รับเจ้าเข้าเมือง

รับเจ้าเข้าเมือง ประเพณีในวันสงกรานต์ของชาวใต้

ประเพณีของประเทศไทยมีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ สะท้อนถึงวิถีชีวิต ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อ ๆ กันมา แต่ละภาคก็มีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น และภาคใต้ก็มีประเพณี วัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นอยู่มาก ที่จังหวัดนราธิวาสใต้สุดแดนสยาม มีประเพณีซึ่งชาวตากใบถือเป็น
ประเพณีที่สำคัญในวันสงกรานต์คือ “ประเพณีรับเจ้าเข้าเมือง”
ในวันสงกรานต์ ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยโบราณ ชาวใต้เชื่อกันว่าหลังวันสงกรานต์หนึ่งวันจะมีเทวดาอารักษ์เมืองเข้ามาปกป้องผู้คน สัตว์ตลอดจนพืชพันธุ์ให้อุดมสมบูรณ์ จึงจัดให้มีพิธีกรรมต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ เรียกว่า “พิธีกรรมรับเทียมดา” หรือ “พิธีกรรมรับเจ้าเข้าเมือง” โดยในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปีชาวใต้จะนำอาหาร เช่น ขนมโค และผลไม้ตามฤดูกาลมาถวายพระ และชาวบ้านทุกคนจะนำข้าวสารมาจากที่บ้าน เพื่อเอามาโปรยในพิธี ทุกคนจะมารวมตัวกันที่กลางลานวัดตอนกลางคืน เพื่อกราบไว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครองหมู่บ้าน ดูแลลูกหลานให้มีแต่ความสุขตลอดปี
ชาวบ้านจะมารวมตัวกันรอบเสาระธา หรือเสาไม้แฉกที่มีราวเอาไว้ปักเทียน จากนั้นจะนำข้าวสารมาโปรยรอบระธา ๓ ครั้ง เพื่อเป็นการต้อนรับเทวดา พร้อมกับนำเครื่องบูชาเป็นไม้เหลาที่มัดด้วยดอกไม้ และเศษผ้า จะเสียบเปลือกมะพร้าวสามเหลี่ยมไว้บนยอด เรียกว่า “ธงทิว หรือ ธงเทียว” และหลังเสร็จพิธีชาวบ้านก็จะนำเทียนจากต้นระธาไปจุดที่หน้าบ้าน รวมทั้งธงเทียวก็จะนำกลับไปเสียบไว้หน้าประตูบ้าน เพื่อรับเทวดากลับบ้าน
เมื่อเสร็จพิธี ชาวบ้านจะมาพูดคุยกันพร้อมกับรับประทานอาหารที่นำมาบวงสรวง มีการชมกิจกรรมการแสดง เช่น หนังตะลุง โนราห์ ภายในบริเวณวัด “ประเพณีรับเจ้าเข้าเมือง” ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวใต้ เป็นพิธีกรรมที่นำมาซึ่งความสุข ความเจริญ ตามความเชื่อ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และเป็นประเพณีของภาคใต้ที่ควรรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป
Thitiporn Maneesang

Thitiporn Maneesang

Project Coordinator ที่ถนัดการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้คนกับข้อมูล ชอบพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งใหม่ ๆ และมีความสนใจในการถ่ายทอดเรื่องราวเชิงพื้นที่

Articles: 9