โลกหายนะจากระเบิดนิวเคลียร์เป็น ฉากทัศน์ที่แย่ที่สุดหากเกิดขึ้นกับมนุษยชาติ แม้สปีชี่ส์มนุษย์จะไม่สูญพันธุ์ไปเสียทีเดียว แต่ผู้เหลือรอดจะเผชิญความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งอาหาร แล้วอะไรคือแหล่งอาหารที่ยั่งยืนเท่าที่มนุษย์จะไม่เลือกกินกันเอง? “สาหร่าย” อาจเป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนที่สุด
หากเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ขึ้น พื้นที่เมืองและป่าจะระเบิดเป็นจุณก่อให้เกิดฝุ่นเถ้าที่มากถึง 150 ล้านตัน สามารถบดบังแสงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิลดลงเฉียบพลันถึง 9 องศาเซลเซียส ปีแรกของโลกจะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Nuclear Winter การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศส่งผลให้พืชทางการเกษตรของโลกจะลดลงทันที 90% เนื่องจากพืชไม่ได้รับน้ำและแสงสว่างเพียงพอ รวมไปถึงอุณหภูมิผันผวนอย่างฉับพลัน
งานวิจัยในวารสาร Earth’s Future ระบุว่า สาหร่ายจะยังสามารถเติบโตได้แม้จะอยู่ในวิกฤตนิวเคลียร์ โดยเฉพาะในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยจะเติบโตเฉลี่ย 13% ต่อวัน ซึ่งภายใน 9 เดือน หากมีการทำฟาร์มสาหร่ายแบบเลี้ยงด้วยเชือกและทุ่นลอย สาหร่ายที่เก็บเกี่ยวได้จะนำมาใช้ประโยชน์ ดังนี้
- 15% เป็นอาหารของมนุษย์
- 10% ใช้เลี้ยงสัตว์
- 50% ใช้เป็นพลังงาน Biofuel
หากเป็นไปตามโมเดลนี้ สาหร่ายจะเป็นพืชที่ยั่งยืนให้กับมนุษย์ 1.2 พันล้านชีวิตที่รอดจากภัยนิวเคลียร์ ในขณะที่พืชอื่น ๆ จะปลูกยากมากขึ้น และสายพันธุ์สาหร่ายที่น่าสนใจคือ Gracilaria tikvahiae หรือที่รู้จักกันว่า “สาหร่ายสีแดง” เนื่องจาก แพร่กระจายได้รวดเร็ว มีคุณค่าทางอาหารสูง ตรงกับแนวทางของ UN ประกาศในปี 2023 ว่า การทำฟาร์มสาหร่าย ถือเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ และเป็นแหล่งอาหารยั่งยืนที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลก ทำให้สาหร่ายเป็นพืชน่าจับตามองในอนาคตโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายฝั่งที่เป็นแหล่งสร้างอาหารสำคัญของโลก
อ้างอิง