student feautred photo

เกิดมาบ้านจน สมองต้องจนด้วยไหม การเติบโตในสังคมอัตคัด ส่งผลถึงกายภาพสมอง

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น” แต่ถ้าคุณเติบโตมาในสังคมที่ไม่มีทรัพยากรเอื้อให้เกิดความพยายามเลย สมองของมนุษย์จะผันแปรตามปัจจัยของทรัพยากรอย่างไร

จากการศึกษาหลายชิ้นเปิดเผยความเชื่อมโยงระหว่าง ‘ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ’ กับพัฒนาการทางสมองของเด็กๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เด็กที่เกิดในครอบครัวและสังคมยากจน มีความหนาของสมองส่วน Cortex น้อยกว่าในช่วงพัฒนาการเรียนรู้ เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กๆ ที่เติบโตในครอบครัวที่ฐานะดีกว่า

อย่างไรก็ตามวิทยาศาสตร์พยายามหาต้นตอของปัญหาเพื่อหยุดยั้งช่องว่างความไม่สมดุลดังกล่าว แม้พวกเราจะเติบโตท่ามกลางความยากจนข้นแค้น แต่พวกเราจะสามารถมีพัฒนาการทางสมองที่ดีขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร?

ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทอง

ลองจินตนาการถึงช่วงเวลาเป็นเด็กของคุณอีกครั้ง แม้มันจะไม่ใช่ประสบการณ์ที่น่าจดจำนักสำหรับหลายๆคน เพราะ ‘ความจน’ ดูเหมือนจะเป็นญาติสนิทเพียงคนเดียวที่เข้ามาทักทายทุกวัน คุณไปโรงเรียนโดยที่ไม่มีข้าวตกถึงท้องสักมื้อ ทนเรียนในคาบเช้าหิวไส้กิ่วเพื่อรอเวลาอาหารกลางวันฟรี เงินที่แม่ให้มามันช่างน้อยนิดจนอาจไม่พอสำหรับนั่งรถกลับบ้าน ทุกวันได้ยินแต่พ่อกับแม่ทะเลาะเรื่องค่าใช้จ่ายและหนี้สิน แม้คุณอยากจะเดินหนีออกไปให้พ้นๆ แต่ในละแวกหมู่บ้านพอตกค่ำก็มีเหตุจี้ปล้นเกิดขึ้นทุกคืน

เรารู้กันอยู่เต็มอกว่าเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมมีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตของเยาวชนและเด็กที่กำลังเกิดใหม่ แม้เราจะคาดหวังถึงระบบการศึกษาที่เท่าเทียมกันเพื่อหวังเป็นวัคซีนทุเลาความจน แต่นักสังคมศาสตร์ต่างรู้ดีว่า ‘มันทำได้ยากกว่าที่คิด’

รายได้ของครอบครัวคุณส่งอิทธิพลอย่างสูงในการกำหนดคุณภาพการศึกษา อาชีพการงานในอนาคต และการเข้าถึงสาธารณสุขที่ดี รวมไปถึงความปลอดภัยทางสังคมที่การันตีอนาคตได้ดีกว่า

นักวิจัยด้านการศึกษา Sean Reardon จากมหาวิทยาลัย Stanford นำเสนอการค้นพบหลังจากเขาวิเคราะห์ว่าสถานะทางการเงินของครอบครัวมีผลกระทบต่อการศึกษาอย่างไร ซึ่งผลค่อนข้างชัดเจน

นักเรียนในระดับมัธยมที่มีฐานะทางสังคมยากจน ทำคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ลงมาถึง 4 ระดับ เมื่อเทียบกับเด็กที่ครอบครัวมีฐานะปานกลางจนถึงดี โดยเฉพาะทักษะด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ และพวกเขามีอุปสรรคมากกว่าคนอื่นๆ หากต้องการจะสำเร็จการศึกษาในระดับสูง ซึ่งทำให้การเข้าถึงตำแหน่งงานดีๆ ยาก

ช่องว่างเหล่านี้รู้จักกันในชื่อ ‘Income achievement gap’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรแล้วในปัจจุบัน คนที่ทำงานในแวดวงการศึกษาเข้าใจปรากฏการณ์นี้มาร่วมครึ่งศตวรรษ แต่อย่างไรก็ตาม หลักฐานใหม่ๆ จากความก้าวหน้าของวิทยาการด้านประสาทวิทยา (Neurosciences) เริ่มปรากฏผลงานที่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆในช่วง 10 ปีให้หลัง เพื่อให้นักสังคมศาสตร์มองอย่างเชื่อมโยงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และกายภาพสิ่งมีชีวิต

เรากำลังจะดำดิ่งไปยังสมองให้เห็นพัฒนาการ ว่าความจนมีบทบาทต่อการเจริญเติบโตของสมองอย่างไร ในลักษณะทางกายภาพ เป็นไปได้ไหมที่สมองของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงจากความจนอย่างแท้จริง

สมองใต้ความจน

ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ พวกเรามี ‘เกรย์แมตเตอร์’ (Gray Matter) ซึ่งเป็นที่รวมของเซลล์ประสาท และแอกซอนไม่มีเยื่อหุ้มส่วนชั้นในอย่าง ‘ไวท์ แมตเตอร์’ (White Matter) อัดแน่นเต็มไปหมด เด็กเกิดใหม่มีเซลล์ประสาทจำนวนมากกว่าความต้องการ ณ ขณะนั้นเสียอีก สมองจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เหมาะสมตามศักยภาพ สมกับเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งที่เติบโตและเรียนรู้ สร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

แต่ในช่วงพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กจวบจนเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น สมองส่วนที่เรียกว่า ‘Neocortical Gray Matter’ กลับมีความบางเฉียบ ซึ่งสมองส่วนนี้ประกอบไปด้วยสมอง Cortex หนาถึง 6 ชั้น ทำหน้าที่ควบคุมการรับรู้ การใช้ภาษา ความคิด และการกระทำต่าง สมองส่วนนี้ยังมีความพรุนของเซลล์สมองอยู่ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เมื่อพวกเราเจริญเติบโต ไวท์แมตเตอร์ จะเข้าเติมเต็มความพรุนนั้น และทำให้โครงสร้างประสาทเชื่อมโยงได้ดียิ่งขึ้น

คราวนี้ ‘Social Economic Status (SES)’ หรือ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ของเด็กๆ ถูกนำมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่ง SES นี้น่าจะมีอิทธิพลต่อสมองด้วยตามทฤษฏี เราใช้ปัจจัยจากรายได้ของครอบครัว การศึกษา อาชีพ แต่อย่างไรก็ตามมันยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจำกัดความตามความเป็นจริงของเด็กๆ ที่เผชิญ เพราะแน่นอนว่าการเติบโตจากครอบครัวที่ยากจน ล้วนเต็มไปด้วยปัจจัยที่บ่อนทำลายสุขภาพ เด็กจนไม่มีทางเข้าถึงสารอาหารที่มีคุณค่า หรือมักได้รับการศึกษาในโรงเรียนไม่ได้คุณภาพ โครงสร้างภาษาที่ใช้ก็แย่ ที่สำคัญพวกเขาไม่ได้มองตัวเองในจุดที่สูงของชีวิตเหมือนเด็กคนอื่นๆ สมองจึงมีพัฒนาการที่ต่ำกว่ามาตรฐานตามสมมติฐาน

ตัวอย่างสุดคลาสสิคที่จุดประกายการทดลองระยะหลังๆ คืองานวิจัยจากรั้วมหาวิทยาลัย California ร่วมกับ Berkeley ที่ทำการทดลองในยุค 1960 โดยศึกษาในหนูที่เติบโตมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน กลุ่มหนึ่งเติบโตมาโดยไม่มีกิจกรรมอะไรเลยให้พวกมันทำ ขณะอีกกลุ่มได้ออกแรงปั่นจักร ได้พบสมาชิกหนูตัวอื่นๆ และได้รับน้ำและอาหารอย่างเหมาะสม

การอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่มีทางเลือกเป็นชะนักที่ทำให้หนูกลุ่มแรกมีพัฒนาการที่ช้ากว่า พวกมันตอบสนองอย่างขาดไหวพริบ แต่การศึกษาครั้งนั้นเป็นเพียงการจุดประกาย เพราะหากจะทำความเข้าใจสมองมนุษย์จากการทดลองในหนู ก็ดูไม่แฟร์นัก และดูผิดจรรยาบรรณไม่น้อย แต่มันกลายเป็นแรงผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ดังกล่าว

จวบจนปี 2001 นักจิตวิทยา Charles A. Nelson III จากมหาวิทยาลัย Harvard และ Maryland ลงมือสำรวจเด็กกำพร้าจากประเทศโรมาเนีย หลังผ่านเหตุสงครามที่ได้พังประเทศไปเป็นแถบๆ เด็กๆต้องอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา โดยปราศจากพ่อแม่ พวกเขามีระดับการรับรู้ต่ำมาก สติปัญญาต่ำ และการพัฒนาทางอารมณ์ไม่มั่นคง เมื่อเทียบกับเด็กๆที่ได้รับอุปการะจากพ่อแม่บุญธรรม

สู่นวัตกรรม MRI

นวัตกรรม MRI การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก เปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการศึกษาพัฒนาการทางสมอง มันเป็นเครื่องมือสืบสวนระบบประสาทที่มีความไวมากกว่า CT และสมองส่วนที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงให้ความสนใจคือ Cortex ในสมองของเด็กๆ ที่อยู่ในขั้นเจริญเติบโต

Allyson Mackey และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย MIT ใช้เทคโนโลยี MRI สแกนสมองของอาสาสมัคร 58 ราย จากโรงเรียนมัธยม โดยแยกระหว่างเด็กมาจากครอบครัวที่ยากจน และครอบครัวที่มีรายได้สูง พวกเขาพบว่าความหนาของ Cortex มีความแตกต่างกัน เด็กจากครอบครัวที่ฐานรายได้ต่ำมีความบางของ Cortex มากกว่า
จากนั้นงานวิจัยส่งต่อไปถึงมหาวิทยาลัย Columbia เพื่อขยายผลมากยิ่งขึ้นโดยทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง 1,099 ราย อายุตั้งแต่ 3 ขวบ ถึง 20 ปี พบเนื้อที่สมอง Cortex มีความหนากว่าในกลุ่มเด็กฐานะดี แต่เริ่มไม่แตกต่างมากนั้น หากครอบครัวนั้นทำรายได้ถึง 50,000 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 1,500,000 บาท)

จากนั้นพวกเขาเอาข้อมูลมาทำสถิติเชิงเปรียบเปรียบเพื่อหาช่วงเวลาที่สมองจะเจริญเติบโตในส่วน เกรย์แมทเทอร์ โดยมีระดับ ‘เศรษฐานะ (SES)’ 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับสูงจนถึงระดับต่ำ เห็นได้ว่าสมองมีการเจริญเติบโตตลอดเวลา ซึ่งแม้ เกรย์แมทเทอร์ ในเด็กทุกฐานะจะเจริญเติบโตไปพร้อมๆกัน แต่มีความแตกต่างในเชิงปริมาตรของลูกบาศก์มิลลิเมตร เฉลี่ยคนฐานะดีอาจแตะไปที่ 700,000 ลูกบาศก์มิลลิเมตร เลยทีเดียว

แม้ปริมาตรของเกรย์แมทเทอร์ ไม่ได้เป็นดาบประกาศิตในการตัดสินว่า ‘ใครโง่กว่าใคร’ แต่สมองเองก็มีการเจริญเติบโตและความยืดหยุ่นสูงเช่นกัน ผู้คนในสังคมยังมีปัจจัยอื่นที่คอยหว่านล้อมและสนับสนุนการเรียนรู้ หลายคนผลักดันตัวเองได้ไปไกลกว่า แต่หลายคนก็หยุดอยู่กับจุดเดิม

แต่มันทำให้เห็นภาพรวมที่แจ่มชัดว่า สภาพแวดล้อมทางการเงินและสังคม มีอิทธิพลในการเจริญเติบโตของสมองอย่างแท้จริง คุณเข้าถึงสิ่งที่ดีกว่าในการช่วยพัฒนาสมอง แต่ความอับจนก็ทำให้คุณเผชิญกับข้อจำกัด เด็กที่เติบโตในสภาพแวดล้อมไม่สู้ดีมักเผชิญความเสียเปรียบ แต่ความก้าวหน้าองค์ความรู้ด้านประสาทวิทยาชี้ให้เห็นว่า สมองไม่ใช่สิ่งถาวร มันเติบโตและงดงามตลอดเวลา

ไม่มีใครที่พร้อมอยู่กับความจนตลอดเวลา และความรวยก็ไม่ได้อยู่กับใครนาน

การให้ความสำคัญกับวัยที่อยู่ในช่วงแห่งเรียนรู้กระตุ้นให้พวกเขาออกจากวังวนเดิมๆ

อ้างอิงงานวิจัย

Neuroanatomical correlates of the income-achievement gap
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25896418
Thanet Ratanakul

Thanet Ratanakul

ผู้ร่วมก่อตั้ง Baboonhub ที่สนใจอ่านงานวิจัยและอยากให้ Research Based Content เป็นที่นิยมมากขึ้น

Articles: 27