนเกิดขึ้นมากมาย เมื่อก่อนเราพยายามแก้ปัญหาบ้านใครบ้านมัน หลังจากนั้นเรามีการรวมตัวกัน ในปี 2536 เป็นชมรมประมงพื้นบ้านชาวปัตตานี วัตถุประสงค์ของการตั้งช่วงนั้นคือการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรให้สมบูรณ์คืนมาเหมือนกับในอดีต และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ชาวประมงให้ดีขึ้น เราพยายามทำหลายเรื่องทั้งในเรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟู การผลักดันในเชิงนโยบาย ทำเกือบทุกวิธีการแล้ว” มูหามะสุกรี มะสะนิง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย กล่าว

มูหามะสุกรี มะสะนิง

งานวิจัย + ทุนชุมชน คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย

“นิยามของคำว่าประมงพื้นบ้านคือกลุ่มคนที่จับสัตว์น้ำตามฤดูกาล จับสัตว์น้ำโตได้ขนาด คำว่าฤดูกาลหมายถึงว่าจับสัตว์น้ำช่วงที่เยอะที่สุดในแต่ละช่วง อย่างกุ้งช่วงนี้เยอะก็ไปจับกุ้ง ปลาทูตอนนี้เยอะเราก็ไปจับปลาทู เมื่อมีการจับสัตว์น้ำได้เยอะเกินความต้องการของผู้บริโภคที่ค่อนข้างมีขีดจำกัด ทำให้ราคาสินค้าของเราแทบจะไม่กระเตื้องขึ้น” แบสุกรีกล่าว

แม้ปัญหาทรัพยากรได้รับแก้ไขแล้ว แต่สิ่งที่ฝังรากลึกยังไม่ได้รับการแก้ไขคือ ราคาของสัตว์น้ำไม่เคยขยับ ขณะที่ต้นทุนมีราคาสูงขึ้น นำไปสู่การวิจัยค้นหาทุนทางเศรษฐกิจของชุมชนประมงพื้นบ้าน เพื่อนําไปสู่การพัฒนาทิศทางในการแก้ไขปัญหาของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม

“ท่ามกลางปัญหาที่หลากหลายเข้ามาในชุมชน เราจึงสร้างกระบวนการที่เป็นรูปธรรมจากงานวิจัยที่จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาของชุมชน” แบสุกรีกล่าว

ปัจจัยเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านรายได้ของชาวประมงพื้นบ้าน พวกเขาไม่ต้องรอคอยเพียงแค่ขายสัตว์น้ำตามราคาที่คนอื่นตั้งให้ แต่พวกเขาลุกขึ้นมารวมตัวจัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย” มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำอาหารทะเลสดส่งตรงถึงมือผู้บริโภค แปรรูปสัตว์น้ำ เช่น ปลากุเลาเค็ม กุ้งแก้ว หมึกตากแห้ง และแบ่งรายได้ 10% ทุกการขายกลับคืนสู่ธรรมชาติผ่านการอนุรักษ์ พวกเขาเชื่อว่านี่จะทำให้อาชีพประมงพื้นบ้านเกิดความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และตอบโจทย์ปากท้องได้ด้วย

“ชาวบ้านเขามีพลังด้วยตัวเขาเอง เพียงแต่ว่าพลังเหล่านี้อยู่กระจัดกระจาย หน้าที่ของเราคือทำยังไงให้เขาเห็นภาพกว้างกว่าหน่วยวิเคราะห์ในชุมชน หรือเพียงแค่เพื่อนบ้านไม่กี่บ้าน เราทำให้เขาเห็นภาพรวมต่อจิ๊กซอว์ให้เห็น เมื่อการวิเคราะห์เล็กๆ ของแต่ละชุมชนมารวมกัน ถึงแม้ปัญหานี้จะใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันพลังของเขาก็ใหญ่เหมือนกัน ทำให้เขาสามารถแก้ได้ทุกอย่างเลย เราเชื่อว่าทุกที่มีพลังที่จะแก้ปัญหาของตัวเอง หากเขารวมตัวกัน” สุวิมล พิริยธนาลัย พี่เลี้ยงงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นพื้นที่อ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี กล่าว

รสชาติของปลากุเลาเค็ม เทียบกับปลาอินทรีย์เค็ม ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันได้ไหม

โดยปกติแล้ว คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีกับปลาอินทรีย์เค็ม แต่พอได้ยินชื่อ ปลากุเลาเค็ม ผลิตภัณฑ์เด่นของโอรังปันตัย หน้าตาจะเป็นยังไง รสชาติจะเหมือนปลาอินทรีย์เค็มหรือเปล่า

ปลากุเลาเค็ม
ปลากุเลาเค็ม

ถ้าเรากินปลาอินทรีย์เค็มมาแล้ว แล้วไปกินปลากุเลาเค็ม เราจะไม่นึกถึงอีกเลย ว่ารสชาติของปลาอินทรีย์มันเป็นยังไง เพราะว่ากุเลาคือ ราชาของปลาเค็ม ใครได้ลิ้มลองแล้วจะลืมปลาเค็มที่เคยรู้จักมาทั้งหมดเลย

“รสชาติของปลากุเลาใช้เนื้อปลาอย่างอื่นแทนไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลากุเลาแปรรูปของกลุ่ม เพราะเราใส่ใจเริ่มจากการคัดสรรวัตถุดิบ บวกกับการใช้เกลือท้องถิ่นปัตตานี และที่สำคัญที่สุดคือ เราไม่เจือปนสารเคมีใดๆ เพื่อให้สินค้าปลอดภัยกับผู้บริโภคมากที่สุด” แบสุกรีกล่าว

งานวิจัยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

จากการได้พูดคุยกับทีมงานวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ยืนยันได้ว่างานวิจัยท้องถิ่นนั้น ชาวบ้าน และชุมชนเป็นคนคิดและลงมือทำเอง เพราะพวกเขาคือผู้ประสบปัญหา ผ่านการลองผิดลองถูกจนได้สูตรที่ลงตัว พร้อมทั้งคอยแก้จุดผิดพลาดอยู่เสมอ จนได้องค์ความรู้ที่ภาคภูมิใจ และเป็นพลังเข้มแข็งสามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้

“เราพิสูจน์ว่างานวิจัยสามารถสร้างพลังและนำไปสู่การแก้ปัญหาของชุมชนได้ เรามักพูดเสมอว่างานวิจัยของเราคือ วิจัยกินได้ ไม่ใช่แค่หาองค์ความรู้ไปเรื่อยๆ แต่ชุมชนสามารถต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ และดูแลทะเลให้เกิดความยั่งยืนออกไปชั่วลูกชั่วหลาน” แบสุกรีกล่าว

โอรังปันตัย
โอรังปันตัย
โอรังปันตัย

ความภูมิใจของแบสุกรี คืออะไร

“อันแรกสุดคือเรารู้สึกว่าเราภูมิใจ เราได้นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสื่อสารกับคนข้างนอก ภายใต้ผลิตภัณฑ์ของเราเอง ภายใต้แบรนด์ของเราเอง ตัวที่สองคือว่าเราไม่ได้ขายแค่ปลาอย่างเดียว แต่เราขายเรื่องราวของชาวประมงพื้นบ้าน ผ่านการสื่อสารกับผู้บริโภคเพื่อบอกว่า ชาวประมงพื้นบ้านเขามีวิถีชิวิตยังไง เขาดูแลกันยังไง ได้ทรัพยากรสัตว์น้ำมายังไง สิ่งเหล่านี้คือความภาคภูมิใจที่เราได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ดีๆ เรื่องราวดีๆ ไปสู่สังคม ไปสู่ผู้บริโภค” แบสุกรีกล่าว

จากวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ที่เราตามเรื่องราวเข้ามายังปัตตานี ผ่านเส้นทางแสนคดเคี้ยว แต่กลับเปิดโลกอันกว้างใหญ่ ว่าชาวประมงพื้นบ้านต้องผ่านการต่อสู้ การทำวิจัย และการลองผิดลองถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า นานนับสิบๆ ปี

ความภาคภูมิใจผ่านการบอกเล่าเรื่องราวของแบสุกรี พี่สุ และชาวประมงพื้นบ้านคนอื่นทำให้เราเห็นถึงเสน่ห์ปัตตานี เสน่ห์โอรังปันตัย

สัมภาษณ์

โครงการสร้างปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาทุนชุมชนสู่ทุนทางเศรษฐกิจของชุมชนประมงพื้นบ้านปัตตานี

มูหามะสุกรี มะสะนิง นักวิจัย และประธานวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย
สุวิมล พิริยธนาลัย ผู้ประสานงานโครงการ

สนับสนุนการวิจัยโดย สกสว.

ผลิตโดย บริษัท บาบูนฮับ จำกัด ภายใต้การรับทุน “โครงการผลิตสื่อสารคดีดิจิตอลเพื่อสื่อสารงานวิจัย (ปีที่ 2)”

Baboonhub

Baboonhub

บริษัทผลิตสื่อที่มีพลังกระตือรือร้น สร้างสรรค์ผลงาน และเล่าเรื่องที่มีความเฉพาะทาง โดยเฉพาะการสื่อสารองค์ความรู้ของผู้คน องค์กร ชุมชน และโครงการ (วิจัย) ระดับประเทศ

Articles: 93