กัญชา photo

วิลเลียม บรูก โอชอเนสซี แพทย์คนแรกที่มอง “กัญชา” เป็นเวชศาสตร์ในโลกตะวันตก

ปี 1838 แพทย์ลูกจ้างจากบริษัท East Indian Company ในอินเดีย ใช้กัญชารักษาผู้ป่วยครั้งแรกด้วยความแปลกประหลาดใจ กัญชาพืชท้องถิ่นมีสรรพคุณทางยาที่น่าใคร่ครวญ จนความนิยมแพร่ขยายไปในสังคมวิคตอเรียน

“ผู้ป่วยคนแรกหลังจากได้รับการรักษาด้วยกัญชา พูดเก่งขึ้นมาทันที แถมขออาหารเพิ่มด้วย” วิลเลียม บรูก โอชอเนสซี่ เขียนในบันทึกของเขา

ช่วงเย็นของวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1838 ขณะที่นายแพทย์หนุ่ม ‘วิลเลียม บรูก โอชอเนสซี่’ (William Brooke O’Shaughnessy) กำลังนั่งทอดหุ่ยอย่างสบายอารมณ์ในบ้านพัก เด็กชายที่เขาคุ้นหน้ากันดีวิ่งกุลีกุจอตะโกนหน้าบ้าน “หมอวิลเลียม หมอ วิลเลียม” เมื่อเขาออกไปพบ เด็กชายจึงยื่นข้อความด่วนที่ส่งตรงถึงเขาโดยเฉพาะ ข้อความนี้มาจากโรงพยาบาลในนครโกลกาตา ประเทศอินเดีย ที่วิลเลียมประจำตำแหน่งแพทย์ผู้ช่วยผ่าตัดของบริษัท East India Company

“คุณมาที่โรงพยาบาลด่วนเลยได้ไหม ผู้ป่วยที่คุณดูแลอยู่มีอาการแปลกๆ” ข้อความระบุด้วยลายมือที่เขียนอย่างเร่งรีบ วิลเลียมที่ได้รับข้อความดังกล่าวถึงกับรีบแต่งตัวออกไปทันทีและให้ทิปกับเด็กส่งข้อความ วิลเลียมดูกระตือรือร้นเป็นพิเศษ เพราะสำหรับเขาแล้วผู้ป่วยคนนี้ค่อนข้างเป็น ‘คนไข้พิเศษ‘ เนื่องจากเขากำลังทำการรักษานอกเหนือตำราแพทย์ตะวันตกที่เคยทำกันมา เกิดอะไรขึ้นกับ ผู้ป่วย No.1 ที่บุกเบิกการรักษาด้วย ‘กัญชา’ (cannabis) เป็นรายแรกของเวชศาสตร์ตะวันตก

จะมีอะไรเลวร้ายเกิดขึ้นหรือไร?

วิลเลียม บรูก โอชอเนสซี่ (William Brooke O’Shaughnessy) เป็นแพทย์ชาวอังกฤษที่สนใจ Cannabis indica พืชท้องถิ่นในโกลกาตา ประเทศอินเดียมาสักพักแล้ว แต่ยังไม่มีแพทย์ชาวตะวันตกคนไหนเริ่มศึกษามันอย่างจริงๆ จังๆ เขาเชื่อว่ากัญชาน่าจะมีคุณสมบัติทางยาที่ถูกมองข้ามไปจากโลกตะวันตกเป็นเวลาช้านาน และอาจถึงเวลาแล้วที่เขาจะเริ่มทำการทดลองกับผู้ป่วยมนุษย์ในความหมายของวิทยาศาสตร์ผ่านกระบวนการวิจัยอันเป็นที่ยอมรับสากล

ในชีวิตประจำวันของวิลเลียมนั้น เขาเป็นแพทย์ผู้ช่วยผ่าตัดที่มีฝีมือดี แต่ในเวลาว่างจากการงาน เขาผันตัวเป็นนักเคมีที่เรียนรู้อย่างไม่หยุดหย่อน ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในการศึกษาพืชที่มีคุณสมบัติทางยา ผลงานในอดีตที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก คือการมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์เลือดและอุจจาระของผู้ป่วยอหิวาตกโรคที่ระบาดหนักในอังกฤษช่วงปี 1831 อันเผยความกระจ่างว่า ผู้ป่วยอหิวาตกโรคจะสูญเสียน้ำในร่างกายมาก จนวิธีรักษาแบบยุโรปโบราณที่ทำตามๆ กันมาอย่าง ‘การหลั่งเลือดรักษาโรค’ (bloodletting) ยิ่งทำให้ผู้ป่วยอหิวาฯมีอาการย่ำแย่กว่าเดิม ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการทดแทนน้ำในร่างกายและประคับประคองอาการจนผู้ป่วยมีสมดุลร่างกายที่ดี จากผลงานครั้งนั้นทำให้บริษัททรงอิทธิพลที่สุดในยุควิคตอเรีย อย่างบริษัท East India Company มาว่าจ้างเขาให้เป็นแพทย์ดูแลผู้ป่วยที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากเกาะอังกฤษ มาประจำเมืองกัลกาตา ประเทศอินเดีย การเดินทางเต็มไปด้วยการผจญภัย สภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย วัฒนธรรมแปลกประหลาด และแน่นอนพืชกัญชาประจำถิ่นที่น่าพิศวง

สำหรับคนอินเดียแล้ว สรรพคุณทางยาของกัญชาไม่ใช่ของใหม่อะไรเลย ชาวบ้านใช้กันอยู่อย่างแพร่หลาย เป็นยาสมุนไพรตามธรรมชาติ หากย้อนไปมองอารยธรรมอียิปต์ อินเดีย และจีนล้วนคุ้นเคยกับกัญชาเป็นอย่างดี ซึ่งชาวยุโรปเองช่วงหนึ่งก็ใช้เป็น ‘ยาผีบอก’ในการรักษาอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง จนกระทั่งสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 8 (Innocent VIII) มีคำสั่งห้ามใช้กัญชาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆในปี 1484 เพราะมองว่าพืชนี้ ‘มอมเมา’ ขัดต่อหลักศาสนาและเป็นสิ่งไม่บริสุทธิ์ (unholy) ตั้งแต่นั้นมา กัญชาจึงเลือนหายไปจากความทรงจำของชาวตะวันตกเป็นเวลาหลายร้อยปี

แม้วิลเลียม บรูก โอชอเนสซี่ จะเป็นแพทย์ ก็มีบ้างที่เขาใช้กัญชามาสักระยะโดยการสูบ เขารู้สึกว่าเจ้าพืชชนิดนี้มีสารสำคัญที่ทำให้ร่างกายมึนเมาและผ่อนคลายเป็นพิเศษ จึงจุดประกายให้เขาลงมือหาคำตอบอย่างจริงๆ จังๆ เริ่มตั้งแต่ครูพักลักจำวิธีการจากชาวบ้านในอินเดียที่นำใบกัญชามาทำแห้งสำหรับสูบ ซอยละเอียดผสมกับน้ำใช้จิบยามบ่าย หรือนำมาต้มกับนมเพิ่มน้ำตาลนิดหน่อยให้ได้รสชาติหวานติดลิ้นที่เรียกมาว่า Majoon หรือเอายางของดอกมาผสมกับใบยาสูบอื่นๆ ที่เรียกว่า Gunjah หรือ Ganja เอาเป็นว่าพืชชนิดนี้สามารถนำมาไปดัดแปลงได้หลายรูปแบบ ใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดโดยให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

ช่วงเวลาที่อยู่ในอินเดียนี้เองที่ วิลเลียมได้คลุกคลีกับตำนานฮินดู ชวนนักแปลไปอ่านเอกสารโบราณหลายชิ้นที่ระบุถึงการใช้กัญชาในการรักษาโรค ปรึกษาหมอตามหมู่บ้านต่างๆ หรือแม้กระทั่งพูดคุยกับแพทย์เพื่อนร่วมงานด้วยกันเพื่อหาแนวโน้มให้กัญชาเหมาะแก่การยอมรับในเวชศาสตร์สมัยใหม่ กระบวนการสำคัญที่สุดคือ การทดสอบในมนุษย์ ซึ่งหากจะถึงขั้นนั้นแล้ว เขาต้องแน่ใจว่ากัญชาปลอดภัยและต้องให้ผู้ป่วยในปริมาณที่พอเหมาะ

วิลเลียมทดลองใช้กัญชากับสัตว์ก่อน ทั้งสุนัขจรจัด แมว แพะ ปลา นกแร้ง หรือนกกระสา ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมค่อนข้างได้รับอิทธิพลของกัญชาจนมีอาการ ‘เคลิ้มและเมา’ แต่สัตว์อีกหลายชนิดก็ไม่ได้รับอิทธิพลจากกัญชาเลย แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สัตว์ทุกตัวมีร่วมกันคือ ไม่มีสัตว์ทดลองใดตายระหว่างการทดลอง แม้จะใช้กัญชาในปริมาณค่อนข้างมากก็ตาม

ถึงเวลาทดลองในมนุษย์!

ผู้ป่วยมนุษย์คนแรกที่วิลเลียมทดลอง เป็นชาวอินเดียผู้เป็นโรคไข้รูมาติก (Rheumatic fever) และข้ออักเสบ (Migratory polyarthritis) ซึ่งโรคไข้รูมาติกจะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย หัวใจ ข้อต่อ ผิวหนัง และสมองเกิดการอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวด ไม่อยากขยับตัว ไม่อยากอาหาร ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการค้นพบยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (ปัจจุบันโรคไข้รูมาติกมักพบได้ในประเทศที่ด้อยพัฒนา ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี) วิลเลียมจึงทดลองให้กัญชากับผู้ป่วยรายนี้ โดยการนำยางมาทำการละลายในแอลกอฮอล์ 2 วัน เพื่อให้น้ำมันกัญชาคลายตัว หลังจากนั้นจึงนำไปต้มจนแอลกอฮอล์ระเหยไป เหลือแต่น้ำมันที่นำมาใช้กับผู้ป่วย

เหตุนี้เองที่วิลเลียมจึงรีบมาโรงพยาบาลทันทีหลังจากได้รับข้อความ เขารีบมาดูอาการผู้ป่วยอีกครั้ง เพื่อนแพทย์ของเขาที่มาเห็นก็แปลกใจว่า วิลเลียมทำอะไรกับผู้ป่วยรายนี้ เพราะจากคนป่วยไข้รูมาติกที่แทบจะไม่อยากขยับ กลับมีอาการที่เปลี่ยนไป…

“ผู้ป่วยจู่ๆก็พูดเก่ง ร้องเล่นเพลง เจริญอาหารอีก แถมย้ำบอกว่าตัวเองกำลังจะหายป่วย”

วิลเลียม บรูก โอชอเนสซี่ เขียนในบันทึกของเขา

หลังจาก 2 ชั่วโมงที่โหวกเหวกผ่านพ้นไป ผู้ป่วยรายนี้ก็หลับสนิทโดยไม่โอดครวญอีก แต่เรื่องราวดูเหมือนจะพิลึกขึ้น เมื่อผู้ป่วยโรคไข้รูมาติกที่ปกติกล้ามเนื้อจะอยู่ในภาวะเกร็งตัว แข็งทื่อในท่าเดิมนานๆ ที่เรียกว่า catalepsy แต่หลังจากที่ให้กัญชาไป แล้วกล้ามเนื้อผู้ป่วยค่อยๆคลายตัว เคลื่อนไหวได้มากขึ้นโดยลดความเจ็บปวดตามข้อลง และกัญชาไม่มีผลกระทบทางร่างกายที่ย่ำแย่ใดๆ ต่อผู้ป่วย

วิลเลียมชื่นใจกับการทดลองครั้งแรกของเขามาก จึงทำการทดลองต่ออีก 3 วันจนผู้ป่วยรายนี้หายดีออกจากโรงพยาบาลได้ ซึ่งหลังจากนั้นวิลเลียมได้ขยายผลไปทดลองกับผู้ป่วยโรคอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ โรคอหิวาตกโรค บาดทะยัก และพิษสุนัขบ้า เขารู้ดีว่ากัญชาไม่สามารถรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยลดความกระวนกระวายลง ส่วนในผู้ป่วยอหิวาตกโรค ก็ทำให้ผู้ป่วยกินอาหารเพิ่มขึ้น ช่วยให้ร่างกายทดแทนน้ำที่สูญเสียไป จนค่อยๆ ฟื้นตัวและหายดี ซึ่งกรณีของบาดทะยักนั้นน่าสนใจตรงที่กล้ามเนื้อจะปวดและมีอาการเกร็งเป็นอย่างมาก (บางรายเกร็งจนกระดูกภายในหักไปเลยก็มี หรือหัวใจวายร่วมด้วย) กัญชาก็ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดการกระตุกเกร็งของผู้ป่วย

วิลเลียมทดลองกัญชาในฐานะยาอยู่อีกหลายปีจนเขามั่นใจแล้วว่า พืชกัญชาควรจะมาอยู่ในการพิจารณาของการแพทย์สมัยใหม่ จึงทำวิจัยและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการปี 1842 British Medical Journal หลังจากที่เขากลับมาอยู่ที่ลอนดอนแล้ว

งานวิจัยของเขาเป็นที่ฮือฮามากในหมู่แพทย์ตะวันตก มัน exotic แปลกประหลาด ศาสตร์สมุนไพรแห่งโลกตะวันออก (ช่วงนั้นคนในยุควิคเตอเรียเห่อความเป็นอินเดียและโลกตะวันออกด้วย) แพทย์หลายคนอยากศึกษากัญชาตามวิลเลียมบ้าง จึงรบเร้าเขาอยู่หลายครั้งหลายครา จนวิลเลียมต้องเดินทางกลับไปอินเดียอีกในปี 1844 คราวนี้โอ่อ่ากว่าเดิม มีเรือที่ดีกว่าเดิม และเงินทุนสนับสนุนในการทำวิจัย เนื่องจากมีแพทย์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร (Queen Victoria) ติดตามมาด้วยชื่อ ‘นายแพทย์ จอห์น รัสเซลล์ เรย์โนลด์ส’ (John Russell Reynolds) นักประสาทวิทยารุ่นบุกเบิกของลอนดอน ที่มาอินเดียเพื่อศึกษากัญชาโดยเฉพาะ และทดลองเพิ่มเติมกับโรคปวดศีรษะไมเกรน และโรคลมชัก ซึ่งก็พบว่ากัญชาช่วยลดการเกร็งของกล้ามเนื้อและลดการชักกระตุกของผู้ป่วยได้

และแล้วในปี 1850 เมื่องานวิจัยพร้อม กัญชาได้ถูกจัดให้เป็นยาในเภสัชตํารับ Pharmacopoeias ในยุโรปจนค่อยๆ แพร่หลายไปยังสหรัฐอเมริกาปี 1890 นายแพทย์ จอห์น รัสเซลล์ เรย์โนลด์ส ที่ร่วมเดินทางไปอินเดียครั้งนั้น เคยเขียนในวารสาร The Lancet ที่เป็นวารสารการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดและมีเกียรติมากหัวหนึ่งของโลก โดยระบุถึงกัญชาว่า “เป็นหนึ่งในยาที่มีคุณค่ามาก เท่าที่เราเคยทำการทดลองกันมา”

กัญชาหรือ Cannabis ถูกจัดให้เป็นยาในการแพทย์สมัยใหม่อยู่ประมาณครึ่งศตวรรษ จนกระทั่งถูกลดความสำคัญลงด้วยเหตุผลทางจริยธรรมและข้อบังคับของกฎหมายต่างๆ นาๆ จากแคมเปญปราบปรามยาเสพติด

แต่ในปัจจุบันประชาคมกลับพิจารณากัญชาอีกครั้งในฐานะยาเพื่อการบำบัด เมื่อวิทยาการแพทย์สามารถสกัดสารสำคัญด้วยกระบวนการที่แม่นยำมากขึ้น มีคุณภาพ และให้ความรู้กับผู้ป่วยในการใช้อย่างถูกต้อง

การผจญภัยในต่างแดนของ วิลเลียม บรูก โอชอเนสซี่ ได้บุกเบิกเปลี่ยนมุมมองการแพทย์ตะวันตกที่มีต่อกัญชาไปในเชิงบวก แม้จะผ่านช่วงเวลาขึ้นๆ ลงๆ ก็ตาม ซึ่งการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (UNGASS) เมื่อปี 2559 ได้เปลี่ยนมุมมองต่อปัญหายาเสพติดว่าเป็นเรื่องของสุขภาพ ระบบสาธารณสุข อาชญากรรม ต่างจากแนวทางเดิมซึ่งเน้นการปราบปรามและลงโทษในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

กระทรวงสาธารณสุขของไทยก็ประกาศจะนำกัญชามาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์อย่างเป็นทางการ โดยวางแผนจะพัฒนาแบบครบวงจร ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์-ปลูก-สกัด-ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์-ควบคุม ในช่วงแรกจะนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศ 20 สายพันธุ์ เพื่อวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ให้เข้ากับประเทศไทย และอาจส่งทีมสำรวจสายพันธุ์ไทยจากแหล่งธรรมชาติ โดยเฉพาะแถบอีสาน เช่น จังหวัดสกลนคร โดยจะนำมาทดลองปลูกบนตึกองค์การเภสัชกรรมบนถนนพระราม 6 จากนั้นจึงสกัดกัญชาแห้งมาใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันก็จะแก้กฎหมายให้วิจัยกัญชาในคนได้ ไม่ผิดกฎหมายยาเสพติด ซึ่งยาที่ผลิตได้จะนำมารักษาโรคลมชัก โรคพาร์กินสัน อาการเจ็บปวดเรื้อรังจากมะเร็งระยะสุดท้าย และจะศึกษาต่อว่า สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดอื่น อัลไซเมอร์ และออทิสติกได้หรือไม่

ในสหรัฐอเมริกา แม้รัฐบาลกลางยังไม่ได้แก้กฎหมายเพื่อเปิดช่องให้ แต่ในระดับรัฐก็มีอย่างน้อย 29 แห่ง ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาด้านการแพทย์ และมีอย่างน้อย 7 แห่งให้ใช้เพื่อความบันเทิง แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนด เช่น ผู้ซื้อต้องมีอายุมากกว่า 21 ปี ห้ามเสพในที่สาธารณะ ด้านรัฐบาลแคนาดาอยู่ระหว่างผลักดันให้การปลูกกัญชาของผู้ใหญ่เป็นเรื่องถูกกฎหมาย ส่วนรัฐบาลออสเตรเลียไฟเขียวให้ส่งออกยาที่ผลิตจากกัญชาเพื่อสร้างรายได้เข้าประเท

แต่กัญชาเองจะยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมากจากสังคม การให้ความรู้อย่างเข้าอกเข้าใจในสังคมยุคสมัยใหม่จะมอบความหมายของกัญชาอย่างไร?

Thanet Ratanakul

Thanet Ratanakul

ผู้ร่วมก่อตั้ง Baboonhub ที่สนใจอ่านงานวิจัยและอยากให้ Research Based Content เป็นที่นิยมมากขึ้น

Articles: 29