แนวทางการฟื้นฟูชุมชนเมืองในพื้นที่โครงการนำร่อง

ทุก ๆ เมืองในโลกถูกเรียกร้องให้รองรับประชากรที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น นั่นหมายถึงความต้องการทรัพยากรด้านต่าง ๆ ที่มนุษย์ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคก็ต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงโลกกำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ทรัพยากรถดถอย ไม่สามารถทดแทนได้ทัน รวมไปถึงการหลั่งไหลของประชากรที่ต้องการมีชีวิตในเมืองหลวงเพื่อเข้าถึงศูนย์กลางของทรัพยากร  ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอที่จะตอบรับความต้องการของผู้คนที่หลากหลาย

นี่จึงทำให้การบริหารจัดการภายใต้ความกดดัน ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ไม่เท่าเทียม ต้องอาศัยในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ ทั้ง ๆ ที่พื้นที่เหล่านี้ยังมีศักยภาพในการพัฒนาอยู่มาก หากเราสามารถฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมได้ คุณภาพชีวิตของผู้คนก็จะดีขึ้นตามที่อยู่อาศัย และสามารถบริหารทรัพยากรได้อย่างทั่วถึงต่อทุกกลุ่มคนในสังคม

ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นลักษณะของการส่งเสริม และสร้างความเท่าเทียมกันให้คนมีที่อยู่อาศัย ยุทธศาสตร์นี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์นานาชาติเลย ที่เราเรียกว่า Sustainable Development Goals หรือเรียกง่าย ๆ ว่า SDGs การเคหะแห่งชาติมีหัวใจสำคัญที่ไม่เคยทิ้งคือ หน้าที่ในเชิงการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม

การฟื้นฟูเมืองในรูปแบบใหม่ได้พัฒนาหลักการและแนวคิดไปมากกว่าในอดีต คือ ไม่ได้ใช้แนวคิดรื้อไล่ แล้วสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ทับของเดิม  แต่เป็นการปรับปรุงของเดิมที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า และพยายามรองรับคนกลุ่มเดิมได้ แต่ว่าต้องเป็นไปตามกลไกตลาด คำนึงถึงความคุ้มค่าในการก่อสร้าง เพื่อเปิดพื้นที่ให้รองรับคนกลุ่มอื่น ๆ ที่เป็นคนกลุ่มระดับรายได้ปานกลางเข้ามาด้วย เพื่อให้เกิดความคุ้มทุนในการลงทุน เป็นต้น

การเคหะแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการศึกษา “แนวทางและความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง ตามแผนพัฒนาเมืองและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ”  จึงได้ร่วมกับสำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ในการจัดทำฐานข้อมูลระดับเมืองและพื้นที่ ศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-feasibility) ในการฟื้นฟูชุมชนและเมืองทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาฟื้นฟูเมืองร่วมกับองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

ในกระบวนการศึกษา เรามีการศึกษาศักยภาพในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ในเขตชั้นในเป็นหลัก และจริง ๆ มีพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่หลายแห่ง เป็นพื้นที่ของรัฐที่ดูแลอยู่ และเป็นพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ ใกล้แหล่งงานและมีความต้องการการอยู่อาศัยสูงในย่านบริเวณนั้น ชุมชนบ่อนไก่ก็เป็นหนึ่งพื้นที่ศักยภาพมาก เพราะเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ มีความหนาแน่นระดับหนึ่ง แต่ว่าสามารถพัฒนาให้มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นได้ และผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ นี่จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายอันหนึ่งของการศึกษาชิ้นนี้

โครงการเคหะชุมชนบ่อนไก่ ตั้งอยู่บริเวณถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร  ถือว่าเป็นโครงการที่ตั้งอยู่ใจกลางความเป็นเมือง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม ด้วยการเดินทางที่สะดวก มีแหล่งงานอยู่โดยรอบ และค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยไม่สูงมาก ทำให้บ่อนไก่ยึดโยงผู้คนที่อาศัยอยู่จากรุ่นสู่รุ่น

ชุมชนเคหะบ่อนไก่มีลักษณะการพัฒนาโครงการเมื่อสมัย 50 ปีที่แล้ว คือมีลักษณะของแฟลตเดิมที่เป็นแฟลตรับโอนประมาณ 5 ตึกอยู่ตรงกลาง เป็นแฟลตเพียงแค่ 5 ชั้นเท่านั้น และก็โครงการเคหะ 1, 2, 3 หลังจากนั้นมาก็จะเป็นอาคารที่เป็นอาคารสูง 12 ชั้น ตัวสภาพของอาคารหรือระบบต่าง ๆ ของอาคารก็เริ่มทรุดโทรม มีสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินก็ไม่ได้เต็มศักยภาพนัก

เมื่อท่านอยู่ในพื้นที่เดิมมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร สภาพการอยู่อาศัยก็ดี ตัวอาคารก็ดี ค่อนข้างเก่าและชำรุด วิถีชีวิตของท่านก็จะประสบปัญหากับเรื่องอาชญากรรมหรือการอยู่อาศัยที่ไม่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดีเท่าที่ควร

แนวทางการฟื้นฟูเคหะชุมชนบ่อนไก่

จากการศึกษาวิจัยฐานข้อมูลต่าง ๆ พบว่าเคหะชุมชนบ่อนไก่มีศักยภาพในด้านที่ตั้ง ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องอาคารที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา ทำให้ต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับผู้อยู่อาศัย นักวิจัยจึง หารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง  ผู้ที่อาศัยอยู่ในเคหะชุมชนบ่อนไก่  การเคหะแห่งชาติ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางเบื้องต้นในการฟื้นฟูเมือง ผลลัพธ์จึงเป็น 3 แนวทาง คือ การสร้างความแน่นเพิ่ม (High-Density City) การใช้พื้นที่ผสมผสาน (Land Use Mixed) การผสมผสานทางสังคม (Social Mixed)

การสร้างความแน่นเพิ่ม (High Density)

กรุงเทพฯ เป็นเมืองแนวราบ และมีการขยายตัวแนวราบมาโดยตลอด ทำให้มีความหนาแน่นอยู่แค่ริมถนนสายใหญ่ แต่พื้นที่ที่อยู่ข้างในเป็นบล็อค เป็นลักษณะ “ซุปเปอร์บล็อก” ขนาดใหญ่นั้นยังเป็นพื้นที่มีความหนาแน่นน้อยอยู่ นั้นหมายความว่าถัดจากถนนใหญ่เข้าไปในซอย จะยังคงมีพื้นที่ศักยภาพที่สามารถเพิ่มความหนาแน่นมากขึ้นได้

การใช้พื้นที่ผสมผสาน (Used Mix)

ถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการสร้างเมืองอย่างยั่งยืนในยุคปัจจุบัน เป็นการใช้พื้นที่ซึ่งแตกต่างกันมากกว่าสองอย่างขึ้นไป ณ พื้นที่หนึ่งๆ ตอบรับกิจกรรมที่หลากหลายของมนุษย์ ตอบรับความต้องการของกลุ่มสังคมอันแตกต่าง และตอบรับความหมายของเมืองที่เป็นพหุลักษณ์ การใช้พื้นที่แบบผสมผสานมีทั้งเรื่องของที่อยู่อาศัย แหล่งงาน สถานที่อภินันทนาการ  การหย่อนใจและออกกำลังกาย แต่ทั้งหมดต้องอยู่ในระยะที่เดินถึงได้

การผสมผสานทางสังคม (Social Mix)

หลักการสำคัญที่สหประชาชาติพยายามสื่อสารตลอด คือชุมชนหนึ่งต้องมีการผสมผสานทางสังคม ซึ่งเป็นทั้งในสเกลของเมืองขนาดใหญ่ของชุมชน หรือแม้แต่ในพื้นที่เล็กก็ต้องให้เกิด Social Mix ให้ได้ หมายความว่ามีสังคมควรหลากหลาย ไม่ใช่ตอบรับคนกลุ่มไหนกลุ่มหนึ่ง พื้นที่ต้องผสมผสาน แหล่งงานหลากหลายระดับ พื้นที่พักผ่อนหลายกิจกรรม รวมไปถึงบริการหลากหลายระดับพร้อม ๆ กันด้วย ทำให้ทุกคนในกลุ่มสังคมอยู่อาศัยได้ อันนี้เป็นหลักการสำคัญในการฟื้นฟูเมืองแล้วเอามาใช้ในการศึกษาเคหะชุมชนบ่อนไก

ดังนั้น การจัดทำแผนความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-feasibility) ในการฟื้นฟูชุมชนและเมือง ต้องใช้องค์ความรู้ทั้ง 3 แนวทาง เพื่อตอบรับการพัฒนาตามศักยภาพและปัญหาของพื้นที่  การฟื้นฟูโครงการชุมชนบ่อนไก่ให้เป็นโครงการที่พัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ และยังสามารถรองรับคนกลุ่มเดิมได้ เพราะฉะนั้นพื้นที่ตรงนี้ยังเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนต่างระดับรายได้ เพิ่มความหนาแน่นขึ้น และรองรับผู้อยู่อาศัยได้มากขึ้น

แนวคิดในการออกแบบหลัก 2 แนวคิด คือ Smart Growth และ Form-Based Code

Smart Growth

Smart Growth หรือการเติบโตอย่างชาญฉลาด คือแนวคิดของการวางผังเมืองโดยสร้างความเจริญและสุขภาวะที่ดีภายในเมือง เพื่อป้องกันปัญหาการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไปสู่ชานเมือง โดยองค์ประกอบของการเติบโตอย่างชาญฉลาด ได้แก่ เกี่ยวกับ คุณภาพชีวิตของชุมชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ที่อยู่อาศัยและการคมนาคมขนส่ง และการมีส่วนร่วมออกแบบเมืองจากประชาชนแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด เป็นที่รู้จักและได้รับการเผยแพร่อย่างมากตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 โดยหลายองค์กรในสหรัฐอเมริกา แต่ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดได้แก่สมาคมการจัดการเมืองนานาชาติ (ICMA: The International City / County Management Association) ลักษณะแนวคิดของ Smart Growth คือทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินมีความเข้มข้นและหลากหลาย มุ่งเน้นการพัฒนาที่ใช้พื้นที่ได้อย่างกระชับและมีทางเลือกในการเดินทางของคนหลากหลายกลุ่ม

Form-Based Code

Form-Based Codes หรือ FBCs เป็นการจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงลึก ซึ่งได้นำทุกพื้นที่มาคำนวณหาคุณค่าและมูลค่าที่คนสามารถใช้ประโยชน์เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การวางผังเมืองรูปแบบใหม่แบบกระชับพื้นที่ และวางผังที่มีการวางรูปแบบของเส้นทาง บล็อก อาคารต่าง ๆ เพื่อให้การออกแบบวางแผนมีความกระชับและสามารถรองรับการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย

08

จากแนวทางการฟื้นฟูเมือง นักวิจัยจะต้องนำแนวทางนี้ไปหารือร่วมกับชุมชนอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม และตรงกับความต้องการของผู้อยู่อาศัยในชุมชนเคหะบ่อนไก่

“จริง ๆ ในงานวิจัยชิ้นนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของกระบวนการฟื้นฟู กระบวนการฟื้นฟูเมืองจริง ๆ มีกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นหาแนวคิด เริ่มต้นหาความเป็นไปได้จริง ๆ การเริ่มลงไปพูดคุยกับชุมชน การออกแบบไปจนถึงการพัฒนา ตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้นเหมือนคำถามงานวิจัยแรก ๆ เลยว่าเราจะฟื้นฟูเมืองอย่างไร

ผู้อยู่อาศัยเดิมจะต้องได้สิทธิ์การอยู่อาศัย และมีภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่มากไปกว่าเดิม อย่างไรก็ตามทุก ๆ แนวทางออกมีทั้งข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป สำหรับผู้อยู่อาศัยบางทีฟังแล้วก็กลัวเหมือนกันว่าจะฟื้นฟูรูปแบบไหน แต่สิ่งที่ต้องย้ำตลอดเวลา โดยเฉพาะในเรื่องของการที่พักอยู่อาศัยคือ เราจะต้องให้ความสำคัญกับคนอยู่อาศัยทุกกลุ่มเป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยเดิมจะต้องได้สิทธิ์การอยู่อาศัย และมีภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่มากไปกว่าเดิมจนเกินไป อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำในทุก ๆ รูปแบบของการฟื้นฟูเมือง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงหนาท แสงสีหนาท กล่าว

Baboonhub

Baboonhub

บริษัทผลิตสื่อที่มีพลังกระตือรือร้น สร้างสรรค์ผลงาน และเล่าเรื่องที่มีความเฉพาะทาง โดยเฉพาะการสื่อสารองค์ความรู้ของผู้คน องค์กร ชุมชน และโครงการ (วิจัย) ระดับประเทศ

Articles: 93