otter-juggler photo

ปริศนานาก “กลิ้งหิน” ในมือ ทำเพราะจำเป็น หรือแค่สนุกเฉยๆ

การจับวัตถุขนาดกลมเล็กมา “กลิ้งและโยน” ด้วยมือ ไม่ใช่ทักษะที่ทำกันได้ง่ายๆ คุณต้องมีนิ้วมือที่พลิ้วไหวและความคล่องแคล่วในการใช้มือระดับชำนาญ แต่นาก (otter) กลับเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมพิลึก พวกมันมีมือเล็กจิ๋ว แต่สามารถกลิ้งและโยนหินเล่นในมือ โดยที่เราไม่รู้ว่า ทำไมพวกมันถึงชอบทำ แถมดูน่ารักดี!

ถ้าใครยังไม่เคยเห็นดูที่คลิปนี้

นักพฤติกรรมสัตว์สงสัยนิสัยนากที่ชอบหยิบหินมากลิ้งไปมาด้วยอุ้งเท้าหน้า ทฤษฎีแรกๆที่พยายามตอบคำถามคือ นากกลิ้งหินเล่นในมือเล่นเพื่อฝึกฝนทักษะจำเป็นในการใช้ชีวิต เพราะแหล่งอาหารของนากในธรรมชาติ คือกลุ่มสัตว์มีเปลือกแข็งทั้งกลุ่มกุ้งกั้งปู (Crustacean) และ สัตว์น้ำในไฟลัมมอลลัสกา (mollusca) จำพวกหมึกและหอย แต่ทฤษฎีนี้ยังหาหลักฐานที่ชัดเจนไม่ได้ว่า พอพวกมันฝึกแล้ว ทักษะการล่าและแกะเปลือกแข็งจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

หรือพฤติกรรมนี้ก็แค่สนุกเฉย ๆ ไม่ได้มีเหตุผลอะไรเลยแต่แรก!!

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Royal Society Open Science ศึกษานากเล็กเล็บสั้น (Aonyx cinereal) เป็นนากขนาดที่เล็กที่สุด และอาจจะเป็นสายพันธุ์ที่ซุกซนขี้เล่นที่สุด พวกมันชอบกินหอย และ นากใหญ่ขนเรียบ (Lutrogale perspicillata) ที่อาหารหลักของมันคือปลา และไม่จำเป็นต้องใช้หินกะเทาะเปลือกในการดำรงชีวิต

นักวิจัยพบว่า นากสายพันธุ์ที่ศึกษาเหล่านี้ ล้วนมีพฤติกรรมกลิ้งหินให้เห็นทั้งหมด และเมื่อนำไปทดสอบโดยการให้พวกมันดึงอาหารจากวัตถุหลายๆรูปทรง โดยเอาเนื้อบดไปใส่ในภาชนะที่เปิดยาก เช่น ขวดยาที่มีฝาปิดแน่น  ลูกเทนนิสเจาะรู กล่องที่มีหน้าตาเหมือนเปลือกหอย ผลปรากฏว่า นากทั้ง 2 สายพันธุ์ใช้อุ้งเท้าหน้าเปิดกล่องเหล่านี้ได้ดีเท่ากัน แม้นากใหญ่ขนเรียบจะกินปลาเป็นหลัก แต่มันก็ใช้อุ้งเท้าจัดการกับวัตถุทดสอบได้รวดเร็ว ไม่มีปัญหา

นากเด็กจนกระทั่งนากแก่ๆ ก็มีพฤติกรรมกลิ้งหิน ดังนั้นการกลิ้งหินเพื่อฝึกฝนก็อาจไม่จำเป็น  การกลิ้งหินอาจไม่มีความสลักสำคัญในการดำรงชีวิต ก็แค่สร้างความเพลิดเพลินเท่านั้น

งานวิจัยเล็กๆนี่ทำให้เราเห็นว่า พฤติกรรมของสัตว์เองก็ไม่จำเป็นต้องอยู่บนสมมติฐานเรื่อง “วิวัฒนาการการเล่น” (evolution of play) ที่สัตว์ต้องใช้เพื่อการมีชีวิตรอดเพียงเสมอไป บางครั้งพฤติกรรมก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนหรือมีอรรถประโยชน์ไปซะทุกเรื่อง

ก็เพียงแค่มันเพลินดี คงเหมือนเราปั่น Fidget spinner ให้มันหมุนเล่นๆ ก็น่าจะไม่ต่างกัน

บางครั้งก็แค่อยากทำตามอารมณ์ ตามความรู้สึก  สัตว์เองก็เช่นกัน

อ้างอิงงานวิจัย

The drivers and functions of rock juggling in otters
Royal Society Open Science. Vol. 7, May 6, 2020, 200141. doi: 10.1098/rsos.200141

Thanet Ratanakul

Thanet Ratanakul

ผู้ร่วมก่อตั้ง Baboonhub ที่สนใจอ่านงานวิจัยและอยากให้ Research Based Content เป็นที่นิยมมากขึ้น

Articles: 27