บุหรี่

นักแสดงในภาพยนตร์สูบบุหรี่จริงกันหรือเปล่า?

ถ้าขึ้นชื่อว่าบุหรี่ หลายคนมองว่าเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ก่อให้เกิดมะเร็ง และควันบุหรี่ก็ยังพิษกับคนรอบข้าง แต่ทำไมเวลาดูหนังหรือซีรี่ส์ เรามักจะเห็นนักแสดงสูบบุหรี่กันอยู่เป็นประจำ แล้วแบบนี้ในกองถ่ายพวกเขาต้องสูบบุหรี่กันจริง ๆ หรือเปล่า? ภาพยนตร์หลายเรื่องใช้ “บุหรี่” เป็นสิ่งที่เพิ่มมิติให้กับตัวละคร เช่นภาพยนตร์เรื่อง Fight Club (1999) หรือซิคคอมชื่อดังอย่าง Friends (1994) ที่ตัวละครในเรื่องต้องสูบบุหรี่อยู่หลายฉากหรือแทบจะตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งฉากสูบบุหรี่ในภาพยนตร์มันออกมาดูดีจนทำให้ผู้ชมรู้สึกว่ามันเท่ซะเหลือเกิน ทั้งท่าทางในการจุดไฟแช็ค หรือพ่นควันออกจากปากแบบ slow motion ที่เราได้เห็นอยู่ในหนังจนชินตา ทำให้ผู้ชมอย่างเราอยากจะลองซื้อบุหรี่มาพ่นควันดูบ้าง

ที่มาของบุหรี่บนจอภาพยนตร์ ก็มาจากการเป็นโฆษณาให้กับบริษัทผลิตยาสูบที่ทำงานร่วมกันกับทางสตูดิโอภาพยนตร์ของฮอลลีวูด ในช่วงปีคศ.1920-1940 โดยบริษัทยาสูบเล็งเห็นว่า การที่จะโฆษณาสินค้าของตัวเองได้อย่างดีก็คือการให้นักแสดงดัง ๆ จุดบุหรี่สูบกันในหนัง ซึ่งก็มีบุหรี่ชื่อดังหลายยี่ห้อที่เข้ามาในวงการภาพยนตร์ด้วย อย่าง Lucky Strike , Old Gold , Camel , Chesterfield ทำให้ในช่วงเวลานั้น นักแสดงต้องสูบบุหรี่จริงกันในกองถ่าย จนมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในปี 1988 ที่ทางการแพทย์เริ่มเห็นว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่อันตรายกับสุขภาพ จึงรณรงค์ไม่ให้โฆษณาบุหรี่ในทางภาพยนตร์ เพื่อป้องการการเลียนแบบจากเยาวชน ทำเกิดข้อตกลงกันระหว่างบริษัทยาสูบกับรัฐบาล โดยผลลัพธ์คือ “ห้ามปรากฎการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบบนจอโทรทัศน์” เพราะฉะนั้นถ้าตัวละครในหนังจะหยิบบุหรี่ออกมาสูบ จะต้องไม่ใช้บุหรี่ที่เป็นของจริง

แล้วถ้าไม่ใช่บุหรี่จริง การสูบบุหรี่ที่เราเห็นกันบนจอทีวีในปัจจุบัน
เขาต้องใช้บุหรี่อะไรในการถ่ายทำ?
อย่างแรกคือ “บุหรี่ไฟฟ้า” นิยมใช้กันในการถ่ายฉากสูบบุหรี่ในปัจจุบัน เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีการใช้งานที่เหมือนกับบุหรี่ปกติ ทั้งรูปร่างที่หลากหลายคล้ายกับบุหรี่จริงก็มี ควันที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เกิดจากการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติ ซึ่งทำให้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกองถ่าย สามารถใช้ซ้ำได้เรื่อย ๆ และไม่เป็นอันตรายกับนักแสดงเท่ากับบุหรี่ปกติ

อย่างที่สองคือ “บุหรี่สมุนไพร” เป็นบุหรี่ที่เหมือนกับบุหรี่ปกติมากเมื่อปรากฎอยู่บนจอโทรทัศน์จนผู้ชมเองก็แยกไม่ออก โดยบุหรี่สมุนไพรก็เป็นที่นิยมมากในวงการภาพยนตร์ ตัวบุหรี่สมุนไพรไม่มีใบยาสูบ ไม่มีสารนิโคติน ไม่ส่งกลิ่นเหม็นหรือเป็นอันตรายกับคนรอบตัว และยังมีกลิ่นหลายกลิ่น ทั้งกลิ่นสตอเบอร์รี่ , กลิ่นน้ำผึ้ง , กลิ่นมิ้นท์ ให้นักแสดงได้เลือกใช้

อย่างที่สามคือ “บุหรี่พร็อพ” บุหรี่ที่เอาไว้ประกอบฉาก ซึ่งอาจจะเป็นบุหรี่ปกติ , บุหรี่ไฟฟ้า หรือบุหรี่สมุนไพร โดยในการถ่ายทำจะให้นักแสดงเอามาถือไว้เฉย ๆ ไม่ได้สูบบุหรี่ให้ผู้ชมเห็น เป็นการถ่ายที่ใช้กับนักแสดงที่ยังเป็นเยาวชน เช่นในภาพยนตร์เรื่อง Léon: The Professional (1994) นักแสดง Natalie Portman ที่ตอนนั้นอายุแค่ 12 ปี ในภาพยนตร์จะเห็นว่าเธอแค่ถือบุหรี่อยู่ในมือ ปรากฎออกมาอยู่ 5 ครั้ง โดยไม่ได้สูบบุหรี่ให้ผู้ชมเห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้

บุหรี่เป็นสิ่งที่อันตรายต่อสุขภาพ แต่ในภาพยนตร์ยังใช้การสูบบุหรี่ เป็นสิ่งที่ใช้แสดงแทนความรู้สึกของตัวละครออกมาได้อีกด้วย เช่น ตัวละครที่สูบบุหรี่อย่างใจเย็นหลังผ่านเหตุการณ์แย่ ๆ ในหนังมา โดยที่หนังไม่ต้องมีบทพูดในฉากนี้ ก็ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงอารมณ์ของตัวละครในเรื่องได้ ผ่านบุหรี่ ในปัจจุบันช่องทางในการสื่อสารใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาตลอด และเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายขึ้นด้วย ทำให้การปิดกั้นเนื้อหาบางอย่างไม่สามารถทำได้ การรับรู้และเรียนรู้ของผู้ชมเองก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยของสื่อ ถึงในไทยจะมีการจัดเรตติ้งหรือการเซ็นเซอร์ทั้งในทีวีและภาพยนตร์ แต่ตัวผู้ชมอย่างเราเองก็ต้องเสพงานศิลป์กันอย่างมีสติด้วย

Baboonhub

Baboonhub

บริษัทผลิตสื่อที่มีพลังกระตือรือร้น สร้างสรรค์ผลงาน และเล่าเรื่องที่มีความเฉพาะทาง โดยเฉพาะการสื่อสารองค์ความรู้ของผู้คน องค์กร ชุมชน และโครงการ (วิจัย) ระดับประเทศ

Articles: 93