ทุก ๆ เมืองในโลกถูกเรียกร้องให้รองรับประชากรที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น นั้นก็หมายถึงความต้องการทรัพยากรด้านต่าง ๆ ที่มนุษย์ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคก็ต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงโลกกำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ทรัพยากรถดถอย ไม่สามารถทดแทนได้ทัน รวมไปถึงการหลั่งไหลของประชากรที่ต้องการมีชีวิตในเมืองหลวงเพื่อเข้าถึงศูนย์กลางของทรัพยากร ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอที่จะตอบรับความต้องการของผู้คนที่หลากหลาย
เคหะชุมชนบ่อนไก่ ตั้งอยู่บริเวณถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เป็นโครงการที่ตั้งอยู่ใจกลางความเป็นเมือง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม การเดินทางที่สะดวก มีแหล่งงานอยู่โดยรอบ และค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ทำให้บ่อนไก่ยึดโยงผู้คนที่อาศัยอยู่จากรุ่นสู่รุ่น
ดั้งเดิมเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งแรกก็มาอยู่ที่นี่ เมื่อก่อนตอนรุ่น ๆ ก็อยู่ตรงสลัมด้านนอก พอต่อมา เขาก็สร้างตึกขึ้นมาแล้วให้พวกเราเข้ามาอยู่อาศัยในนี้
สัญชัย ทองดี ผู้อยู่อาศัยในเคหะชุมชนบ่อนไก่
มาอยู่ที่นี่เพราะญาติพี่น้องมาอยู่ที่นี่ เขามาสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ตรงนี้ ลูกหลานทุกคนก็เลยอยากให้มาอยู่ตรงนี้ เพราะโอเค อีกหน่อยก็คงเจริญก้าวหน้า พัฒนาของชุมชน ก็เลยมาอยู่ตรงนี้กับญาติพี่น้อง
เพลินพิศ ชาลีโคตร ประธานกรรมการชุมชนบ่อนไก่
สมัยก่อนที่โตมามีแต่คนในพื้นที่จริง ๆ มีคนที่โตมาเหมือนกับเป็นเจ้าของบ้านจริง ๆ ครอบครัวที่เป็นเจ้าของบ้านจริง ๆ แต่สมัยนี้มีเช่าอยู่ ความสัมพันธ์ก็ไม่ค่อยเหมือนกัน
ภัคธีมา ราชวัต ผู้อยู่อาศัยในเคหะชุมชนบ่อนไก่
เขากังวลเรื่องสภาพอาคาร เขารู้แล้วว่าสภาพอาคาร พออายุมากเข้าก็จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา และการแก้ไขของการเคหะต้องค่อย ๆ ดำเนินการไป ต้องค่อย ๆ ใช้งบประมาณทำไป
ถวัลย์ บัณฑิตธรรม สคล.สาขาบ่อนไก่ สำนักงานเคหะนครหลวงบ่อนไก่
พื้นที่ “เคหะชุมชนบ่อนไก่” มีศักยภาพด้านที่ตั้ง และมีแหล่งงานอยู่โดยรอบ แต่ด้วยอายุของอาคารมากกว่า 50 ปี ทำให้มีสภาพทรุดโทรม
ชุมชนเคหะบ่อนไก่มีลักษณะการพัฒนาโครงการเมื่อสมัย 50 ปีที่แล้ว คือมีลักษณะของแฟลตเดิมที่เป็นแฟลตรับโอนประมาณ 5 ตึกอยู่ตรงกลาง เป็นแฟลตเพียงแค่ 5 ชั้นเท่านั้น และก็โครงการเคหะ 1, 2, 3 หลังจากนั้นมาก็จะเป็นอาคารที่เป็นอาคารสูง 12 ชั้น ตัวสภาพของอาคารหรือระบบต่าง ๆ ของอาคารก็เริ่มทรุดโทรม มีสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินก็ไม่ได้เต็มศักยภาพนัก
อาจารย์ปิยา ลิ้มปิติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนักวิจัยศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง หรือ Urban Ally
เมื่อท่านอยู่ในพื้นที่เดิมมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร สภาพการอยู่อาศัยก็ดี ตัวอาคารก็ดี ค่อนข้างเก่าและชำรุด วิถีชีวิตของท่านก็จะประสบปัญหากับเรื่องอาชญากรรมหรือการอยู่อาศัยที่ไม่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดีเท่าที่ควร
ประภาส สัมมาชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง
ศักยภาพของเขาคือที่ตั้ง ที่ตั้งของเขาอยู่ในใจกลางเมืองครบถ้วนหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม มีรถไฟฟ้ามาอยู่ใกล้ ๆ
วิชญะ สิริชัยเจริญกล รองผู้อำนวยการฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง
การฟื้นฟูเมืองในรูปแบบใหม่ได้พัฒนาหลักการและแนวคิดไปมากกว่าในอดีต คือ ไม่ได้ใช้แนวคิดรื้อไล่ แล้วสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ทับของเดิม แต่เป็นการปรับปรุงของเดิมที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า และพยายามรองรับคนกลุ่มเดิมได้ แต่ว่าต้องเป็นไปตามกลไกตลาด คำนึงถึงความคุ้มค่าในการก่อสร้าง เพื่อเปิดพื้นที่ให้รองรับคนกลุ่มอื่น ๆ ที่เป็นคนกลุ่มระดับรายได้ปานกลางเข้ามาด้วย เพื่อให้เกิดความคุ้มทุนในการลงทุน เป็นต้น
แนวทางการฟื้นฟูเคหะชุมชนบ่อนไก่
จากการศึกษาวิจัยฐานข้อมูลต่าง ๆ พบว่าเคหะชุมชนบ่อนไก่มีศักยภาพในด้านที่ตั้ง ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องอาคารที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา ทำให้ต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับผู้อยู่อาศัย นักวิจัยจึง หารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง ผู้ที่อาศัยอยู่ในเคหะชุมชนบ่อนไก่ การเคหะแห่งชาติ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางเบื้องต้นในการฟื้นฟูเมือง ผลลัพธ์จึงเป็น 3 แนวทาง คือ
การสร้างความแน่นเพิ่ม (High Density) คือการเพิ่มความหนาแน่นในพื้นที่ศักยภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ข้างในเป็นบล็อค เป็นลักษณะ “ซุปเปอร์บล็อก” ขนาดใหญ่
การใช้พื้นที่ผสมผสาน (Mixed Use) เป็นการใช้พื้นที่ซึ่งแตกต่างกันมากกว่าสองอย่างขึ้นไป ณ พื้นที่หนึ่งๆ ตอบรับกิจกรรมที่หลากหลายของมนุษย์ ตอบรับความต้องการของกลุ่มสังคมอันแตกต่าง และตอบรับความหมายของเมืองที่เป็นพหุลักษณ์
การผสมผสานทางสังคม (Social Mix) สังคมควรมีความหลากหลาย ไม่ใช่ตอบรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พื้นที่ต้องผสมผสาน แหล่งงานหลากหลายระดับ พื้นที่พักผ่อนหลายกิจกรรม รวมไปถึงบริการหลากหลายระดับพร้อม ๆ กันด้วย
แนวคิดในการออกแบบแนวทางในการฟื้นฟูชุมชนเมือง
Smart Growth หรือการเติบโตอย่างชาญฉลาด คือแนวคิดของการวางผังเมืองโดยสร้างความเจริญและสุขภาวะที่ดีภายในเมือง เพื่อป้องกันปัญหาการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไปสู่ชานเมือง ลักษณะแนวคิดของ Smart Growth คือทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินมีความเข้มข้นและหลากหลาย มุ่งเน้นการพัฒนาที่ใช้พื้นที่ได้อย่างกระชับและมีทางเลือกในการเดินทางของคนหลากหลายกลุ่ม
Form-Based Code เป็นการจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงลึก ซึ่งได้นำทุกพื้นที่มาคำนวณหาคุณค่าและมูลค่าที่คนสามารถใช้ประโยชน์เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การวางผังเมืองรูปแบบใหม่แบบกระชับพื้นที่ และวางผังที่มีการวางรูปแบบของเส้นทาง บล็อก อาคารต่าง ๆ เพื่อให้การออกแบบวางแผนมีความกระชับและสามารถรองรับการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย
ในงานวิจัยชิ้นนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของกระบวนการฟื้นฟู กระบวนการฟื้นฟูเมืองจริง ๆ มีกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นหาแนวคิด เริ่มต้นหาความเป็นไปได้จริง ๆ การเริ่มลงไปพูดคุยกับชุมชน การออกแบบไปจนถึงการพัฒนา ตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้นเหมือนคำถามงานวิจัยแรก ๆ เลยว่าเราจะฟื้นฟูเมืองอย่างไร
สิ่งที่ต้องย้ำตลอดเวลา โดยเฉพาะในเรื่องของการที่พักอยู่อาศัยคือ เราจะต้องให้ความสำคัญกับคนอยู่อาศัยทุกกลุ่มเป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยเดิมจะต้องได้สิทธิ์การอยู่อาศัย และมีภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่มากไปกว่าเดิมจนเกินไป อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำในทุก ๆ รูปแบบของการฟื้นฟูเมือง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงหนาท แสงสีหนาท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้อำนวยการศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง หรือ Urban Ally