โครงการศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง ตามแผนพัฒนาเมืองและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ

ชีวิตของมนุษย์อาจมีความหมายมากขึ้น หากเรารู้ว่าในแต่ละวัน เราสามารถมีที่พักพิงอันมั่นคง เป็นทั้งสถานที่พักผ่อนและให้ความรู้สึกปลอดภัย มนุษย์ทุกคนจึงต้องการ “บ้าน” การมีที่อยู่อาศัย คือสิทธิที่พึงมีของมนุษย์ เพราะเราทุกคนล้วนต้องการสถานที่ให้ความมั่นคง และสามารถมอบคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ทรัพยากรที่ลดลง ความแออัดของผู้คนในเมืองใหญ่ที่ทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การมีบ้านของมนุษย์ กลายเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของศตวรรษที่ 21

การฟื้นฟูเมืองจากแนวคิด การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยเชื่อมโยงกับ Sustainable Development Goals–SDGs (SDGs) ที่ 11 ในเรื่องของการพัฒนาเมือง เราต้องการที่จะดูแลพี่น้องผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนกลุ่มเปราะบาง ให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่เหมาะสม การเคหะแห่งชาติจึงพยายามพัฒนาโครงการบ้านให้สามารถเข้าถึงกลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากมีผู้คนอาศัยอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างมาก การจะปรับปรุง ฟื้นฟู หรือพัฒนา ต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน

01
ชุมชนท่ามกลางความเป็นเมือง

เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด ภายในเวลาเพียง 50 ปี “ชุมชนบ่อนไก่” ที่เคยเป็นชานเมืองในอดีต กลับกลายเป็นพื้นที่ไข่แดงที่ถูกห้อมล้อมด้วยความเป็นเมืองในทุกทิศทุกทาง อย่างไรก็ตามชุมชนบ่อนไก่ก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญของผู้คนที่เป็นแรงกำลังสำคัญหลักในการขับเคลื่อนสังคมตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน เพราะชุมชนนี้มีการเดินทางที่สะดวก ใกล้แหล่งงานในเมือง มีสาธารณูปโภคที่ครบถ้วน และค่าใช้จ่ายไม่สูงมากในการอยู่อาศัย ทำให้ชุมชนบ่อนไก่ยึดโยงผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากในกรุงเทพฯ  ชุมชนบ่อนไก่จึงเป็นอีกหนึ่งชุมชนศักยภาพสูง แต่มีความท้าทายสูงในการพัฒนาต่อยอดเช่นกัน

02

เริ่มตั้งแต่เช้ามืดผมจะตื่นไปช่วยกันทำบ๊ะจ่างกับคนในชุมชน ตื่นขึ้นมาก็เดินทักทายเพื่อนบ้าน คนที่นี่เขารู้จักกันทุกคน อาศัยอยู่ที่ชุมชนบ่อนไก่มาตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อก่อนชุมชนบ่อนไก่เป็นสลัม จนเขาสร้างตึกใหม่ขึ้นมาก็เข้ามาอาศัยอยู่บนตึกแห่งนี้ มันเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราวมีชีวิต

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเคหะชุมชนบ่อนไก่มีความผูกพันกับพื้นที่ และชุมชนก็มีระบบการบริหารจัดการในรูปแบบของตัวเอง มีการเลือกตั้งคณะกรรมการของชุมชนเพื่อพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ มีผู้นำตามธรรมชาติที่ดูแลในเรื่องความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และความสะอาดของชุมชน

แต่กว่าชุมชนบ่อนไก่จะเป็นลักษณะเช่นนี้ ในอดีตนั้นบริเวณดั้งเดิมของชุมชนบ่อนไก่เป็นแหล่งเสื่อมโทรมขนาดใหญ่มีประชากรอยู่หนาแน่นถึง 1,500 ครอบครัว มีการก่อสร้างอาคารไม่เป็นระเบียบ ขาดสุขลักษณะอนามัย ระบบสาธารณูปโภคต่ำกว่ามาตรฐาน และไม่เพียงพอแก่การใช้สอย เทศบาลนครกรุงเทพ (ชื่อเดิมในขณะนั้น) ได้พิจารณาปรับปรุงบริเวณดังกล่าว โดยการอพยพรื้อย้ายชาวชุมชนแล้วสร้างแฟลตใหม่ขึ้นมาทดแทน ต่อมาการเคหะแห่งชาติได้รับโอนงานปรับปรุง จึงมีนโยบายเร่งสร้างแฟลตขึ้นรับผู้อยู่อาศัยที่ถูกรื้อย้ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 มีการสร้างอาคารเพิ่มเติมมาจนเป็นเคหะชุมชนบ่อนไก่ในปัจจุบัน

04
เมืองที่แปรเปลี่ยนและความเสื่อมโทรมตามกาลเวลา

เมืองที่เจริญเติบโตมาอย่างยาวนานมักเกิดความชำรุดทรุดโทรม และปรากฏความเสียหายตามกาลเวลา รวมไปถึงการเจริญเติบโตของเมืองและชุมชนรอบข้างที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้มีการขยายตัวของประชากร กลายเป็นเมืองโตเดี่ยว นำมาซึ่งปัญหาด้านที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต ระบบนิเวศ รวมทั้งปัญหาทางด้านสังคม

ดังนั้นการฟื้นฟูเมือง จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในการพัฒนาเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองในอนาคต ทั้งปัญหาความซับซ้อนของเมือง ที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขอนามัย ความล้าสมัยของเทคโนโลยีก่อสร้าง ปัญหาการขนส่งมวลชน รวมถึงระบบสุขาภิบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เพียงพอ จนเกิดความแออัดที่เกินพอดี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นที่ชุมชนบ่อนไก่ และพร้อม ๆ กับชุมชนเมืองทั่วโลก

การเคหะแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง เพื่อให้ประชาชน และผู้มีรายได้น้อย มีที่อยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี มุ่งเน้นฟื้นฟูเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงทำให้การศึกษา “แนวทางและความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง ตามแผนพัฒนาเมืองและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ” โดยการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่มองอนาคตร่วมกัน เพื่อศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้เบื้องต้นในการฟื้นฟูชุมชนและเมือง รวมไปถึงแนวทางความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

05

พื้นที่หลายแห่งของการเคหะแห่งชาติ ในอดีตเป็นพื้นที่ชานเมือง ปัจจุบันเมืองขยายตัวครอบคลุมจนกลายเป็นเมืองใหญ่ พื้นที่บ่อนไก่จึงตั้งอยู่ในใจกลางเมือง เราต้องพัฒนาที่อยู่อาศัยพร้อม ๆ กับสร้างความเท่าเทียมกัน โดยต้องพัฒนาที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย รองรับกลุ่มรายได้ทุกกลุ่มให้ได้ เพราะเมืองคือ มิติทับซ้อนของคนหลายๆ แบบ กระบวนการวิจัยของเราจึงพยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้ พยายามดึงออกมาให้ได้ว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร

ผู้อยู่อาศัยคือหัวใจของการฟื้นฟูเมือง

โครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากชุมชนไม่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรง เพราะเสียงของผู้อยู่อาศัยมีคุณค่าต่อการพัฒนา การศึกษานี้จึงต้องทำงานใกล้ชิดกับคนในชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและเมืองอย่างยั่งยืน  เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ปัจจุบัน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยภายในชุมชนเมือง โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามการร่วมกันมองอนาคตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง แม้อาจจะใช้ระยะเวลามากขึ้นในกระบวนการพัฒนา แต่ความร่วมมือกันจากหลากหลายภาคส่วนที่ทำงานในพื้นที่นั้น ๆ จะสามารถสร้างความเข้าใจที่ตรงกันโดยที่ทุกคนได้แสดงความเห็นอย่างเท่าเทียม นี่เองที่จะเป็นกุญแจให้โครงการฟื้นฟูเมืองนี้ประสบความสำเร็จ สามารถรองรับผู้อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม

06

จากการศึกษาวิจัยในพื้นที่นำร่อง “เคหะชุมชนบ่อนไก่” ทำให้ได้เห็นศักยภาพของคนในชุมชน มีกระบวนการมีส่วนร่วมในหลายระดับ เพื่อหาความต้องการที่ลงตัวในพื้นที่  นี่จึงไม่ใช่การรื้อสร้างใหม่  หรือเอาคนออกจากพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อคนในชุมชน และเป็นเพียงความต้องการเพียงด้านเดียวของคนฝั่งนโยบาย แต่โครงการนี้จะเป็นสิ่งใหม่ที่อาศัยการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของคนในชุมชน ผนวกกับองค์ความรู้ที่ก้าวหน้าด้านการออกแบบและวางผังชุมชนเมืองที่คนและเมืองจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ

07

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในโครงการ ทีมวิจัยจึงได้ทำการศึกษากรณีตัวอย่างด้านการฟื้นฟูเมือง วิเคราะห์ปัญหาเชิงพื้นที่ของชุมชนเมืองในกรุงเทพฯ และคัดเลือกพื้นที่นำร่อง มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางการดำเนินโครงการร่วมกับองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะเมืองเป็นมิติทับซ้อนของคนหลาย ๆ คน การฟื้นฟูเมืองจึงต้องการภาพที่ยอมรับร่วมกันให้ได้มากที่สุด โดยผลลัพธ์สำคัญจากการวิจัย  ชุมชนจะได้รับทราบผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูเมือง เกิดฐานข้อมูลชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า เต็มศักยภาพ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเมืองและแผนการพัฒนาประเทศ

บ้านจึงไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างทางกายภาพ แต่ยังเต็มไปด้วยแรงปรารถนา ที่ทำให้แต่ละวันของมนุษย์มีความหมาย เมื่อการเดินทางของผู้คนในแต่ละวัน ทำให้เราจะรู้ว่าเราจะกลับไปที่ไหน เพื่อรอคอยวันต่อไปในอนาคต

Baboonhub

Baboonhub

บริษัทผลิตสื่อที่มีพลังกระตือรือร้น สร้างสรรค์ผลงาน และเล่าเรื่องที่มีความเฉพาะทาง โดยเฉพาะการสื่อสารองค์ความรู้ของผู้คน องค์กร ชุมชน และโครงการ (วิจัย) ระดับประเทศ

Articles: 93