สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ photo

สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ จริงๆ แล้วเรืองแสงได้ ถ้าส่องด้วยแสงอัลตราไวโอเลต UV

แม้ความมืดมิดปกคุลม แต่ผิวหนังของกบและซาลาแมนเดอร์ยังเรืองแสงได้สวยงาม จากสิ่งที่เรียกว่า biofluorescence หรือการวาวแสงทางชีวภาพ ที่ทำให้ชีวิตเล็กๆของพวกมัน กลายเป็นศิลปะชั้นยอดจากธรรมชาติที่ยากจะเลียนแบบ

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย University in Minnesota พบว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสามารถเรืองแสงให้มีสีสันสวยงาม โดยงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports พวกเขาทดลองกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 32 ชนิดพันธุ์ มีทั้ง กบ ซาลาแมนเดอร์ และนิวต์ (เป็นซาลาแมนเดอร์ขนาดเล็ก) โดยส่องพวกมันด้วยแสงอัลตราไวโอเลตและแสงสีฟ้าในช่วงคลื่นแสงต่างๆ

ปรากฏว่าร่างกายของพวกมันหลายส่วนมีการวาวแสง เป็นลายริ้วบ้าง เป็นลายจุดบ้าง มีทั้งสีเขียว สีส้ม สีเหลือง แม้กระทั่งกระดูกและท่อปัสสาวะก็ยังสามารถวาวแสงได้อีกด้วย เรียกคุณสมบัตินี้ว่า Biofluorescence ซึ่งสิ่งมีชีวิตจะวาวแสงหลังจากได้ดูดกลืนแสงที่ส่องมาที่ร่างกาย

นักวิจัยมีหลายทฤษฎีเพื่ออธิบายคุณสมบัตินี้ เช่น สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมักเป็นสัตว์หากินกลางคืน (nocturnal) อาศัยในป่าลึกที่แสงเข้าถึงได้น้อย พวกมันอาจใช้ Biofluorescence ในการสื่อสารระหว่างกัน และมีแต่พวกมันเท่านั้นที่มองเห็น เพราะดวงตามีเซลล์รับแสงที่ไวต่อแสงเขียวและแสงสีฟ้า   หรือการที่พวกมันมีแสงที่วาวในที่มืด ช่วยดึงดูดเพศตรงข้ามเพื่อการผสมพันธุ์ และเลียนแบบช่วงแสงในธรรมชาติเพื่ออำพรางตัวจากนักล่าในความมืด

ความสามารถในการวาวแสงนี้อาจเป็นคุณสมบัติแรกๆที่ติดตัวมาของวิวัฒนาการสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในยุคกแรกๆก็ว่าได้

ความมหัศจรรย์ของสีและแสงในสัตว์ยังเต็มไปด้วยปริศนาอีกมาก ปีที่ผ่านมาทีมวิจัยจากสหรัฐอเมริกาพบโมเลกุล ที่ทำให้ ปลาฉลามหินอ่อน (Swell Shark) สามารถวาวแสงในที่มืด พวกเขายังพบอีกว่า เจ้าโมเลกุลพิเศษนี้อาจช่วยยับยั้งการติดเชื้อได้อีกด้วย

อ้างอิงงานวิจัย

Salamanders and other amphibians are aglow with biofluorescence

https://www.nature.com/articles/s41598-020-59528-9

Thanet Ratanakul

Thanet Ratanakul

ผู้ร่วมก่อตั้ง Baboonhub ที่สนใจอ่านงานวิจัยและอยากให้ Research Based Content เป็นที่นิยมมากขึ้น

Articles: 27