กรณีศึกษาโครงการที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินงานด้านการฟื้นฟูชุมชนเมือง

ความก้าวหน้าของเมืองมักเป็นสิ่งดึงดูดผู้คนให้มีการย้ายถิ่นฐาน เพื่อให้สามารถเข้าถึงอรรถประโยชน์ ทั้งความต้องการเดินทางที่สะดวก มีแหล่งงานใกล้ที่อยู่อาศัย แหล่งบันเทิง และสถานที่หย่อนใจ ความต้องการของมนุษย์จึงอุดมไปด้วยหลากมิติที่ทับซ้อนกัน

เมื่อมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองจำนวนมากขึ้น ทำให้เมืองมีความหนาแน่น และบีบให้ต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นเป็นเงาตามตัว  นี่จึงทำให้เมืองไม่อาจตอบสนองความต้องการของผู้คนได้ทั้งหมด ซ้ำยังกลายเป็นปัญหาความแออัดของที่พักอาศัยและสถานที่ทำงาน  การเดินทางก็มีความหนาแน่นขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของจำนวนประชากร และอาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยด้วย

การฟื้นฟูเมืองจะมีหลายรูปแบบเพราะสภาพของเมืองเปลี่ยนไป จึงต้องมีการฟื้นฟูเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับเมืองในปัจจุบัน การเคหะชุมชนดินแดง สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องฟื้นฟู เนื่องจากอายุของอาคารค่อนข้างมาก และเทคโนโลยีในสมัยก่อนก็ไม่เหมือนสมัยนี้ เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นที่ต้องฟื้นฟูเมืองก่อนที่อาคารจะชำรุดไปมากกว่านี้

การฟื้นฟูเมืองจากแนวคิด การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยเชื่อมโยงกับ Sustainable Development Goals–SDGs (SDGs) ที่ 11 ในเรื่องของการพัฒนาเมือง เราต้องการที่จะดูแลพี่น้องผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนกลุ่มเปราะบาง ให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่เหมาะสม การเคหะแห่งชาติจึงพยายามพัฒนาโครงการบ้านให้สามารถเข้าถึงกลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากมีผู้คนอาศัยอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างมาก การจะปรับปรุง ฟื้นฟู หรือพัฒนา ต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน

01

ในการฟื้นฟูเมืองมีแนวคิดของการปรับปรุงพื้นที่ขนาดใหญ่ภายในเมืองที่มีลักษณะทรุดโทรม หรือไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว ทำให้พื้นที่นั้นกลับมาสร้างประโยชน์ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการทางสังคม และจำนวนประชากรที่มีมากขึ้น

02

แนวทางการฟื้นฟูเมืองในยุคแรก ๆ ก็จะเป็นไปตามบริบทของเมืองในยุคนั้น ๆ เช่น เป็นการสร้างเมืองใหม่หรือสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ หากย้อนไปยังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทั่วโลกเสื่อมโทรมมากหลังสงคราม ความต้องการแหล่งอยู่อาศัยก็เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเมืองหลายแห่งทั่วโลกมีทิศทางคล้ายกันคือให้มีการฟื้นฟูเมือง เปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมในเมืองหรือใช้งานไม่เต็มศักยภาพ ให้กลับมามีประโยชน์และใช้งานได้เต็มที่

ชุมชนที่ดี สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

รูปแบบที่ 1 การรื้อถอนและสร้างขึ้นมาใหม่ การฟื้นฟูเมืองในพื้นที่ที่สภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมที่ยากเกินกว่าจะแก้ไข จึงจำเป็นที่จะต้องรื้นถอนอาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม เพื่อก่อสร้างขึ้นมาใหม่ให้สามารถตอบรับความต้องการของการฟื้นฟูในพื้นที่นั้น

รูปแบบที่ 2 การแก้ไขพื้นที่ เป็นการปรับเปลี่ยนการใช้สอยของอาคารหรือพื้นที่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้ประโยชน์ที่ดินได้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

รูปแบบที่ 3 การอนุรักษ์ การเก็บรักษา และพัฒนาสภาพแวดล้อมโดยรอบของย่านเมืองเก่าอันมีคุณค่า ให้ดูดี มีระเบียบ เข้ากับวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ได้กลมกลืนยิ่งขึ้น

04

การฟื้นฟูเมืองเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีต่อการอยู่อาศัย และทำให้พื้นที่มีความเจริญมากขึ้น เปรียบเสมือนบ้านที่เราอยู่อาศัย อาคารต่าง ๆ เมื่อสร้างได้สัก 10 ปี ก็จะต้องมีการปรับปรุง เพื่อให้พื้นที่สามารถใช้งานได้ต่อไป

เมื่อเมืองทรุดโทรม และใช้ศักยภาพได้ไม่เต็มที่ การเคหะแห่งชาติจึงเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูเมือง โดยเลือกชุมชนดินแดงเป็นโครงการนำร่องด้านการฟื้นฟูเมือง เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีความมั่นคง ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช้ที่ดินได้อย่างเต็มศักยภาพ และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต

พื้นที่เคหะดินแดงในอดีต

ย้อนไปในอดีตของชุมชนดินแดง ถนนสายนี้สร้างด้วยดินลูกรังในสมัยจอมพล ป. พิบูลย์ สงคราม เมื่อมีรถวิ่งผ่านจึงมีฝุ่นสีแดง ๆ ตีตลบไปหมด คนในชุมชนใกล้เคียงจึงเรียกติดปากว่า “ดินแดง” พื้นที่ก็ไม่ค่อยน่าดูนัก และยังเป็นแหล่งทำลายขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลของจังหวัดพระนคร ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 เป็นระยะแรกที่รัฐบาลจัดตั้งที่อยู่อาศัยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยก่อสร้างอาคารแบบไม้ จำนวน 1,088 หลัง จนเต็มบริเวณพื้นที่ดินแดง ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2506 – 2517 กรมประชาสงเคราะห์ได้จัดสร้างอาคารแบบแฟลตให้เช่า เป็นอาคาร 5 ชั้น ใต้ถุนโล่ง จำนวน 64 หลัง 6,144 หน่วย จนกลายเป็น “แฟลตดินแดง” จากนั้นกรมประชาสงเคราะห์ได้โอนแฟลตดินแดง ให้ “การเคหะแห่งชาติ” ดูแลต่อ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “เคหะชุมชนดินแดง” จนถึงปัจจุบัน

03

กาลเวลาผ่านไป ความเสื่อมโทรมของอาคารปรากฏเห็นได้ชัดเจน เหล็กที่ค้ำจุนอาคารเป็นสนิม เศษปูนร่วงหล่น ปล่องทิ้งขยะแบบเก่าขาดสุขลักษณะ อาคารที่จอดรถต่าง ๆ ต้องแก่งแย่งกัน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย แม้จะมีการซ่อมแซมบ้าง แต่ความเสียหายก็ยังคงมีตามมาเรื่อย ๆ และมีสัญญาณความเสี่ยงต่อชีวิต

ที่อยู่อาศัยเดิมของเราก็สร้างมานานแล้วกว่า 60 ปี มีปัญหามาก ทั้งฝุ่น ถังขยะกระจัดกระจาย หนูก็เยอะ สิ่งแวดล้อมตรงนั้นเริ่มไม่ดีแล้ว

สมนึก ทองสั่ง คุณยายอายุ 80 ปี ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเคหะดินแดงตั้งแต่รุ่นบุกเบิก เล่าถึงความลำบากของการใช้สอยอาคารที่ต้องแก่งแย่งกัน จนลูกหลานถอดใจ ไม่ค่อยมาเยี่ยมเยียน

ลูกหลานยายไม่อยากมา เพราะที่จอดรถลำบาก ต้องแย่งกันตลอด ลูกหลานจะมาหาบางทีซื้อข้าวซื้อของมาให้ เช่น ข้าวสาร อุปกรณ์ต่าง ๆ จะเอารถมาจอดก็ไม่ได้ บางคนยึดที่จอดรถเป็นของตัวเอง เขาก็กันไว้ไม่ให้คนอื่นมาจอด ลูกหลานก็บ่นไม่อยากมาหาแล้ว เราก็เสียใจ

นอกจากนั้นอาคารดั้งเดิมก็ชำรุดทรุดโทรม เหล็กที่ค้ำจุนอาคารมีสนิม ปูนที่ก่อสร้างไว้ด้วยเทคโนโลยีในอดีตก็ล้าสมัย ส่งผลให้ปูนแตกร่วง และอาจถล่มทับผู้อยู่อาศัยในอาคาร กลายเป็นความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง แม้จะซ่อมแซมแล้วก็ทำได้เพียงเล็กน้อยเพียงภายนอกเท่านั้น

เปลี่ยนโฉมเคหะชุมชนดินแดง

การเคหะแห่งชาติจึงไม่ต้องการให้ผู้อยู่อาศัยมีความเสี่ยงอีกต่อไป จึงได้ผลักดันให้เกิดโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงอย่างจริงจัง โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เป็นรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ของเมืองในภาพรวม ซึ่งต้องมีการศึกษาโครงการฟื้นฟูเมืองดินแดงเป็นโครงการแรก ๆ ของการเคหะแห่งชาติ โดยมีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เป็นการวิจัยที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์หาแนวความคิด และแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ ความเท่าเทียม และสร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้กับการตัดสินใจพัฒนาเมือง

05

ในการปรับปรุงชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การอยู่อาศัยที่ดี และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นสิ่งสำคัญ ที่การเคหะแห่งชาติตระหนักถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะชุมชนในเมือง เมื่อในอดีตการสร้างบ้านจะนิยมสร้างเป็นแนวราบ แต่ในปัจจุบันความสามารถของที่ดินสูงเกินกว่าที่จะเป็นแนวราบแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือฟื้นฟูตรงนี้พื้นที่เดิมในเมืองให้เป็นอาคารที่สามารถอยู่อาศัยได้มากขึ้น พร้อมกับมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

06

เคหะชุมชนดินแดงมีอาคารแปลง G ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของความสำเร็จในการฟื้นฟูเมือง ที่ใช้เวลาหลายปีเพื่อสำรวจความต้องการของผู้อยู่อาศัยอย่างรอบด้าน และทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองได้ดีมากขึ้น โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง แบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 และ 2 ของโครงการ จะเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากแฟลตดินแดง และระยะที่ 3 และ 4 จะเป็นการพัฒนาทั้งผู้อยู่อาศัยเดิมและผู้อยู่อาศัยใหม่พร้อมกัน

การศึกษาระยะที่ 1 ทำให้เกิดอาคารแปลง G ขึ้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนดินแดงได้มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย  ตัวอาคารมีความมั่นคง มีสัดส่วนชัดเจน ลานจอดรถที่เป็นระเบียบภายในตัวอาคาร มีพื้นที่สีเขียวที่ให้ผู้อยู่อาศัยได้ร่วมกันดูแล และมีการรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของผู้อยู่อาศัย

07

หลังจากเราสร้างแปลง G ขึ้นมาก็มีหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นทั้งนิสิต นักศึกษาหรือว่าชุมชนจากที่อื่นหรือชุมชนการเคหะจากที่อื่นก็มาศึกษาดูงาน ทุกคนมาดูแล้วก็รู้สึกชื่นชมและก็เห็นว่าการฟื้นฟูเมืองสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยได้ และผลตอบรับที่ออกมาก็คือค่อนข้างที่จะดี

โครงการแปลง G ถือเป็นการบูรณะปรับปรุงพื้นที่ขนาดใหญ่ภายในเมือง ที่มีลักษณะเสื่อมโทรม หรือไม่ได้ถูกใช้สอย เพื่อทำให้พื้นที่กลับมามีประโยชน์สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมร่วมสมัย และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต ซึ่งโครงการยังมีหลายส่วนที่ต้องดำเนินต่อให้ครบทุกระยะ  ระหว่างนั้นจะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับรับฟังผลตอบรับของผู้อยู่อาศัย โดยยึดหลักว่า หากมีการปรับปรุงในมิติใด ๆ ก็ตาม จะต้องไม่กระทบต่อค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัย  หรือหากกระทบก็ต้องอยู่ในช่วงราคาที่ผู้อยู่อาศัยจ่ายไหว

บ้านจึงไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างทางกายภาพ แต่ยังเต็มไปด้วยแรงปรารถนา ที่ทำให้แต่ละวันของมนุษย์มีความหมาย เมื่อการเดินทางของผู้คนในแต่ละวัน ทำให้เราจะรู้ว่าเราจะกลับไปที่ไหน เพื่อรอคอยวันต่อไปในอนาคต

ที่นี่เป็นบ้านที่น่าอยู่ คำว่าบ้านเหมือนรากฐานชีวิต ถ้ารากฐานชีวิตดีสิ่งดีดีอะไรก็ตามมา บ้านของเราเป็นบ้านที่มั่นคง แข็งแรง ทุกอย่างเหมาะเอื้อประโยชน์ให้กับการดำรงชีวิตสำหรับชุมชนคนเมืองอย่างพวกเรา

ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น เพราะว่าห้องใหม่ สะอาด เรียบร้อย มี รปภ. ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างดี ระบบการจัดการขยะ ระบบอะไรก็ดีขึ้น

การเคหะแห่งชาติมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง เพื่อให้ประชาชน และผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดี มุ่งเน้นฟื้นฟูเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่รองรับการเจริญเติบโตของเมือง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถพัฒนาคนในชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้

เมื่อเวลาผ่านไปเมืองก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย และความร่วมมือกันอย่างเข้าอกเข้าใจของคนทุกภาคส่วน ทำให้การพัฒนาเมืองที่ท้าทายและยิ่งใหญ่สามารถเป็นไปได้ และเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์อยู่ร่วมกับเมืองอย่างกลมกลืนมากยิ่งขึ้น

Baboonhub

Baboonhub

บริษัทผลิตสื่อที่มีพลังกระตือรือร้น สร้างสรรค์ผลงาน และเล่าเรื่องที่มีความเฉพาะทาง โดยเฉพาะการสื่อสารองค์ความรู้ของผู้คน องค์กร ชุมชน และโครงการ (วิจัย) ระดับประเทศ

Articles: 93