แม้ความมืดมิดปกคุลม แต่ผิวหนังของกบและซาลาแมนเดอร์ยังเรืองแสงได้สวยงาม จากสิ่งที่เรียกว่า biofluorescence หรือการวาวแสงทางชีวภาพ ที่ทำให้ชีวิตเล็กๆของพวกมัน กลายเป็นศิลปะชั้นยอดจากธรรมชาติที่ยากจะเลียนแบบ
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย University in Minnesota พบว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสามารถเรืองแสงให้มีสีสันสวยงาม โดยงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports พวกเขาทดลองกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 32 ชนิดพันธุ์ มีทั้ง กบ ซาลาแมนเดอร์ และนิวต์ (เป็นซาลาแมนเดอร์ขนาดเล็ก) โดยส่องพวกมันด้วยแสงอัลตราไวโอเลตและแสงสีฟ้าในช่วงคลื่นแสงต่างๆ
ปรากฏว่าร่างกายของพวกมันหลายส่วนมีการวาวแสง เป็นลายริ้วบ้าง เป็นลายจุดบ้าง มีทั้งสีเขียว สีส้ม สีเหลือง แม้กระทั่งกระดูกและท่อปัสสาวะก็ยังสามารถวาวแสงได้อีกด้วย เรียกคุณสมบัตินี้ว่า Biofluorescence ซึ่งสิ่งมีชีวิตจะวาวแสงหลังจากได้ดูดกลืนแสงที่ส่องมาที่ร่างกาย
นักวิจัยมีหลายทฤษฎีเพื่ออธิบายคุณสมบัตินี้ เช่น สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมักเป็นสัตว์หากินกลางคืน (nocturnal) อาศัยในป่าลึกที่แสงเข้าถึงได้น้อย พวกมันอาจใช้ Biofluorescence ในการสื่อสารระหว่างกัน และมีแต่พวกมันเท่านั้นที่มองเห็น เพราะดวงตามีเซลล์รับแสงที่ไวต่อแสงเขียวและแสงสีฟ้า หรือการที่พวกมันมีแสงที่วาวในที่มืด ช่วยดึงดูดเพศตรงข้ามเพื่อการผสมพันธุ์ และเลียนแบบช่วงแสงในธรรมชาติเพื่ออำพรางตัวจากนักล่าในความมืด
ความสามารถในการวาวแสงนี้อาจเป็นคุณสมบัติแรกๆที่ติดตัวมาของวิวัฒนาการสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในยุคกแรกๆก็ว่าได้
ความมหัศจรรย์ของสีและแสงในสัตว์ยังเต็มไปด้วยปริศนาอีกมาก ปีที่ผ่านมาทีมวิจัยจากสหรัฐอเมริกาพบโมเลกุล ที่ทำให้ ปลาฉลามหินอ่อน (Swell Shark) สามารถวาวแสงในที่มืด พวกเขายังพบอีกว่า เจ้าโมเลกุลพิเศษนี้อาจช่วยยับยั้งการติดเชื้อได้อีกด้วย
อ้างอิงงานวิจัย
Salamanders and other amphibians are aglow with biofluorescence